Semi Tesla รถบรรทุกไฟฟ้าจากเทสล่า 2,000 คัน ลงสนามโลจิสติกส์ปี 2019
การประกาศสร้าง Semi Tesla หรือ รถบรรทุกไฟฟ้า โดยบริษัทผู้ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้ารายใหญ่ของสหรัฐอเมริกาอย่างเทสล่า (Tesla) เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2017 โดยวางแผนที่จะผลิตและพร้อมจำหน่ายภายในปี 2019 นับกว่าเป็นก้าวสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่ทั่วโลกต่างจับตามอง
หลังจากแถลงการณ์สร้าง Semi Tesla ออกมา คำสั่งซื้อล่วงหน้าในไตรมาสแรก ปี 2018 ก็ทยอยเข้ามากว่า 2,000 คัน และเมื่อ อีลอน มัสก์ CEO ของบริษัทเทสล่า ได้ออกมาประกาศราคาขายอย่างเป็นทางการของเจ้ารถบรรทุกพลังงานไฟฟ้าคันนี้ ด้วยราคาเริ่มต้นเพียง 150,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4,923,000 บาท) สำหรับรุ่นระยะทาง 300 ไมล์ (483 กิโลเมตร) และ 180,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 5,907,600 บาท) สำหรับรุ่นที่สามารถใช้งานได้ 500 ไมล์ (805 กิโลเมตร) ต่อการชาร์จไฟ 1 ครั้ง ซึ่งราคาที่ประกาศออกไปนั้นต่ำกว่าการประเมินจากทาง MIT Technology Review อย่างมาก จึงทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง PepsiCo, FedEx, United Parcel Service, Bee'ah, Loblaw Companies, DHL Supply Chain, Anheuser-Busch, และ Sysco ต่างสั่งซื้อเจ้า Semi Tesla คันนี้เพื่อนำไปใช้ในงานด้านโลจิสติกส์
Tesla Semi เป็นรถบรรทุกกึ่งพ่วง ถูกออกแบบมาให้มีรูปร่างคล้ายกระสุนปืน ที่ทีมการตลาดของ Tesla ได้นิยามรถบรรทุกคันนี้ไว้ว่า "เป็นรถบรรทุกที่ปลอดภัยและสะดวกสบายที่สุดเท่าที่เคยมีมา"
คุณสมบัติที่น่าสนใจของ Tesla Semi
- อัตราการเร่ง 0-60 ไมล์ต่อชั่วโมงกับน้ำหนัก 80 ปอนด์ (ประมาณ 36 ตัน) ภายใน 20 วินาทีระบบส่งกำลัง
- วิ่งได้ที่ความเร็ว 60 ไมล์ต่อชั่วโมง สำหรับเส้นทางที่มีความลาดเอียง 5%
- ด้วยมอเตอร์ 4 ตัวบนเพลาล้อหลัง ที่ทำให้มีกำลังเร่งสูงสุด ด้วยค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่ต่ำสุด
- อัตราการใช้พลังงาน 2 กิโลวัตต์ชั่วโมง / ไมล์
- ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้าประหยัดได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของเครื่องยนต์ดีเซล
- ระบบ Autopilot ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อลดความเสี่ยงจากการชน
- ศูนย์แรงโน้มถ่วงต่ำ ช่วยปกป้องยานพาหนะและลดจากความเสี่ยงจากรถคว่ำ
- กระจกกันกระแทกอย่างดีรอบด้าน
ภายในรถบรรทุกไฟฟ้าคันนี้ ถูกออกแบบมาให้มีความกว้างขวางมากพอที่จะให้คนขับหรือผู้โดยสารยืนได้ในความสูงที่ 6 ฟุต โดยที่หัวยังไม่ติดเพดานรถ อีกทั้งตำแหน่งของคนขับรถถูกตั้งไว้อยู่ศูนย์กลางระหว่างจอควบคุมแบบสัมผัส 2 ด้าน ที่คอนโซลหน้ารถ ซึ่งเป็นความแปลกใหม่ในดีไซน์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
จากคุณสมบัติดังกล่าว คาดว่า Semi Tesla จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้รถบรรทุกไฟฟ้าสามารถเข้าสู่ตลาดการขนส่งที่กว้างขึ้น ช่วยลดมลพิษในสภาพแวดล้อม และสามารถประหยัดต้นทุนพลังงานกว่า 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ จากการใช้พลังงานด้วยแบตเตอรี่ของรถ จึงทำให้มีระยะเวลาคืนทุนได้ภายในสองปี
สถานีชาร์จ Megachargers สำหรับการบูธพลังงานความเร็วสูง
นอกจากการเปิดตัวรถบรรทุกไฟฟ้าที่สามารถวิ่งได้ถึง 800 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้งแล้วนั้น Elon Musk ได้มีการเปิดตัวสถานีชาร์จ Megachargers ที่สามารถเติมพลังได้มากกว่าสถานีชาร์จทั่วไปถึง 10 เท่า โดยการชาร์จพลังงานต่อได้ในระยะ 400 ไมล์ ใช้เวลาชาร์จ 30 นาที ซึ่งถูกสร้างขึ้นมาเพื่อที่จะสนับสนุนการทำงานของรถบรรทุกไฟฟ้าให้เกิดความคล่องตัวในะบบขนส่ง เนื่องจากรถบรรทุกไฟฟ้ามีแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ และเดินทางไปทั่วโลกในขณะที่มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถพักชาร์จไฟได้นาน ส่วนเรื่องสถานที่ตั้งของสถานีชาร์จนั้น Tesla ไม่ได้เผยอย่างชัดเจนว่ามีแผนจะสร้าง Megachargers ที่ไหนบ้าง แต่สถานีชาร์จนี้อาจจะตั้งอยู่ตามเส้นทางการขนส่งที่สำคัญที่จะเอื้อประโยชน์แก่ผู้ใช้งานอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ Tesla มีการรับประกันได้ว่าอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับการชาร์จที่สถานี Megachargers นี้ จะอยู่ที่ประมาณ 7 เซนต์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมงเท่านั้น เนื่องจากมีการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์และชุดแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ที่สถานีชาร์จ ทำให้สามารถให้บริการได้ในราคาที่ถูกลง และจะส่งผลให้เกิดการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงได้มากกว่า 30,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี