ASEAN 2019 โอกาส-ความท้าทาย เมกะเทรนด์ “เมืองรอบนอก”
ปี 2019 อาเซียนกำลังเดินทางมาถึงทางแยกสำคัญ ด้วยสภาพแวดล้อมของประเทศสมาชิกที่เปลี่ยนแปลงไปมาก
โดยเฉพาะการขยายตัวของสังคมเมือง จากนโยบายการพัฒนาเมืองเศรษฐกิจใหม่ในแต่ละประเทศ ซึ่งเป็นเหมือนแม่เหล็กที่ดึงดูดการลงทุนของภูมิภาคนี้
เมกะเทรนด์ “เมืองรอง”
รายงานขององค์การสหประชาชาติ (UN) ระบุว่า อัตราการขยายตัวความเป็นเมืองในอาเซียนมีความโดดเด่นและมีนัยสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจนอกเหนือจากเมืองหลัก ๆ เช่น มะนิลา จาการ์ตา กรุงเทพฯ โฮจิมินห์ซิตี้ และกัวลาลัมเปอร์ โดยคาดว่าภายในปี 2025 จะมีเมืองเศรษฐกิจหลักเกิดขึ้นอีกราว 66 เมืองทั่วภูมิภาค ทำให้สัดส่วนของประชากรที่อาศัยในเมืองของอาเซียนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 53% จาก 48% ในปัจจุบัน
โดยกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) คือประเทศที่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุด
เมกะเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในอาเซียนในระยะต่อจากนี้คือรัฐบาลของทุกประเทศพยายามกระจายความเจริญไปสู่เมืองรองหรือเมืองรอบนอก เพื่อเพิ่มศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากขึ้น
ขณะที่งานวิจัยของมหาวิทยาลัยวอชิงตันระบุว่า จุดเด่นของอาเซียนยังโฟกัสไปที่ “ขนาดของประชากร” ที่รวมกันแล้วในปัจจุบันน่าจะเกือบ ๆ 700 ล้านคน หรือมากกว่า 10% ของจำนวนประชากรโลก อีกทั้งยังมีประชากรวัยหนุ่มสาวที่น่าทึ่งมากที่สุดภูมิภาคหนึ่งของโลก
ทั้งยังคาดการณ์ว่าครัวเรือนที่มีรายได้ปานกลางในอาเซียนจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 2 เท่า ใน 15 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันที่มีประมาณ 80 ล้านคน
กำลังซื้อที่สูงขึ้นส่งผลให้พฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และทำให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค เฮลท์แคร์ ธุรกิจบันเทิง การศึกษา รวมถึงการเติบโตของระบบโลจิสติกส์ ซึ่งมาพร้อมกับเทรนด์การค้าออนไลน์ หรืออีคอมเมิร์ซ ที่อาเซียนยังเป็นดาวเด่น
ชูธงเศรษฐกิจดิจิทัล
นอกจากนี้อาเซียนยังมีศักยภาพเพิ่มขึ้นที่เข้ามาจาก “เศรษฐกิจดิจิทัล” จากตัวเลขการใช้สมาร์ทโฟนที่สูงกว่า 100% ของประชากร และจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 300 ล้านคน ทั้งจากอินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, ไทยและเวียดนาม
ถือเป็นพื้นที่ตลาดเกิดใหม่ที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะกำลังซื้อจากผู้บริโภคหนุ่มสาว ทำให้เห็นภาพการเคลื่อนทัพเข้ามาลงทุนในอาเซียนของบริษัทยักษ์อีคอมเมิร์ซทั้งหลายที่หวังเข้ามาดูดกำลังซื้อของคนรุ่นใหม่ในอาเซียน
ขณะที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยกให้ “เวียดนาม” เป็นดาวเด่นของอาเซียนในการพัฒนาสู่เมืองเทคโนโลยีดิจิทัลที่รวดเร็ว เพราะรัฐบาลมีความเคลื่อนไหวมากและผลักดันนโยบายได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งการนำใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อพัฒนาระบบ e-government และในภาคการผลิต เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการกระจายสินค้า เป็นต้น
นอกจากนี้รัฐบาลเวียดนามยังชูธงเป็น “ซิลิคอนวัลเลย์” แห่งเอเชีย ที่บริษัทเทคโนโลยีต่างชาติและสตาร์ตอัพเริ่มสนใจเข้ามาลงทุนในเวียดนามมากขึ้น โดยเฉพาะ “ฮานอยและโฮจิมินห์” ปัจจัยหนุนจากอัตราค่าจ้างแรงงานต่ำ และที่สำคัญมีบุคลากรด้านไอทีรองรับ
งานวิจัยในหลายประเทศระบุว่า ปี 2018 คือปีแห่งการเปลี่ยนแปลงของอาเซียนที่เด่นชัด เป็นผลจากนโยบายของรัฐบาลที่พยายามเปลี่ยนให้ทุกอุตสาหกรรมขับเคลื่อนด้วย “เทคโนโลยีและดิจิทัล” เป็นการเสริมสร้างศักยภาพและจุดเด่นให้กับอาเซียนให้สามารถแข่งขันบนเวทีโลกได้
ยุทธศาสตร์เขตเศรษฐกิจพิเศษ
ขณะที่ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” กลายมาเป็นจุดเด่นอันดับต้น ๆ ของแทบทุกชาติอาเซียน โดยในภูมิภาคนี้มีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษรวมกันมากถึง 1,600 เขต ทั้งที่ได้เปิดให้เข้าลงทุนแล้วและที่ยังอยู่ในระหว่างศึกษาดำเนินการ
ทุก ๆ รัฐบาลอาเซียนต่างมีเป้าหมายเดียวกันก็คือการเป็นเจ้าแห่งประตูสู่ภูมิภาคและเพื่อดึงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม
เช่น ฟิลิปปินส์ ประเทศที่มีเขตเศรษฐกิจพิเศษจำนวนมากที่สุดในอาเซียนกว่า 460 แห่งทั่วประเทศ ส่วนใหญ่อยู่บนเกาะลูซอนที่ตั้งของกรุงมะนิลา ซึ่งรัฐบาลโฟกัส 3 สาขาใหญ่ ๆ ได้แก่ เทคโนโลยีสารสนเทศ, อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปด้วยเทคโนโลยีทันสมัย และการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีขั้นสูง
ส่วนเขตเศรษฐกิจพิเศษของมาเลเซียมีเพียงหนึ่งเดียวและเปิดดำเนินการมานานแล้ว นั่นคือ “เขตเศรษฐกิจพิเศษอิสกันดาร์” อยู่ในรัฐยะโฮร์ทางตอนใต้ฝั่งมาเลเซียตะวันตก แม้ว่าจะมีเขตเศรษฐกิจเพียงแห่งเดียว แต่ก็มีพื้นที่ถึง 2,217 ตารางกิโลเมตร หรือใหญ่กว่าประเทศสิงคโปร์ 3 เท่า
และด้วยจุดยุทธศาสตร์ที่เชื่อมติดกับสิงคโปร์ ทำให้นักลงทุนสิงคโปร์ย้ายฐานการผลิตเข้าไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษอิสกันดาร์จำนวนมาก เพื่อเลี่ยงค่าจ้างแรงงานในสิงคโปร์ที่สูงกว่าเป็นเท่าตัว
เขตเศรษฐกิจฯอิสกันดาร์ มุ่งเน้นดึงลงทุนที่ใช้แรงงานทักษะสูง เช่น ด้านการศึกษา สุขภาพ โลจิสติกส์ ท่องเที่ยว การแพทย์ และธุรกรรมทางการเงิน รวมถึงการแปรรูปสินค้าเกษตรด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง เป็นต้น
นอกจากนี้เขตเศรษฐกิจพิเศษของไทยก็ถูกกล่าวถึงมาก โดยเฉพาะโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่มุ่งรองรับการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง พร้อมกับการลงทุนรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา) เชื่อมการเดินทางสู่พื้นที่อีอีซี
REUTERS/Kham
