3 มุมคิด “ผู้นำโลกยุคใหม่” “เราต้องสอนสิ่งที่ AI ทำไม่ได้”

อัปเดตล่าสุด 14 ส.ค. 2561
  • Share :

กล่าวกันว่าผู้ที่ประสบความสำเร็จในวงการธุรกิจย่อมเป็นบุคคลที่คนส่วนใหญ่จับตามอง และให้ความสนใจในความคิดของพวกเขา เพื่อนำมาเป็นแบบอย่างในการพัฒนาสิ่งต่าง ๆ

โดยสิ่งหนึ่งที่สังเกตได้จากความคิดของคนที่ประสบความสำเร็จของหลาย ๆ คน คือ พวกเขามักให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษา ไม่ว่าจะเป็น “แจ็ก หม่า” ผู้ก่อตั้ง และประธานบริหารของกลุ่มอาลีบาบา (Alibaba Group Holding Lim-ited) ที่ถือเป็นผู้ให้ความใส่ใจกับโลกของการศึกษาอย่างยิ่ง ทั้งนั้นเพราะในอดีตเขาเคยเป็นครูมาก่อน

“อีลอน มัสก์” นักธุรกิจและนักประดิษฐ์ ผู้ก่อตั้ง และผู้บริหารของบริษัท สเปซเอ็กซ์ (Space Exploration Technologies Corporation-SpaceX) และยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง และสถาปนิกผลิตภัณฑ์ของเทสล่ามอเตอร์ส (Tesla Motors, Inc.)

และ “มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก” ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก (Facebook) เครือข่ายสังคมออนไลน์ขนาดใหญ่สุดของโลก ซึ่งทั้ง 3 คนนี้ถือเป็นผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดของโลก เพราะไม่ว่าเขาจะทำอะไร ? พูดอะไร ? หรือคิดอะไรต่าง ๆ ออกมา จะมีคนจับตามองเขาอย่างมาก

ตรงนี้จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ “ประชาชาติธุรกิจ” ถอดรหัสความคิดของเขา โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับโลกการศึกษา ลองมาดูว่าเราสามารถเรียนรู้อะไรจากพวกเขาได้บ้าง ?

 

“แจ็ก หม่า” ย้ำเปลี่ยนวิธีเรียน

ตามการวิเคราะห์ของแมคคินซีย์แอนด์คอมปะนี (McKinsey & Company) บริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารชั้นนำของโลก ทั้งยังรับผิดชอบงานด้านการวิจัยด้านเศรษฐกิจ สังคม และภูมิศาสตร์การเมือง บอกไว้ว่า กว่า 30% ของงานในปัจจุบันสามารถถูกแทนที่ได้ด้วยระบบอัตโนมัติภายในปี 2030 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อแรงงานถึง 800 ล้านคนทั่วโลก

อันไปสอดรับกับความคิดของ “แจ็ก หม่า” ที่แสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ในการประชุม World Economic Forum 2018 เมืองดาโวส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ว่า เราไม่ควรกลัวการถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ แต่ควรหันมาเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น โดยเริ่มจากการศึกษา ถึงแม้ระบบอัตโนมัติทำลายงานจำนวนมากที่เคยทำด้วยคน แต่แน่นอนว่าก็สร้างงานใหม่ ๆ ขึ้นมาด้วยเช่นกัน

คำถามคือนักเรียนของเรามีคุณสมบัติเพียงพอสำหรับงานในอนาคตหรือไม่ ?

“ระบบการศึกษาจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง เพราะรูปแบบที่โรงเรียนในปัจจุบันใช้สอนอยู่ตอนนี้เป็นระบบฐานความรู้ (knowledge-based) ที่เราใช้กันมาตั้งแต่ 200 ปีที่แล้ว ซึ่งการสอนแบบนี้จะทำให้เด็กของเราสูญเสียงานในอีก 30 ปีข้างหน้า เพราะเราเน้นเรื่องการคำนวณ ซึ่งเป็นสิ่งที่เครื่องจักรทำได้ดีกว่า ซึ่งเราไม่มีทางสอนเด็กให้แข่งกับเครื่องจักรได้เลย”

“ดังนั้น สิ่งที่เราควรสอนเด็ก ๆ คือ กีฬา, ดนตรี และศิลปะ เพราะทุกสิ่งที่เราสอนควรต่างจากสิ่งที่เราป้อนให้เครื่องจักรรับรู้ เราต้องสอนเด็กในเรื่องคุณค่า และทักษะที่ไม่มีเครื่องจักรไหนทำได้ เช่น ความคิดที่เป็นอิสระ ทีมเวิร์ก และการใส่ใจผู้อื่น สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงทำให้เด็กฉลาด แต่ยังทำให้พวกเขามีส่วนที่มีคุณค่าต่อสังคมในแบบที่เครื่องจักรแทนที่ไม่ได้”

โรงเรียนฉบับ “อีลอน มัสก์”

ผมคิดว่าเป็นเรื่องยากที่เราจะจัดระบบการศึกษาที่เหมาะสมกับคนล้านคน เพราะคนแต่ละคนไม่ได้มีรูปแบบเดียวกัน ดังนั้น เราควรจะหันมาใส่ใจการศึกษาที่เหมาะกับแต่ละบุคคล โดยส่งเสริมจุดแข็งของแต่ละคน และช่วยให้จุดแข็งเหล่านั้นมีประโยชน์ต่อสังคมมากขึ้น”

ข้อความข้างต้นเป็นความคิดของ “อีลอน มัสก์” ในเรื่องการศึกษา ทั้งยังเป็นแรงผลักดันให้เขาสร้างโรงเรียนเล็ก ๆ ในแบบของเขาเองขึ้นมาในปี 2014 ชื่อว่า Ad Astra ซึ่งหมายถึง ดวงดาว ในภาษาละติน

ช่วงเริ่มแรกโรงเรียนแห่งนี้มีฐานอยู่ในห้องประชุม 1 ห้องของบริษัท SpaceX ที่ผนังรอบห้องเป็นกระจกใสที่สามารถมองทะลุได้ และมีนักเรียนเพียง 8 คน ถึงตอนนี้มีนักเรียนเพิ่มมาเป็น 40 คนแล้ว โดยนักเรียน 5 คนในนั้นคือ ลูก ๆของเขานั่นเอง ซึ่งเขาไม่เคยให้ลูก ๆ ไปเรียนในระบบทั่วไป เหตุผลหนึ่งเพราะตัวเขาในวัยเด็กเกลียดการไปโรงเรียนอย่างมาก และรู้สึกว่าการเรียนในโรงเรียนไม่ใช่เรื่องสนุก ส่งผลให้เขาไม่ศรัทธารูปแบบการสอนในโรงเรียนแบบดั้งเดิมในปัจจุบัน

“อีลอน มัสก์” บอกว่า สิ่งที่ทำให้โรงเรียนนี้แตกต่างจากโรงเรียนทั่วไป คือ ไม่มีการแบ่งระดับชั้น โดยนักเรียนทั้งหมดตั้งแต่ 7 ถึง 14 ปี จะเรียนด้วยกัน แต่เลือกเรียนตามความชอบ และความถนัดของแต่ละคน นอกจากนั้นจะเน้นให้เด็กทำงานร่วมกันเป็นทีม และลงมือทำจริง

“ยกตัวอย่าง ถ้าจะสอนเรื่องเครื่องยนต์ ครูจะไม่มาอธิบายแต่ละหน้าว่า หน้าที่ 1 เรียนเรื่องไขควงคืออะไร หน้าที่ 2 เครื่องยนต์คืออะไร แต่เราจะมีเครื่องยนต์จริงมาให้นักเรียนได้สัมผัส ให้พวกเขาสงสัย และตั้งคำถามเองว่า แต่ละชิ้นส่วนคืออะไร ทำงานอย่างไร และมีประโยชน์อย่างไร ส่วนเรื่องการวัดผลเราจะเป็นการให้คะแนนที่การทำงานของนักเรียนในแต่ละครั้ง จะไม่มีกระดาษบอกเกรดตอนจบภาคการศึกษา”

