บริษัทญี่ปุ่นคาด เศรษฐกิจ และสงครามการค้า คือโอกาสธุรกิจไทย

อัปเดตล่าสุด 26 ม.ค. 2563
  • Share :
  • 1,599 Reads   

บริษัทญี่ปุ่นคาด แนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจ และสงครามการค้าจีน - สหรัฐ จะนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจไทยในอุตสาหกรรมการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการดิจิทัล, รถเชิงพาณิชย์, รีไซเคิล, และอิเล็กทรอนิกส์ คาดเศรษฐกิจไทยโตก้าวกระโดดใน 5 - 10 ปีนี้

ปัจจุบัน อาเซียนกำลังได้รับการจับตามองเป็นอย่างยิ่ง โดยมีปัจจัยหลักมาจากจำนวนประชากร ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 650 ล้านคน ใกล้เคียงกับยุโรป จีน และอเมริกาเหนือ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นตลาดขนาดใหญ่ทั้งสิ้น รวมถึงความพยายามผลักดันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งมีญี่ปุ่น, จีน และเกาหลีใต้ให้การสนับสนุน ซึ่งหากสำเร็จแล้ว คาดการณ์ว่า ภูมิภาคอาเซียน จะกลายเป็นเศรษฐกิจที่มีจำนวนประชากรคิดเป็นครึ่งหนึ่ง และมี GDP สูงถึงราว 30% จากตลาดโลก

ด้วยเหตุนี้เอง ธุรกิจญี่ปุ่น จึงแสดงความสนใจต่อประเทศไทย ซึ่งมีแนวโน้มจะกลายเป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจสำคัญเป็นพิเศษ สืบเนื่องจากการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทย จะมีการเติบโตสูงในระยะ 5 - 10 ปีข้างหน้านี้ ทั้งตลาดในประเทศ และการส่งออก รวมถึงการพิจารณาย้านฐานการผลิตหนีพิษสงครามการค้าจีน - สหรัฐ โดยมีประเด็นน่าสนใจ ดังนี้

บริการดิจิทัลคือโอกาส

Mr. Ariki Ono COO บริษัท NTT DATA Thailand แสดงความเห็นว่า “ปัจจุบัน ประเทศไทยมีความคืบหน้าในการก้าวสู่ยุคดิจิทัลมากกว่าประเทศญี่ปุ่น” ซึ่งเป็นผลจากนโยบาย Thailand 4.0 ที่ทำให้การเติบโตทางเทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศไทยมีความเด่นชัดมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค ซึ่ง NTT DATA ได้ย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาบุคลากร IT, Data Scientist, และ Digital Marketing

Mr. Ariki Ono กล่าวต่อว่า ธุรกิจการเงิน และอุตสาหกรรมการผลิตในไทยมีความพยายามเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ความต้องการสินค้าจากบริษัท IT ลดลง ยกตัวอย่างเช่น บริษัทปูนซิเมนต์ในไทย ซึ่งหลายบริษัทมีการนำเทคโนโลยีเซ็นเซอร์เข้าติดตั้งในโรงงาน ส่งผลให้ทางบริษัทคาดการณ์ว่า สิ่งที่ธุรกิจไทยต้องการ ไม่ใช่อุปกรณ์ แต่เป็นบริการด้านข้อมูล เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลที่รวดเร็ว และการทำตลาดจากข้อมูลของลูกค้า

อย่างไรก็ตาม Mr. Ariki Onoได้แสดงความเห็นต่อว่าการดำเนินแนวทางเช่นนี้ยังมีความเสี่ยง เนื่องจาก “หากไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าระหว่างที่เทคโนโลยีดิจิทัลกำลังเป็นกระแสได้แล้วก็จะไม่สามารถเอาตัวรอดในตลาดได้”

รถกระบะมาแรง ถีบตลาดยานยนต์โตต่อเนื่อง 

อีกสาเหตุที่ประเทศไทยมีความสำคัญต่อญี่ปุ่นสูงคือตลาดยานยนต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ผลิตรถเชิงพาณิชย์ ซึ่งเห็นได้ชัดจากกรณีของ Isuzu ซึ่งจัดงานเปิดตัวระกระบะ “D-MAX” รุ่นใหม่ในไทยเมื่อเดือนตุลาคม และมีผู้เข้าร่วมงานสูงถึง 3,000 ราย

นับตั้งแต่ปี 1974 Isuzu มียอดผลิตรถกระบะในไทยรวมแล้วมากกว่า 4 ล้านคัน คิดเป็น 25% ของยอดขายทั่วโลก ส่งผลให้ Isuzu ตัดสินใจยกกำลังการผลิตในไทย ด้วยการนำระบบอัตโนมัติเข้าใช้ภายในโรงงาน

Hino Motors เป็นอีกบริษัทหนึ่ง ที่ยกตลาดรถไทยให้เป็นตลาดหลักของบริษัท และก่อตั้ง “Suvarnabhumi Monozukuri Center” เพื่อปั้นไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต และพัฒนายานยนต์แห่งอาเซียน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มทำการผลิตได้ในปี 2021 เพื่อตอบรับความต้องการรถเชิงพาณิชย์ที่สูงขึ้นทั่วภูมิภาคเอเชีย

โรงงานรีไซเคิลซากรถ อีกหนึ่งโอกาสที่ญี่ปุ่นมองเห็น

Toyota Tsusho คาดการณ์ว่าไทยจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงในอนาคต และจะมียอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในอีก 10 ปีข้างหน้านี้ พร้อมเล็งเห็นว่า ตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป ประเทศไทยจะต้องการโรงงานรีไซเคิลซากรถยนต์ที่หมดอายุการใช้งาน(End-of-Life Vehicles: ELV) มากขึ้น และแสดงความเห็นว่า การวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการรีไซเคิลซากรถยนต์ จะกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในประเทศไทย

ลี้ภัยสงครามการค้า

อีกปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจญี่ปุ่นแสดงความสนใจในประเทศไทยคือสงครามการค้า โดยเฉพาะบริษัทที่มีฐานการผลิตในจีน ซึ่งประสบปัญหาการส่งออกจากกำแพงภาษีโดยสหรัฐ ยกตัวอย่างเช่นการย้ายฐานการผลิตโมดูลกล้องยานยนต์ และจอภาพส่วนหนึ่งมายังประเทศไทยโดย Kyocera, SIIX Corp ซึ่งย้ายบริการด้านการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (EMS) มายังไทยในเดือนตุลาคม, NOK ย้ายฐานผลิตชิ้นส่วนยาง เช่น Torsional damper, และ Sharp ที่ย้ายฐานผลิต Compound Machine ในเดือนธันวาคม และ Kaga Electronics คาดการณ์ว่า ตลาดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (EMS) ในไทยจะมีการขยายตัวเป็นอย่างมาก จึงอยู่ระหว่างก่อสร้างโรงงานแห่งที่ 2 ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเดินสายการผลิตได้ในเดือนธันวาคมปีนี้ 

SUN-WA TECHNOS CORPORATION ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์สำหรับอุตสาหกรรมการผลิต รายงานว่า บริษัทญี่ปุ่นจำนวนมาก ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังไทยแล้ว ซึ่ง Mr. Hiroyuki Tanaka ประธานบริษัท เล่าว่า “ผู้ผลิตเครื่องฉีดพลาสติก และผู้ผลิตปรินเตอร์ค่ายญี่ปุ่นรายใหญ่ในจีน ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทยแล้วเช่นกัน”