กระบวนการผลิตเปลี่ยนไป การทำงานต้องเปลี่ยนตาม

อัปเดตล่าสุด 27 ส.ค. 2562
  • Share :
  • 543 Reads   

ความก้าวหน้าของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) และกระบวนการทำงานแบบอัตโนมัติด้วยหุ่นยนต์และซอฟต์แวร์ (Robotic Process Automation: RPA) กระตุ้นให้ระบบอัตโนมัติถูกใช้งานแพร่หลายมากขึ้นในหลายอุตสาหกรรม และถูกคาดหวังว่าจะเป็นทางออกของปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และการเพิ่มผลผลิตในอนาคต โดยเฉพาะกับชาติที่กำลังผลิตภายในประเทศต่ำ และเป็นทางออกสำหรับรัฐบาลที่ต้องการผลักดันให้ประเทศก้าวพ้นกับดักรายได้ ด้วยการใช้ระบบอัตโนมัติมาแทนที่ และให้มนุษย์ย้ายไปทำงานที่เหมาะสมกว่าแทน

ระบบอัตโนมัติ คือสิ่งสำคัญในการพัฒนาธุรกิจ

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง โดยปัจจุบัน จำนวนประชากรวัยทำงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตของญี่ปุ่น ลดลงจากช่วงปี 1990 ถึง 10 ล้านคน กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันกับต่างชาติเป็นอย่างมาก อีกทั้งเมื่อเทียบกับประเทศอื่น พบว่าญี่ปุ่นมีกำลังผลิตต่ำ โดยจาก 36 ประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) ญี่ปุ่นมีผลิตภาพแรงงาน (Labour Productivity) อยู่ในลำดับที่ 21 และหากนับเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตจะอยู่ในลำดับที่ 15 เท่านั้น ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารแห่งหนึ่ง แสดงความเห็นว่า “เป็นเพราะญี่ปุ่นล่าช้าในการนำเทคโนโลยี IT มาใช้ในภาคการผลิต”

ด้วยเหตุนี้เอง หลายธุรกิจจึงเร่งนำเทคโนโลยี AI และอื่น ๆ ตามหลักคิด Industry 4.0 มาใช้ เพื่อมุ่งแก้ปัญหาภายในบริษัทตน พร้อมกับการเติบโตของ RPA ในภาคการเงิน และอุตสาหกรรม IT อย่างก้าวกระโดด โดยส่วนใหญ่ถูกนำมาใช้เพื่อลดภาระของพนักงาน ส่วนในภาคอุตสาหกรรมการผลิตนั้น ผู้ผลิต Machine Tools รายใหญ่หลายเจ้า ต่างเร่งพัฒนาแพล็ตฟอร์มที่เป็นมาตรฐาน เพื่อให้การแบ่งปันข้อมูลในการผลิตทำได้โดยง่าย ซึ่งผู้บริหารกระทรวงเศรษฐกิจการค้า และอุตสาหกรรม ได้แสดงความเห็นว่า “สิ่งสำคัญในการพัฒนาธุรกิจ คือการพัฒนาสภาพแวดล้อมในการทำงานด้วยระบบอัตโนมัติ”

เพราะเครื่องจักรไม่มีความคิดสร้างสรรค์

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง ที่หลายฝ่ายมีความเห็นว่า AI และหุ่นยนต์ จะเข้ามาแย่งงานของมนุษย์ ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่น ได้แสดงความเห็นในกรณีนี้ว่า เทคโนโลยีจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นจริง ดังนั้นการพัฒนาทักษะในการทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในด้านความคิดสร้างสรรค์ และทักษะที่ไม่สามารถใช้เครื่องจักรแทนที่ได้จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งในเบื้องต้น รัฐบาลได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหานี้ ด้วยการออกนโยบายลดหย่อนภาษีให้กับบริษัทที่มีการลงทุนพัฒนาบุคลากร

นอกจากนี้ การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนทักษะในตลาดแรงงานก็มีความจำเป็นจะต้องปรับแนวคิดเสียใหม่ โดยรัฐบาลญี่ปุ่น แสดงความเห็นวัฒนธรรมการจ้างงานตลอดชีวิต ส่งผลให้ไม่เกิดการหมุนเวียนของบุคลากรที่มีคุณภาพ การสร้างโอกาสในธุรกิจรายย่อย บริษัทสตาร์ทอัพ และการส่งเสริมโมเดลการทำงาน ให้สามารถนำทักษะจากอาชีพหนึ่ง ไปใช้ในการทำงานอีกอาชีพหนึ่งจึงเป็นแนวทางที่อาจแก้ไขปัญหานี้ได้ ซึ่งในเบื้องต้นรัฐบาลญี่ปุ่นกำลังอยู่ระหว่างวางแผนสนับสนุนอาชีพพาร์ทไทม์ และอาชีพเสริม ให้เป็นวาระสำคัญในปีงบประมาณนี้ 

หากระบบอัตโนมัติก้าวหน้าขึ้นอีก ในท้ายสุดจะไม่เพียงแต่ญี่ปุ่นเท่านั้น แต่จะเป็นอุตสาหกรรมทั้งหมด ด้วยเหตุนี้ ทักษะที่คาดว่าจะกลายเป็นหนึ่งในทักษะสำคัญคือการออกแบบ, ทักษะด้าน IT, และการทำงานกับเครื่องจักรนั่นเอง