เฟซบุ๊กช่วยโลกการศึกษา

ไม่น่าแปลกใจที่เจ้าพ่อแห่งวงการโซเชียลมีเดียจะมองว่า เทคโนโลยีเป็นทางออกของระบบการศึกษาที่มีปัญหาในสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน เพราะจากการประเมินทักษะด้านคณิตศาสตร์

และวิทยาศาสตร์ของเด็กทุกเพศทุกวัยในสหรัฐอเมริกา โดย Pew Research Center ระบุว่า เด็กอเมริกันมีทักษะสองด้านนี้ด้อยกว่าที่ควร โดยมีการวิเคราะห์ถึงเหตุผลว่าอาจเกี่ยวข้องกับเงินทุนสนับสนุนโรงเรียนเพื่อการฝึกอบรมครูที่ไม่เพียงพอ และโอกาสที่ไม่เท่าเทียมกันในด้านการศึกษาสำหรับนักเรียนที่มีภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคมแตกต่างกัน

“มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก” กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาการศึกษาในบันทึกบนเฟซบุ๊กของเขา เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2017 ว่า การสร้างผลลัพธ์ระยะยาวจำเป็นต้องสร้างเครื่องมือที่ช่วยให้ครูทุกคนในโรงเรียนทุกแห่งสามารถให้คำแนะนำ และให้คำปรึกษาแก่นักเรียนทุกคนได้ในแบบสนับสนุนแนวคิดการเรียนรู้แบบส่วนบุคคล (personalized learning)

“โดยในบันทึกนั้นเขายืนยันความคิดว่า การศึกษาดีที่สุด คือ การศึกษาที่เหมาะกับความต้องการของนักเรียนแต่ละคน โดยให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง รวมถึงเขาเชื่อว่าการเรียนรู้ส่วนบุคคลสามารถพัฒนาได้ด้วยการใช้เทคโนโลยี เพราะจะช่วยให้ครูสามารถกำหนดบทเรียนสำหรับนักเรียนในระดับความสามารถที่แตกต่างกันได้ง่ายขึ้น นอกจากนั้น เด็ก ๆ ยังฝึกทักษะของตนเองผ่านแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ได้ดีกว่าการเรียนในห้องเรียนแบบเดิมอีกด้วย”

ทั้งนั้นเพราะเป้าหมายของ “มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก” คือ การช่วยเรื่องการศึกษาของเด็กนับพันล้านคน ผ่านความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่บริษัทเขาสร้างขึ้น เพราะหากพูดถึงเฟซบุ๊ก ครูและนักเรียนสามารถใช้ประโยชน์จากเครื่องมือนี้ได้มาก เพราะแบ่งออกเป็น 5 ด้าน คือ เป็นแหล่งข้อมูล, เป็นที่ทำโปรเจ็กต์ และการบ้าน, ช่วยในการแชร์ข้อมูลข่าวสาร, เป็นแหล่งแสดงความร่วมมือ และแสดงความคิดเห็น และใช้เป็นเครื่องมือจัดการห้องเรียนและองค์กร

“ผมมองว่าการศึกษาในยุคเทคโนโลยี คือ การที่ผู้สอนไม่จำเป็นต้องใช้ห้องเรียน และไม่ใช่คนสอน แต่ครูจะเป็นผู้ช่วยของนักเรียนมากกว่า โดยนักเรียนจะเรียนแบบจัดกลุ่มกันทำงานผ่านโน้ตบุ๊ก และเลือกใช้ซอฟต์แวร์ที่เหมาะกับงานที่ตนได้รับมอบหมาย และดิ้นรนหาคำตอบด้วยตนเองโดยมีครูเป็นผู้แนะนำ

อันเป็นแนวคิดของผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดระดับโลกที่น่าสนใจ ทั้งยังมีส่วนสำคัญในการผลักดันการศึกษาเป็นอย่างดีอีกด้วย