อย่างไรก็ตาม เขตเศรษฐกิจพิเศษที่นักลงทุนจับตามองมากอีกแห่งก็คือ “เวียดนาม” ซึ่งมีมากถึง 338 เขต ที่มาพร้อมข้อเสนอสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เช่น การยกเว้นภาษีและการถือครองที่ดินเช่นเดียวกับหลาย ๆ ประเทศ แต่ด้วยเป้าหมายของเวียดนามที่ตั้งตนจะเป็น “ซิลิคอนวัลเลย์” ของเอเชีย ทำให้เป็นที่พูดถึงในวงกว้างสำหรับนักลงทุน
ยิ่งที่ผ่านมาเกาหลีใต้เป็นนักลงทุนอันดับหนึ่งในเวียดนาม นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า การเข้ามาของเกาหลีใต้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เวียดนามสามารถยกระดับประเทศสู่สังคมดิจิทัลได้เร็วและยกระดับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมากที่สุดในอาเซียน
บจ.อาเซียนแบก “ตัวเลขหนี้” เพิ่ม
แม้ “อาเซียน” จะเป็นตลาดเกิดใหม่ที่ยังได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่อง แต่จากการเร่งขยายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานก็ทำให้หลายประเทศต้องแบกตัวเลข “หนี้ต่างประเทศ” สูงจึงกลายเป็นภาวะเสี่ยงในช่วงทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น
รวมถึงผลกระทบจากสงครามการค้าของ “สหรัฐ-จีน” สองมหาอำนาจเศรษฐกิจโลกที่อาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกปีหน้าชะลอตัว แม้ว่าอาเซียนจะได้อานิสงส์จากที่มีผู้ผลิตทั้งจีนและสหรัฐย้ายฐานเข้ามาในภูมิภาค แต่ภาคส่งออกของอาเซียนก็เผชิญความเสี่ยงจากสงครามการค้าเช่นกัน
ศูนย์วิจัย EIC ของธนาคารไทยพาณิชย์ มองว่า เศรษฐกิจของอาเซียนโดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV ยังเติบโตได้ดี ขณะที่จีนยังคงขยายอิทธิพลใน CLMV อย่างต่อเนื่อง ผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับโครงการ BRI (Belt and Road Initiative) รวมทั้งภาคการท่องเที่ยว และการเป็นตลาดส่งออกหลักของภูมิภาค
แต่ในภาวะการเงินโลกซึ่งมีแนวโน้มตึงตัวขึ้นทำให้เศรษฐกิจ CLMV อาจมีความเสี่ยงและความเปราะบางต่อปัจจัยภายนอกมากขึ้น ซึ่งสร้างแรงกดดันให้เงินสกุลท้องถิ่นมีแนวโน้มอ่อนค่าลง และส่งผลลบต่อความสามารถในการชำระหนี้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสกุลเงินต่างประเทศ
ขณะที่ “เอสแอนด์พี โกลบอล เรทติ้งส์” บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลกของสหรัฐ รายงานว่า ปี 2018 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกือบ 2,400 บริษัท (จากอินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, ไทย และเวียดนาม) แบกภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เกือบ 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ผลจากการกู้เงินเพิ่มขึ้นเพื่อนำไปใช้ในการลงทุน ขณะที่การเติบโตของกำไรชะลอตัวลง
การแบกหนี้ในภาคธุรกิจอาเซียนเพิ่มขึ้นเกือบทุกประเทศ ยกเว้นอินโดนีเซีย ซึ่งมีอัตราการแบกหนี้ลดลงเล็กน้อยท่ามกลางผลกำไรที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมโภคภัณฑ์ ส่งผลให้สัดส่วนหนี้สินต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนแตะระดับสูงสุดในรอบหลายปี ทั้งในเวียดนาม, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์ และไทย