หุ่นยนต์อุตสาหกรรม 2020 ต้องฉลาด-เฟรนด์ลี่-ดิจิทัลได้

อัปเดตล่าสุด 6 มี.ค. 2563
  • Share :

รายงานจาก International Federation of Robotics (IFR) เปิดเผย 3 คุณลักษณะสำคัญของเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่จะตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมในปี 2020 ต้องฉลาด-เฟรนด์ลี่-ดิจิทัลได้ โดยเทคโนโลยีที่มีความยืดหยุ่น รองรับการผลิตชิ้นงานหลายรูปแบบ จะมีความสำคัญมากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการเติบโตของเทคโนโลยีใหม่ และสภาพแวดล้อมในตลาดที่เปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และได้คาดการณ์ว่า ในช่วงปี 2020 - 2022 จำนวนการติดตั้งหุ่นยนต์อุตสาหกรรม (Industrial Robot) ทั่วโลกจะอยู่ที่ 2 ล้านเครื่อง

Dr. Susanne Bieller เลขาธิการ IFR แสดงความเห็นว่า หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่ฉลาดขึ้น คือกุญแจสำคัญในการตอบรับความต้องการสินค้าที่หลากหลาย และแนวโน้มของผู้บริโภค ซึ่งหลังจากนี้ เทคโนโลยีที่มีความยืดหยุ่น รองรับการผลิตชิ้นงานหลายรูปแบบ จะมีความสำคัญมากขึ้น โดย 3 คุณลักษณะสำคัญของหุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่จะมาแรงในปี 2020 มีดังนี้

ฉลาดขึ้น
ปัจจุบัน การติดตั้ง และใช้งานหุ่นยนต์อุตสาหกรรมทำได้ง่ายขึ้นกว่าที่ผ่านมา โดยเฉพาะการนำระบบเซนเซอร์แบบดิจิทัล และซอฟต์แวร์เข้ามารวมไว้ ให้ผู้ใช้สามารถสอนงานหุ่นยนต์ในรูปแบบที่เรียกว่า “Programming by Demonstration” ซึ่งผู้ใช้สามารถควบคุมหุ่นยนต์ให้เคลื่อนไหวตามความต้องการ จากนั้นโปรแกรมจะเปลี่ยนความเคลื่อนไหวนี้ เป็นข้อมูลสำหรับให้หุ่นยนต์ทำตามได้ต่อไป ซึ่งในอนาคต หุ่นยนต์จะสามารถเรียนรู้การทำงานผ่านการลองผิดลองถูก หรือผ่านคลิปวีดิโอ และปรับปรุงการเคลื่อนไหวได้ด้วยตัวเอง

ทำงานร่วมกับมนุษย์
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หุ่นยนต์ที่สามารถทำงานร่วมกัยมนุษย์ได้อย่างปลอดภัย หรือ Collaborative Robot (Cobot) นั้น เป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากสามารถทำงานได้ในสภาพแวดล้อมที่มีข้อจำกัดสูงกว่า ผู้ผลิตหุ่นยนต์จึงให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีในการนำไปใช้รูปแบบอื่น ๆ โดยปัจจุบัน โคบอทมักถูกใช้งานคู่กับมนุษย์ในสถานที่เดียวกัน อย่างไรก็ตาม การจะให้โคบอท “ช่วย” ประกอบงานชิ้นเดียวกันกับที่พนักงานกำลังประกอบอยู่ยังคงเป็นเรื่องท้าทาย ซึ่งผู้ผลิตหุ่นยนต์หลายรายอยู่ระหว่างการพัฒนาโคบอทให้สามารถตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงได้แบบเรียลไทม์เหมือนกับเป็นพนักงานอีกคนในสายการผลิต แนวโน้มการพัฒนาโคบอทจึงมุ่งไปที่การตอบสนอง เช่น ฟังคำสั่งเสียง หรือการแสดงท่าทางของพนักงาน แล้วเปลี่ยนรูปแบบการทำงานได้ด้วยตนเอง และเป็นหุ่นยนต์ ที่มีแนวโน้มเติบโตในธุรกิจทุกขนาด ทุกเซกเตอร์

ดิจิทัล
หุ่นยนต์อุตสาหกรรม คือองค์ประกอบหลักของอุตสาหกรรม 4.0 ทำให้คุณสมบัติในการเชื่อมต่อกลายเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ส่งผลให้เกิดความพยายามพัฒนารูปแบบการเชื่อมต่อระหว่างแบรนด์ที่เป็นมาตรฐาน เช่น umati จากประเทศเยอรมนี, “OPC Robotics Companion Specification” ภายใต้ความร่วมมือของ VDMA และ Open Platform Communications Foundation, และอื่น ๆ เพื่อให้หุ่นยนต์สามารถเชื่อมเข้ากับ IIoT และระบบคลาวด์ กำเนิดเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ในอนาคต เช่น Robots-as-a-Service (RaaS) บริการให้เช่าหุ่นยนต์อุตสาหกรรมสำหรับ SME ซึ่งมีข้อดีคือราคาถูกกว่าการซื้อมาติดตั้งเอง หรือหุ่นยนต์ที่ใช้งานง่ายขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานมากฝีมือ

อ่านต่อ
อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ปี 2020 ตลาดโตแค่ไหน