เทรนด์ “เครื่องบินไฟฟ้า” “ลดปล่อยมลพิษ-ลดต้นทุน”
ปัจจุบันภาวะโลกร้อนเป็นที่ตระหนักของหลายฝ่าย รวมถึงอุตสาหกรรมการบินที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากในแต่ละปี บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินจึงหันมาสนใจพัฒนาเครื่องบินที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น นอกจากจะช่วยลดการปล่อยมลพิษแล้ว ยังลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงด้วย
“บีบีซี” รายงานว่า งานแสดงนวัตกรรมการบินและอวกาศนานาชาติ “ปารีส แอร์โชว์” ครั้งที่ 53 ประเทศฝรั่งเศส ระหว่าง 17-23 มิ.ย. 2019 บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินจัดแสดงเครื่องบินต้นแบบ ทั้งโมเดลที่ใช้พลังงานไฟฟ้า 100% และแบบที่ใช้พลังงานไฟฟ้าผสมผสานกับเชื้อเพลิง (ไฮบริด)
“อิเวียเอชั่น” บริษัทของอิสราเอล ที่เปิดตัว “อลิซ” เครื่องบินโดยสารขนาด 9 ที่นั่ง ที่ทำการบินได้ระยะทาง 1,040 กม. ระดับความสูง 3,000 เมตร ด้วยความเร็ว 440 กม./ชม. “อลิซ” ขับเคลื่อนด้วยใบพัดส่วนหาง 1 ใบ และอีก 2 ใบในส่วนของปีกเพื่อควบคุมทิศทาง พัฒนาโดย “ซีเมนส์” บริษัทด้านวิศวกรรมพลังงานของเยอรมนี และ “แม็กนิเอ็กซ์” บริษัทวิจัยออกแบบระบบพลังงานไฟฟ้าของสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ร่วมออกแบบมอเตอร์ โดย “เคปแอร์” สายการบินของสหรัฐได้สั่งจองอลิซสำหรับให้บริการเที่ยวบินระยะสั้น คาดว่าจะขึ้นบินได้จริงในปี 2020 และมีแผนจะพัฒนาอลิซให้สามารถบินได้ไกลมากขึ้นถึง 1,500 กม.
“รอย กันซาร์สกี” ซีอีโอของแม็กนิเอ็กซ์ระบุว่า แต่ละปีมีตั๋วโดยสารเที่ยวบินระยะสั้นไม่เกิน 500 ไมล์ ถูกจำหน่ายราว 2,000 ล้านใบ ดังนั้น โอกาสทางธุรกิจสำหรับเครื่องบินไฟฟ้าในเที่ยวบินระยะสั้นและระยะกลางมีแนวโน้มที่ดี อีกทั้ง “เครื่องบินไฟฟ้า” มีค่าใช้จ่ายถูกกว่าเชื้อเพลิงมาก เทียบกับค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงของเครื่องบินเทอร์โบขนาดเล็ก “เซสน่า คาราวาน” ซึ่งอยู่ที่ราว 400 ดอลลาร์สหรัฐต่อการบิน 100 ไมล์ แต่เครื่องบินไฟฟ้าจะมีค่าใช้จ่ายเพียง 8-12 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น และมีหลายบริษัทได้เปิดตัว “เครื่องบินไฮบริด” เช่น “บีเออี 146” พัฒนาในโครงการ “อีแฟน เอ็กซ์” ด้วยความร่วมมือของโรลส์-รอยซ์, แอร์บัส และซีเมนส์ โดยใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 2 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเริ่มบินครั้งแรกในปี 2021
ส่วนบริษัท “ยูไนเต็ด เทคโนโลยีส์” ร่วมกับบริษัท “แพรตต์ แอนด์ วิตนีย์” ได้โชว์เคสเครื่องบินไฮบริดต้นแบบ “โปรเจ็กต์ 804” ที่ทดลองใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์กับระบบภายในเครื่อง โดยช่วยประหยัดเชื้อเพลิงได้ถึง 30% คาดว่าจะทดลองบินในปี 2022 ทั้งยังมีเครื่องบิน “ซูนัม แอโร” ของ “โบอิ้ง” ที่มีการใช้ใบพัดไฟฟ้าที่พัฒนาโดยบริษัทซาฟรานของฝรั่งเศส
“ยูบีเอส” ธนาคารเพื่อการลงทุนระหว่างประเทศของสวิตเซอร์แลนด์ คาดว่าอุตสาหกรรมการบินจะเปลี่ยนไปใช้เครื่องแบบไฮบริดและเครื่องบินไฟฟ้าทั้งลำในเที่ยวบินท้องถิ่นมากขึ้น โดยดีมานด์ของเครื่องบินไฮบริดจะมากถึง 550 ลำ ระหว่างปี 2028-2040 แต่ “เที่ยวบินระยะไกล” ยังเป็นไปได้ยาก แม้ว่ามอเตอร์ไฟฟ้า เครื่องกำเนิดไฟฟ้า ระบบกระจายพลังงานไฟฟ้า และระบบควบคุมจะพัฒนาอย่างรวดเร็ว แต่เทคโนโลยีแบตเตอรี่ยังไม่สามารถพัฒนาให้ใช้ได้นานเพียงพอ
“กราเซีย วิตตาดินี” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของแอร์บัสระบุว่า เทคโนโลยีแบตเตอรีในปัจจุบันที่ใช้กับเครื่องบินไฟฟ้าสามารถรองรับระยะทางการบินได้เพียงครึ่งหนึ่งของระยะทางที่เครื่องบินแอร์บัส เอ 320 ทำได้ราว 5,400 กม.เท่านั้น ปัญหาใหญ่คือ 80% ของการปล่อยมลพิษโดยการบินมาจากเที่ยวบินระยะไกลมากกว่า 1,500 กม.ขึ้นไปหลายประเทศหันมาให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยมลพิษของสายการบินมากขึ้น อย่าง “นอร์เวย์และสวีเดน” ตั้งเป้าว่าจะใช้เครื่องบินไฟฟ้าในเที่ยวการบินระยะสั้นภายในน่านฟ้าของตนทั้งหมดภายในปี 2040
สหราชอาณาจักรเป็นประเทศแรกที่ตั้งเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้เป็น “ศูนย์” ภายในปี 2050 ทำให้ภาคธุรกิจการบินเริ่มปรับตัว เช่น “อีซีเจ็ต” สายการบินของอังกฤษได้ร่วมมือกับบริษัทไรต์อิเล็กทริกจะเริ่มให้บริการเครื่องบินไฟฟ้าในเที่ยวบินระยะสั้น “เส้นทางลอนดอน-อัมสเตอร์ดัม” ภายในปี 2027
“โจฮัน ลันด์เกรน” หัวหน้าผู้บริหารของอีซีเจ็ตระบุว่า “ขณะนี้เราสามารถมองเห็นอนาคตของการบินที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเชื้อเพลิงฟอสซิลอีกต่อไป” “เครื่องบินไฟฟ้า”
นับเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของธุรกิจการบินที่ใช้เชื้อเพลิงมาอย่างยาวนาน เป็นการหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อม ทั้งประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งในอนาคตหากมีการพัฒนาระบบจัดเก็บพลังงานไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ เราอาจได้เห็นเครื่องบินไฟฟ้าที่สามารถบินข้ามโลกเป็นเรื่องปกติก็เป็นได้