สวทช. หนุน Tech Startup มอบ 12 ทุนพัฒนาต้นแบบนวัตกรรม AI รองรับใช้งานจริงอุตสาหกรรมใหม่ 4.0

อัปเดตล่าสุด 30 ส.ค. 2562
  • Share :

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยงานส่งเสริมเทคโนโลยี เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค) มอบทุนสนับสนุนการพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) สู่เชิงพาณิชย์ จำนวน 12 ทุน จำนวนหนึ่งแสนบาท ให้แก่ 12 ทีม ที่เป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ ผู้ประกอบการ นักธุรกิจ นักศึกษา นักเรียน และคนรุ่นใหม่ ที่มีความรู้ความสามารถในการสร้างต้นแบบนวัตกรรม ใน “โครงการพัฒนาทักษะการสร้างนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI Innovation JumpStart)” เพื่อพัฒนาต้นแบบนวัตกรรม AI ที่พร้อมขยายผลใช้งานจริงในอนาคต สร้างโอกาสให้กลุ่มนักพัฒนาเทคโนโลยี AI ซึ่งเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง ก้าวกระโดดเข้าสู่ธุรกิจเชิงพาณิชย์ (สตาร์ตอัพ) ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าและอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ เพื่อยกระดับขีดความสามารถผู้ประกอบการไทยให้ทัดเทียมนานาประเทศ ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี 

ดร.ชยกฤต เจริญศิริวัฒน์ นักวิจัยอาวุโส สวทช. ดูแลเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค) เปิดเผยว่า สวทช. โดยงานส่งเสริมเทคโนโลยี ซอฟต์แวร์พาร์ค จัดกิจกรรม Demo Day เพื่อเปิดโอกาสให้ 12 ทีมกับ 12 ผลงานต้นแบบนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์  ใน “โครงการพัฒนาทักษะการสร้างนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI Innovation JumpStart” นำเสนอไอเดียแผนธุรกิจบนเวทีในรูปแบบพิชชิ่งให้กับนักลงทุน รวมถึงลูกค้าที่มีศักยภาพในการจัดซื้อหรือใช้เทคโนโลยี AI ด้วย ซึ่งโครงการดังกล่าวได้เริ่มตั้งแต่ปลายปี 2561 ได้รับผลตอบรับที่ดีมาก มีทีมสมัครมากถึง 36 ทีม 123 คน จากนั้นคัดเลือกทีมที่มีความพร้อมและสามารถพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมให้เหลือเพียง 12 ทีม เพื่อรับทุนสนับสนุนสร้างต้นแบบนวัตกรรม AI จำนวน 100,000 บาท พร้อมกับนำต้นแบบดังกล่าวไปให้ลูกค้าได้ทดลองใช้งาน ซึ่งโครงการใช้เวลาเพียง 5 - 6 เดือนเท่านั้นในการพัฒนาความรู้และทักษะในการสร้างต้นแบบฯ จนได้นวัตกรรม AI ที่สามารถนำไปทดลองใช้งานได้จริงกับลูกค้า นับเป็นการส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้และทักษะในการสร้างต้นแบบนวัตกรรม AI ที่สามารถใช้งานได้จริงเชิงพาณิชย์และเติบโตเป็นธุรกิจได้ในอนาคต เกิดเป็นนวัตกรรมต้นแบบเทคโนโลยี AI ที่ตอบสนองความต้องการของตลาด เกิดเป็น Tech Startup เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบาย Thailand 4.0

“ประเทศของเรากำลังก้าวกระโดดในการพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบอัตโนมัติ หรือ Automation ระบบหุ่นยนต์ หรือ Robotics และหัวใจสำคัญคือ “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ Artificial Intelligent (AI) ฉะนั้น 12 ต้นแบบนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ที่ได้นำมาเสนอครั้งนี้ พร้อมแล้วที่จะออกสู่สาธารณชน เข้าสู่เชิงพาณิชย์ รวมถึงพร้อมที่จะพัฒนาสินค้าและบริการ และนำเสนอต่อนักลงทุนและลูกค้าที่มีศักยภาพในการจัดซื้อหรือใช้เทคโนโลยี AI เพื่อยกระดับขีดความสามารถของประเทศไทย โดยเชื่อว่าทุกทีมจะใช้เทคโนโลยี AI นี้ นำพาประเทศให้ทัดเทียมนานาชาติต่อไป อีกทั้งจะได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรของซอฟต์แวร์พาร์ค ไม่ว่าจะเป็นศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี หรือโปรแกรม ITAP ของ สวทช. เป็นต้น” ดร.ชยกฤต กล่าว

