มหาวิทยาลัย Toin Yokohama พัฒนาเซลล์แสงอาทิตย์ Perovskite แบบฟิล์ม ประสิทธิภาพการแปลงพลังงานสูง 18%

อัปเดตล่าสุด 1 พ.ย. 2560
  • Share :
  • 488 Reads   

ศาสตราจารย์ Tsutomu Miyasaka คณะวิศวกรรมศาสตร์การแพทย์มหาวิทยาลัย Toin Yokohama และคณะทำงานประสบความสำเร็จในการเพิ่มประสิทธิภาพการแปลงพลังงานของ “เซลล์แสงอาทิตย์ Perovskite แบบฟิล์ม” ให้สูงขึ้นไปอยู่ที่ 18% โดยเป็นเซลล์แสงอาทิตย์แบบฟิล์มที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในโลกในแบบฟิลม์หนา 126 ไมโครเมตร  สามารถคงค่าประสิทธิภาพการแปลงพลังงานและความเสถียรได้แม้ถูกโค้งงอ ซึ่งหากสามารถพัฒนาเซลล์แสงอาทิตย์ต่อจนมีราคาถูก น้ำหนักเบา และใช้งานจริงได้ ก็คาดว่าจะถูกนำไปต่อยอดใช้เป็นแหล่งพลังงานของอุปกรณ์ไร้สาย อุปกรณ์ IT สวมใส่ อุปกรณ์การแพทย์ และอื่น ๆ อีกมาก

เซลล์แสงอาทิตย์ Perovskite นั้น หมายถึง เซลล์แสงอาทิตย์ที่มีโครงสร้างผลึกแบบ Perovskite ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการผลิตต่ำ จึงคาดว่าจะถูกนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นเซลล์แสงอาทิตย์ยุคถัดไป

คณะวิจัย ได้สร้างเซลล์แสงอาทิตย์ Perovskite นี้ขึ้นด้วยการนำเลเยอร์ Perovskite ที่ได้จาก Mixed Cation ที่ประกอบด้วยสาร เช่น ซีเซียม เมทิลแอมโมเนียม และอื่นๆ มาแทนที่ฟิล์มเรซิ่นที่ใช้เป็น Hole Transporting Materials และขั้วไฟฟ้าที่ทำจากทอง มาก่อโครงสร้างผลึกที่อุณหภูมิ 120 องศา ซึ่งเซลล์แสงอาทิตย์ที่ได้นั้นจะมีน้ำหนักอยู่ที่ 250 กรัมต่อ 1 ตารางเมตรโดยไม่รวมน้ำหนักของแผงเซลล์ จากการทดลองพับและม้วน 1,000 ครั้ง พบว่า ประสิทธิภาพของเซลล์แสงอาทิตย์นั้นไม่มีการลดลงต่ำกว่า 83%

ปัจจุบัน เซลล์แสงอาทิตย์ Perovskite ที่มีประสิทธิภาพการแปลงพลังงานสูงกว่า 20% นั้นเป็นแบบใช้แผ่นกระจก ส่วนแบบฟิลม์นั้นมีค่าสูงสุดที่ 15 ถึง 16% นอกจากนี้ เซลล์พลังงานแสงอาทิตย์แบบฟิล์มที่มีประสิทธิภาพการแปลงพลังงานสูงสุด ณ ปัจจุบัน หรือ 22.1% นั้น จำเป็นต้องใช้อุณหภูมิถึง 400 องศาในการก่อโครงสร้างผลึกขึ้น

อย่างไรก็ตาม เซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ Perovskite แบบฟิล์มที่ถูกพัฒนาขึ้นในครั้งนี้สามารถก่อโครงสร้างผลึกได้ภายใต้อุณหภูมิที่ต่ำกว่า ทำให้ค่าใช้จ่ายในการผลิตลดลงมาจากเดิม