วิศวะฯ ธรรมศาสตร์ ผุดไอเดียล้ำรับมืออนาคต เปิดตัวคอนกรีตจากขยะอิเล็กทรอนิกส์

อัปเดตล่าสุด 17 ก.พ. 2562
  • Share :

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Thammasart School of Engineering : TSE) เปิดตัวคอนกรีตจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ ดีไชน์รูปทรงได้หลากหลายฟังก์ชั่น น้ำหนักเบา กันความร้อนได้ดี เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อตอบโจทย์เทรนด์การออกแบบที่อยู่อาศัยยุคใหม่ ตลอดจนสามารถแก้ปัญหาขยะจากเครื่องใช้ไฟฟ้าล้นเมืองกว่า 400,000 ตันต่อปี  
 
โดยนวัตกรรมดังกล่าวยังช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองการผลิตจากแบบเดิม ที่ต้องระเบิดภูเขาหินปูน ซึ่งส่งผล กระทบต่อสิ่งแวดล้อม
 
รองศาสตราจารย์ ดร.บุรฉัตร ฉัตรวีระ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา   คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) กล่าวว่า คณะฯได้พัฒนา นวัตกรรม “คอนกรีตจากขยะอิเล็กทรอนิกส์”  เกิดจากการนำ องค์ประกอบของขยะเหลือใช้ อาทิ แผงวงจรไฟฟ้าในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่มีองค์ประกอบของ ทองแดง  เงิน ดีบุก ตะกั่ว เหล็ก  ไฟเบอร์กลาส และพลาสติก มาเข้าสู่กระบวนการบดย่อยซากเป็นผงลามิเนต ซึ่งสามารถนำมาผสมกับปูนซีเมนต์ในสัดส่วน  1:1 แล้วขึ้นรูปเป็นคอนกรีตตามขนาดที่ต้องการ ทำให้ได้วัสดุที่มีน้ำหนักเบา มีคุณสมบัติกันความร้อนได้ดี โดยคอนกรีตดังกล่าวสามารถนำมาออกแบบรูปทรงได้หลากหลาย  ตั้งแต่วัสดุก่อสร้าง เช่น บล็อกผนัง บล็อกทางเดิน เซรามิก แผ่นพื้น ไปจนถึงวัสดุตกแต่งบ้านเพื่อความสวยงาม เช่น โต๊ะ เก้าอี้ โคมไฟ แจกัน  เป็นต้น
 
ปัจจุบัน TSE เตรียมต่อยอดงานวิจัยชิ้นนี้ สู่การนำไปใช้งานจริงในเชิงพาณิชย์ ซึ่งตอนนี้อยู่ในระหว่างการพัฒนากระบวนการผลิตให้มีต้นทุนที่ต่ำกว่า หรือใกล้เคียงกับราคาอิฐมวลเบาที่มีขายอยู่ในท้องตลาด เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับผู้บริโภค โดยคาดหวังให้นวัตกรรมนี้ช่วยพลิกโฉมขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยที่มีปริมาณมากถึง 400,000 ตันต่อปี ซึ่งเป็นวัสดุที่มีอายุการใช้งานจำกัด เมื่อพังแล้วต้องทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ ให้นำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีการนำวัสดุดังกล่าวไปใช้ในเชิงพาณิชย์ และยังใช้วิธีการกำจัดด้วยวิธีฝังกลบ หรือถูกนำไปทิ้งกองไว้ ส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนในรอบบริเวณโดยรอบ 
 
ทั้งนี้ จากปัญหามลพิษจากอุตสาหกรรมการก่อสร้างในปัจจุบัน ทำให้หลายประเทศมุ่งคิดค้นวัสดุที่ช่วยลดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม โดยนวัตกรรม “คอนกรีตจากขยะอิเล็กทรอนิกส์” สามารถพลิกโฉมแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์เหลือทิ้งจำนวนมากจากภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม มาใช้เป็นส่วนผสมของคอนกรีตรูปแบบใหม่ ที่จะสามารถช่วยลดสัดส่วนของปูนซีเมนต์ที่ได้จากการระเบิดภูเขาหินปูน ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาฝุ่นละออง ทำลายระบบนิเวศ นวัตกรรมนี้สามารถตอบโจทย์เทรนด์การออกแบบที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน และยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.บุรฉัตร กล่าว