ญี่ปุ่นจับมือเยอรมัน ชู “ORiN” หวังแพร่หลายเป็นมาตรฐานสากล

อัปเดตล่าสุด 18 ม.ค. 2561
  • Share :
  • 2,326 Reads   

Japan Robot Association (JARA) และสมาคมฟรอนโฮเฟอร์ (Fraunhofer) ประเทศเยอรมนี ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีพื้นฐาน IoT สำหรับใช้ในโรงงาน เพื่อให้รองรับกับระบบโครงสร้าง “ORiN” ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นเป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อให้ทั้งฟากผู้ใช้หุ่นยนต์และผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ โดยคาดว่าจะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ให้สามารถใช้งานหุ่นยนต์จากหลากหลายยี่ห้อร่วมกันได้ง่ายมากขึ้น และคาดว่าจะได้รับความร่วมมือทางเทคโนโลยีเพิ่มในช่วงปี 2018 - 2020

โดย ORiN ถูกพัฒนาขึ้นในฐานะของมิดเดิ้ลแวร์ เพื่อใช้ในการเชื่อมต่อ FA ของผู้ผลิตต่างราย เข้ากับซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการควบคุม ออกแบบให้รองรับการใช้งานคู่กับ “OPC-UA” เทคโนโลยีรับส่งข้อมูลยุคใหม่ที่ชาติตะวันตกพัฒนาขึ้น เพื่อให้ได้มาซึ่งเทคโนโลยี IoT ที่ง่ายต่อการนำมาใช้ และรองรับเครื่องจักรได้อย่างหลากหลาย ซึ่งสมาคมฟรอนโฮเฟอร์ได้เล็งเห็นถึงข้อดีนี้ จึงร่วมเข้าพัฒนาระบบมาตรฐานเดียวกันนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2016 เป็นต้นมา

JARA มีกำหนดการเซ็นสัญญากับทางสมาคมในเดือนกุมภาพันธ์ 2018 ที่กำลังจะมาถึง เพื่อดำเนินความร่วมมือทางธุรกิจอย่างเป็นทางการ และ ORiN ได้แสดงให้เห็นถึงคุณสมบัติในการเชื่อมต่อเครื่องจักรและซอฟต์แวร์ซึ่งใช้ระบบที่แตกต่างกันให้เชื่อมต่อกันได้

ขณะนี้ Orin Forum ซึ่ง JARA ก่อตั้งขึ้นกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา “ORiN 3” ซึ่งเป็นผลจากการร่วมมือกับสมาคมฟรอนโฮเฟอร์

หากการเชื่อมโยงระบบต่างมาตรฐานกันเข้าด้วยกันได้สำเร็จ นอกจากจะอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้แล้ว ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ก็สามารถทำงานได้สะดวกมากขึ้นด้วยเช่นกัน และคาดว่าหากคุณภาพของซอฟต์แวร์สูงขึ้น ก็จะยิ่งทำให้ ORiN เป็นที่แพร่หลายยิ่งขึ้นต่อไป