HARP เทคโนโลยี 3D Printer เพื่ออุตสาหกรรมการผลิต
ในช่วงไม่กี่ปีให้หลังมานี้ 3D Printer ได้รับความสนใจมากขึ้น ทั้งจากคุณสมบัติการผลิตชิ้นงานด้วยวัสดุอื่นนอกจากพลาสติก เช่น โลหะ และเซรามิก รวมไปถึงไม้ หรือกระทั่งอาหาร นำมาซึ่งแนวโน้มว่าเทคโนโลยนีนี้จะแพร่หลายมากขึ้นในอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิต อย่างไรก็ตาม ด้วยปัญหาทางเทคโนโลยี เช่น รูปแบบการผลิตด้วยการพิมพ์ทีละชั้น ทำให้มีผู้แสดงความเห็นว่า อาจไม่เหมาะแก่การผลิตชิ้นงานที่ต้องการความคงทน หรือไม่คุ้มค่าแก่การลงทุน
เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม Northwestern University มหาวิทยาลัยจากสหรัฐอเมริกา เปิดตัว HARP (high-area rapid printing) เทคโนโลยี 3D Printing ความเร็วสูง ซึ่งมีค่า Throughput ทำลายสถิติได้สำเร็จ โดย HARP เครื่องต้นแบบ มีความสูง 13 ฟุต ฐานพิมพ์ขนาด 2.5 ตารางเมตร รองรับการพิมพ์ด้วยวัสดุแข็ง, วัสดุยืดหยุ่น, เซรามิค, และสามารถพิมพ์ชิ้นงานขนาดใหญ่ หรือชิ้นงานขนาดเล็กพร้อมกันหลายชิ้นได้
Photo: Northwestern University
HARP เป็นเครื่องพิมพ์แบบ Stereolithography ซึ่งใช้การฉายแสง UV เพื่อเปลี่ยนวัสดุเหลวเป็นของแข็ง ทำให้ชิ้นงานที่ได้มีความคงทนเทียบเท่าชิ้นงานที่ผ่านการเคลือบแข็งแล้ว ซึ่งคาดการณ์ว่า ชิ้นส่วนที่ผลิตจากเทคโนโลยีนี้ จะมีความคงทนเพียงพอต่อการใช้งานในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอากาศยาน
Photo: Northwestern University
Mr. Chad A. Mirkin หัวหน้าคณะวิจัย ชี้แจงว่า “3D Printing เป็นแนวคิดที่มีศักยภาพ แต่สามารถนำมาใช้งานจริงได้ยาก อย่างไรก็ตาม หาก 3D Printer สามารถพิมพ์ชิ้นงานได้หลายชิ้นพร้อมกัน และไม่มีข้อจำกัดด้านวัสดุแล้ว อุตสาหกรรมการผลิตก็จะเปลี่ยนไปโดนสิ้นเชิง”
คณะวิจัยแสดงความเห็นว่า ปัจจุบัน การผลิตในหลายภาคส่วนจำเป็นต้องใช้แม่พิมพ์ ซึ่งมักมีราคาแพง และใช้พื้นที่ในการจัดเก็บ จำเป็นต้องใช้เวลาในการออกแบบแม่พิมพ์ใหม่ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงชิ้นงาน ซึ่งคณะวิจัยเชื่อว่า 3D Printer ที่รองรับชิ้นงานขนาดใหญ่ หรือการผลิตชิ้นงานหลายชิ้นพร้อมกัน จะเข้ามาแก้ปัญหาด้านพื้นที่การจัดเก็บ ลดความต้องการสต็อกชิ้นส่วน พร้อมคาดการณ์ว่า เทคโนโลยี HARP จะเข้าสู่ตลาดได้ภายใน 18 เดือนนับจากนี้