Intel พัฒนาชิปเรียนรู้ด้วยตนเองเลียนแบบสมองมนุษย์ ประหยัดพลังงานและตอบสนองด้วยตนเองได้

อัปเดตล่าสุด 1 ต.ค. 2560
  • Share :

อินเทล สหรัฐอเมริกา ประกาศการพัฒนาชิปเรียนรู้ด้วยตนเองซึ่งเลียนแบบการทำงานของสมองมนุษย์เพื่อใช้กับปัญญาประดิษฐ์(AI) เมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา บนชิปประกอบด้วยฟังก์ชั่นในการเรียนรู้และการคาดคะเนได้ ซึ่งเป็นการประมวลผลด้วยความเร็วสูง อีกทั้งยังมีจุดเด่นคือประหยัดพลังงานมากกว่า CPU และ GPU ทั่วไป ซึ่งชิปนี้สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้โดยไม่จำเป็นต้องเชื่อมต่อกับระบบคลาวด์ และสามารถตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมโดยรอบได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะสามารถนำไปใช้งานในอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และงานอุตสาหกรรมทั่วไปได้

               โดยชิปรุ่นทดลองที่มีชื่อโค๊ดว่า “Loihi” นี้ เป็น ”ชิปนิวโรมอร์ฟิก” หรือชิปที่เลียนแบบการทำงานของสมองแบบหน่วยประมวลมากมาย ซึ่งใช้ 14 nm Technology สร้างขึ้น จำลองนิวรอน (เซลล์ประสาท) 130,000 เซลล์ และไซแนปส์ 139 ล้านตัวออกมาเป็นฮาร์ดแวร์ และตั้งใจเสนอให้แก่มหาวิทยาลัยและศูนย์วิจัยด้าน AI ชั้นนำภายในต้นปี 2018 กล่าวกันว่า สมองของมนุษย์ประกอบด้วยนิวรอนล้านล้านตัว

               การที่ AI จะรับรู้สิ่งต่างๆ ได้นั้นจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลมหาศาล โดยอาศัยการเรียนรู้ของเครื่องที่มีวิวัฒนาการในรูปแบบ Deep Learning ในขณะที่ชิปนิวโรมอร์ฟิกใช้วิธีการรับข้อมูลจากรอบด้านเพื่อการเรียนรู้ และคาดว่าจะสามารถนำไปปรับใช้กับวิธีเรียนรู้ของเครื่องจักรในอนาคต ในรูปแบบ “การเรียนรู้แบบไม่มีผู้สอน” และ “การเรียนรู้แบบเสริมกำลัง” ได้

               รองประธาน Michael (Mike) C. Mayberry ดำรงตำแหน่งประธานศูนย์วิจัยอินเทล แล็บส์ อธิบายตัวอย่างการทำงานของชิปเรียนรู้ด้วยตนเองว่า ชิปจะทำการรับภาพจากกล้อง จากนั้นจึงตรวจสอบปริมาณการจราจรบนท้องถนนโดยอัตโนมัติ เพื่อปรับระยะเวลาของสัญญาณไฟจราจรเพื่อให้เกิดการแออัดน้อยที่สุด และรายงานการฝ่าฝืนกฏจราจรโดยอัตโนมัติ

               นอกจากนี้ ยังยกตัวอย่างการใช้งานอันเป็นประโยชน์อื่น ๆ เช่น การตรวจสอบชีพจรของคน เพื่อค้นหาความผิดปกติ  หรือการเรียนรู้สภาพปกติของความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้อย่างรวดเร็วหากมีการแฮ็คเข้าสู่ระบบ

Source: Nikkan Kogyo Shimbun

https://www.nikkan.co.jp/articles/view/00445056