Health Tech กับโอกาสธุรกิจบริการสุขภาพยุค 4.0

อัปเดตล่าสุด 14 ต.ค. 2560
  • Share :
  • 1,041 Reads   

ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันแทบจะทุกด้าน หนึ่งในเทคโนโลยีที่มาแรงไม่แพ้เทคโนโลยีอื่น ๆ คือ เทคโนโลยีสุขภาพหรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า “health tech” ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตแบบก้าวกระโดด สะท้อนได้จากจำนวน startup ใหม่ ๆ ที่เริ่มให้ความสนใจพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และมีเงินสนับสนุนลงทุน (funding) เติบโตต่อเนื่องถึงราว 42% ต่อปีในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา (2010-2016)

ล่าสุดในปี 2016 แตะระดับ 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยส่วนใหญ่เป็นเงินลงทุนใน startup ด้านเครื่องมือแพทย์และเทคโนโลยีพันธุกรรม เห็นได้จากการพัฒนาเครื่องมือแพทย์ใหม่ ๆ ทำให้การรักษาโรคมีความแม่นยำมากขึ้น เนื่องจากมีการวิเคราะห์ไปถึงระดับพันธุกรรมและไลฟ์สไตล์ของแต่ละบุคคล หรือมีการนำเอาหุ่นยนต์เข้ามาช่วยเสริมในการผ่าตัด ทำให้เกิดความแม่นยำ ตลอดจนการนำเอาเทคโนโลยี 3D printing มาใช้ในอุปกรณ์ฝังในร่างกาย

ไม่เพียงแต่การพัฒนาเทคโนโลยีในด้านการรักษาเท่านั้น แต่แนวโน้ม health tech ยังเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคมากขึ้น และจะเป็นหนึ่งในตัวช่วยสำคัญที่ตอบโจทย์เทรนด์ของการป้องกันโรคก่อนที่จะต้องไปรักษาในภายหลัง ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพได้มากขึ้น ตลอดจนการเชื่อมต่อไปยังผู้ให้บริการสุขภาพต่าง ๆ ได้สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

Health Tech ที่มาแรงในยุคนี้ คือ นวัตกรรมสุขภาพไร้สาย (wireless health) และอุปกรณ์สุขภาพเคลื่อนที่ (mobile health) ซึ่งมีแนวโน้มพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ จากข้อมูลของ Statista พบว่าตลาด health tech ของโลกเติบโตถึงราว 20% ต่อปี

ในช่วงปี 2015-2017 และยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง คาดว่ามูลค่าตลาดจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2020 โดยเฉพาะตลาด mobile health ที่เติบโตสูงถึงราว 42% ต่อปี

สำหรับภูมิภาคเอเชีย health tech ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น เทคโนโลยีส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ผู้บริโภค สะท้อนได้จากการที่ startup ใหม่ ๆ จะเน้นพัฒนาเครื่องมือค้นหาข้อมูลด้านสุขภาพที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถจัดการในด้านสุขภาพด้วยตัวเองได้มากขึ้น

ที่น่าจับตามองคงหนีไม่พ้นการเชื่อมต่อการแพทย์กับโลกอินเทอร์เน็ต (Internet of Medical Things : IOMT) ซึ่งสอดรับกับแนวโน้มการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของผู้บริโภคในภูมิภาคนี้ที่เติบโตแบบก้าวกระโดด ตัวอย่างของ IOMT ที่เห็นได้ชัดคือ อุปกรณ์สวมใส่ (wearable devices) ด้านสุขภาพซึ่งมีความหลากหลาย ทำงานได้ซับซ้อนมากขึ้น จากเดิมที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะคุ้นชินแค่อุปกรณ์สวมใส่ด้านการออกกำลังกาย แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ในด้านการรักษาพยาบาลมากขึ้น เช่น อุปกรณ์วัดระดับน้ำตาลในเลือดแบบสวมใส่ วัดระดับออกซิเจนในเลือด ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้สามารถช่วยให้ผู้ป่วยตรวจสอบอาการของตนเองได้ตลอดเวลา และยังส่งต่อข้อมูลไปยังแพทย์ได้โดยตรง ซึ่งจะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในยุคที่ health tech กำลังมาแรง หลายคนอาจเกิดความสงสัยว่า health tech จะส่งผลกระทบในเชิงลบต่อธุรกิจบริการสุขภาพหรือไม่ ? แนวโน้มการใช้หุ่นยนต์ผ่าตัดจะทำให้แพทย์มีงานน้อยลงหรือไม่ ? สำหรับธุรกิจบริการสุขภาพนั้น health tech น่าจะเป็นตัวช่วยที่ทำให้การรักษามีความแม่นยำมากขึ้น อีกทั้งยังสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจมากกว่าที่จะไป disrupt ธุรกิจ

คำถามที่ตามมาคือ แล้วธุรกิจบริการสุขภาพจะเตรียมปรับตัวคว้าโอกาสอย่างไร ? ตัวอย่างหนึ่งคือการใช้ health tech ในการสร้างความผูกพันกับผู้ป่วย (patient engagement) ซึ่งหมายถึงการที่ผู้ป่วยจะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและช่วยให้ผลการรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยอาจประยุกต์ใช้จากอุปกรณ์สวมใส่ด้านสุขภาพและแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้นจนสามารถเชื่อมโยงข้อมูลไปยังผู้ให้บริการด้านสุขภาพได้

