General Electric สาธิต เครื่องยนต์อากาศยานจาก Metal 3D Printer

อัปเดตล่าสุด 25 ก.พ. 2563
  • Share :

การผลิตแบบเพิ่มเนื้อวัสดุ หรือ Additive Manufacturing (AM) คือกระบวนการขึ้นรูปชิ้นงานด้วยการเติมเนื้อวัสดุ ซ้อนเข้าด้วยกันจนได้รูปทรงตามแต่โมเดล 3D ที่กำหนดไว้ ซึ่งเมื่อเทียบกับการผลิตชิ้นงานด้วยการตัด กัด หรือเจียระไนแล้ว AM มีข้อได้เปรียบที่เด่นชัดคือ สามารถผลิตชิ้นงานน้ำหนักเบา และทนทานได้ดีกว่า อีกทั้งยังออกแบบชิ้นงานได้อิสระขึ้น นำมาซึ่งการพัฒนาโครงสร้างใหม่ ๆ และลดต้นทุน รวมถึงระยะเวลาที่ใช้ในการพัฒนา และสำหรับภาคอุตสาหกรรมการผลิตแล้ว AM ก็เป็นหนึ่งใน Disruptive Technology ที่เกิดขึ้น ซึ่ง General Electric (GE) ผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดอากาศยาน ได้ประกาศการผลักดันเทคโนโลยีการผลิตแบบ Additive Manufacturing ด้วยเครื่องยนต์อากาศยานรุ่นใหม่จาก Metal 3D Printer ที่มีชิ้นส่วนเพียง 12 ชิ้น พร้อมติดตั้งในอากาศยานจริง

GE ผู้ผลิตอากาศยานรายใหญ่ คือหนึ่งในบริษัทที่ตั้งใจผลักดันเทคโนโลยีนี้ ด้วยการออกแบบ TurboProp “Catalyst” เครื่องยนต์อากาศยานรุ่นใหม่ ซึ่งใช้เทคโนโลยี AM มากถึง 35% ในการผลิต มีจุดเด่นคือจำนวนชิ้นส่วน ซึ่งสามารถลดจำนวนจากเดิมที่ 855 ชิ้น เหลือเพียง 12 ชิ้น ซึ่งช่วยให้เครื่องยนต์มีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น เนื่องจากการเชื่อมต่อชิ้นส่วนต่าง ๆ เข้าด้วยกันน้อยลง มีน้ำหนักเบา และยังช่วยประหยัดเชื้อเพลิงได้ ทาง GE ยืนยันแล้วว่า เครื่องยนต์รุ่นนี้จะถูกติดตั้งในอากาศยานขนาดเล็ก “Cessna Denali” จาก Texton 

นอกจากการพัฒนาเครื่องยนต์แล้ว GE ยังมุ่งผลักดันการผลิตแบบ AM ในด้านอื่น ๆ ด้วยการประกาศเปิดตัว Metal 3D Printer รุ่นใหม่ภายในงาน “Formnext” งานจัดแสดงสินค้า AM ชั้นนำที่ประเทศเยอรมนีในช่วงปลายปีที่แล้ว พร้อมวางโครงสร้างบริษัทให้พร้อมเป็นที่ปรึกษาสำหรับผู้สนใจ ตั้งแต่ขั้นตอนการเลือกซื้อเครื่องพิมพ์ วัสดุ การออกแบบ และการผลิตจำนวนมาก ซึ่งเครื่องยนต์ Catalyst ของบริษัท นอกจากจะเป็นเครื่องยนต์รุ่นใหม่แล้ว ยังเป็นการสาธิตความเป็นไปได้ของเทคโนโลยี AM ในการผลิตจำนวนมาก


บูธ GE Additive จากงาน Formnext

นอกจากนี้ GE ยังเข้าซื้อกิจการของ Concept Laser และ Arcam บริษัทสัญชาติเยอรมัน และสวีเดน รวมถึงธุรกิจด้านวัสดุอื่น ๆ เพื่อนำองค์ความรู้มาใช้ในการพัฒนาเทคโนโลยี Metal 3D Printing ต่อไปในอนาคตอีกด้วย