ด้าน 1 ในทีมที่ได้รับทุนพัฒนาต้นแบบนวัตกรรม AI ทีม OZT Robotics กับผลงาน AI โดรนนําทางอัตโนมัติในอาคาร นายภาณิน เพียรโรจน์ Co-founder บริษัท โอแซดที โรโบติกส์ จำกัด เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการพัฒนานวัตกรรม AI นี้ว่า เกิดจากเล็งเห็นถึงปัญหาที่ว่าโดรนตอนนี้ทำงานได้แค่ในสถานที่ที่มี GPS เท่านั้น พอในสถานที่ที่ไม่มี GPS แทบจะใช้โดรนไม่ได้ เพราะโดรนยังไม่ฉลาดพอ ไม่รู้ว่าสถานที่รอบตัวมีอะไรบ้าง จึงต้องใส่ความฉลาดเข้าไปโดยใช้ AI เพื่อให้โดรนรับรู้ว่ารอบตัวมีอะไรบ้าง และสามารถสั่งการได้ทั้งในที่ที่มีและไม่มี GPS ซึ่งหลักการทำงานของโดรน AI ตัวนี้ จะคล้าย ๆ กับเวลามนุษย์เดินไปเดินมาในที่ต่าง ๆ เราจะสร้างแผนที่ 3 มิติ และระลึกว่าตัวเองอยู่ตรงไหนตลอดเวลาโดยไม่รู้ตัว เพื่อที่จะได้เดินไปไหนมาไหนได้อย่างไม่หลงทาง AI ของเราก็เช่นเดียวกัน เปรียบเสมือนการใส่สมองให้โดรน ทำให้โดรนรับรู้ว่าสถานที่ที่อยู่มีโครงสร้างอย่างไร โดยการสร้างแผนที่ 3 มิติ (3D mapping) ของสิ่งแวดล้อม และอัพเดทตำแหน่งตัวเองลงไป (Localization) ตลอดเวลา เพื่อให้โดรนสามารถนำทางตัวเองได้โดยไม่ต้องอาศัย GPS ซึ่งประโยชน์หลัก ๆ ที่ได้คือ การพลิกโฉมหรือปฏิวัติการใช้งานโดรน เพราะปกติโดรนใช้ได้แต่งานนอกอาคาร ที่แจ้ง แต่พอในอาคาร โรงงาน รวมถึงคลังสินค้า ที่ไม่มี GPS ใช้ทำอะไรไม่ได้ เทคโนโลยีของเราจะทำให้สามารถใช้งานได้ทุกที่ เปิดประตูสู่อุตสาหกรรมต่าง ๆ มากมายที่ต้องการใช้โดรน ซึ่งการพัฒนาที่เกิดขึ้นได้ส่วนหนึ่งมาจากโอกาสในการเข้าร่วมโครงการส่งเสริมเทคโนโลยีของซอฟต์แวร์พาร์ค สวทช. ทำให้ได้รับความรู้ในการทำธุรกิจ ความเข้าใจในการทำงานร่วมกับคนอื่น การนำเสนองานหรือพรีเซนต์ที่แตกต่างไปเพราะเป็นการพรีเซนต์งานเชิงธุรกิจ และที่สำคัญสุดคือ community (สมาชิกชุมชน) และ connection (ความสัมพันธ์)

ทั้งนี้ 12 ผลงานต้นแบบนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์จากทั้ง 12 ทีม ในโครงการ AI Innovation JumpStart ประกอบด้วย 1) AI AVENGERS : AI คุมคุณภาพผลิตเบาะรถยนต์ 2) Arcadia Software : AI Predictive Maintenance 3) Bluesharp : AI เครือข่ายการสื่อสาร 4) Bua Soft Development : AI ยก/วางตู้คอนเทนเนอร์ 5) Database Commerce : AI จับการล้มของผู้สูงอายุ 6) Grow Up innovation : AI หุ่นยนต์ห่อผลฝรั่ง 7) HOSPITAL-AI : AI คลังยา 8) OZT Robotics : AI โดรนนำทางอัตโนมัติ 9) SME-CI : AI Competitiveness SME 10) THAI Workforce : AI คุมคุณภาพ PBCA 11) The Brother Team : AI คัดกรองมะเร็งปากมดลูก และ 12) เจ๊าะแจ๊ะเอไอ : AI Chatbot ร้านค้าออนไลน์ ซึ่งรายสุดท้ายนี้ยังได้รับรางวัล Popular Vote ในงานพร้อมเงินรางวัลอีก 10,000 บาทด้วย