ตัวอย่างเช่น “Health2Sync” ซึ่งถูกพัฒนาโดย startup ของไต้หวัน โดยสามารถเชื่อมโยงข้อมูลจากเครื่องวัดระดับน้ำตาลในเลือด ไปยังสมาร์ทโฟนของผู้ป่วย และสามารถส่งต่อข้อมูลไปยังแพทย์ได้ ทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคและหาแนวทางการรักษาได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ อีกโอกาสของผู้ให้บริการสุขภาพยังสามารถต่อยอดมาจากแอปพลิเคชั่นที่ให้ข้อมูลด้านสุขภาพ ตัวอย่างเช่น “Ping An Good Doctor” ซึ่งถูกพัฒนาโดย startup ของจีน เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถประเมินโรคเบื้องต้น และต่อยอดมาจนถึงการรับบริการในโรงพยาบาล

โดยผู้ป่วยสามารถใช้เป็นช่องทางในการปรึกษาแพทย์ได้ผ่านทางข้อความ รูปภาพ และวิดีโอ ซึ่งในไทยเองก็ได้มี startup ที่พัฒนาแอปพลิเคชั่นในลักษณะเช่นนี้แล้ว อย่างเช่น Zeek Doc นอกจากนี้ ธุรกิจบริการสุขภาพยังสามารถใช้ประโยชน์ health tech ในการวิเคราะห์ข้อมูล big data โดยอาศัยประโยชน์จากการที่มีการจัดเก็บข้อมูลการรักษาพยาบาลในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยนำเอาข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์แนวทางการรักษาและต่อยอดมาถึงการรักษาเฉพาะบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อผู้ป่วยเข้าถึงข้อมูลและเครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้ในการตรวจสุขภาพเบื้องต้นของตนเองได้แล้ว น่าจะเป็นโอกาสสำหรับผู้ให้บริการสุขภาพในการพัฒนาบริการ telehealth เพื่อช่วยเสริมบริการของโรงพยาบาลและตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดีกับสังคมผู้สูงอายุของไทย ในอนาคตที่มีแนวโน้มต้องอยู่คนเดียวและต้องการบริการในเชิงเฝ้าติดตามและป้องกันมากขึ้น ตลอดจนปัญหาความแออัดของโรงพยาบาล ซึ่งผู้ป่วยโดยเฉพาะในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่ไม่ใช่กรณีฉุกเฉินต้องไปพบแพทย์อยู่สม่ำเสมอ จะได้รับความสะดวกไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล แต่สามารถปรึกษาแพทย์ผ่านทางวิดีโออยู่ที่บ้านได้

ขณะเดียวกัน ยังอาจต่อยอดใช้ health tech รูปแบบต่าง ๆ ช่วยเสริมในการรักษา อาทิ อุปกรณ์สวมใส่ต่าง ๆ หรือแอปพลิเคชั่นเกี่ยวกับการสั่งซื้อยาที่เชื่อมโยงกับโรงพยาบาลได้โดยตรง telehealth จึงน่าจะเป็นอีกหนึ่งบริการที่มีโอกาสเติบโตสูงในอนาคต และจะเข้ามามีบทบาทช่วยเสริมให้ประสิทธิภาพการบริหารจัดการของโรงพยาบาลดีขึ้น

ท่ามกลางโอกาสยังมีความท้าทายสำหรับธุรกิจบริการสุขภาพอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นการเก็บรักษาข้อมูลผู้ป่วยทางอิเล็กทรอนิกส์ อาจมีความเสี่ยงของระบบความปลอดภัยด้านไอที รวมถึงความสามารถในการนำข้อมูลผู้ป่วยซึ่งเป็นข้อมูลลับ หรือแม้แต่การนำเอาข้อมูลสุขภาพที่กระจัดกระจายจากหลายแหล่ง ทั้งข้อมูลจากสถานพยาบาลและอุปกรณ์สวมใส่ ข้อมูลจากแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ มาใช้ในการวิเคราะห์ (big data analytic) จะเป็นความท้าทายสำคัญ ตลอดจนความเสี่ยงด้านเสถียรภาพของระบบเน็ตเวิร์กของโรงพยาบาล เนื่องจากมีอุปกรณ์เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตจำนวนมหาศาล ตั้งแต่เครื่องมือแพทย์ ข้อมูลผู้ป่วย ตลอดจนอุปกรณ์สวมใส่หรือแอปพลิเคชั่นที่ผู้ป่วยมีการใช้งาน ซึ่งผู้ให้บริการสุขภาพเหล่านี้อาจต้องลงทุนพัฒนาระบบ IT หรือเครื่องมือในการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างระบบปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) เพิ่มเติม ซึ่ง AI จะเข้ามามีบทบาทช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการวินิจฉัยโรคได้อย่างรวดเร็ว และลดขั้นตอนต่าง ๆ ในโรงพยาบาล

นอกจากนี้ ธุรกิจบริการสุขภาพยังต้องปรับตัวรับมือกับการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น โดยสร้างความแตกต่างหรืออาจต้องหาตัวช่วยในการพัฒนาเทคโนโลยี อย่างเช่น การสนับสนุน funding ให้กับ startup ด้าน health tech ใหม่ ๆ ขณะเดียวกันต้องไม่ลืมว่าการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้บริโภคยังคงเป็นปัจจัยสำคัญ เนื่องจากแนวโน้มผู้บริโภคยุค 4.0 สามารถเข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพได้มากขึ้น และมีทางเลือกหลากหลายมากขึ้นอีกด้วย

Source: ประชาชาติธุรกิจ

https://www.prachachat.net/columns/news-55065