อุตสาหกรรมการผลิต เตรียมใช้ "ไม้" แทน "พลาสติก"

อัปเดตล่าสุด 11 ต.ค. 2561
  • Share :
  • 686 Reads   

ต่อยอดแนวคิดจากวัฒนธรรม

สำหรับคนญี่ปุ่นแล้ว ไม้เป็นวัสดุที่มีความเกี่ยวข้องกับคนญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน ทั้งในการจัดหา และคุณสมบัติซึ่งสามารถนำมาใช้งานได้ง่าย ทำให้ "ไม้" กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมญี่ปุ่น และถูกใช้ในการก่อสร้างทั้งศาลเจ้า วัด อาคาร เครื่องใช้ และเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งปัจจุบัน ญี่ปุ่นมีอัตราส่วนพื้นที่ป่ามากถึง 68% หรือคิดเป็นลำดับที่ 3 ของโลก รวมถึงมีช่างไม้ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากอีกด้วย

นอกจากนี้ ไม้ยังมีจุดเด่นที่สามารถย่อยสลายได้ง่าย ต่างจากพลาสติก และโลหะ จึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกว่าเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมกลายเป็นปัญหาสำคัญเช่นนี้


 

สู่วัสดุคุณภาพสูง

ปัจจุบันศูนย์วิจัยหลายแห่งทั่วโลกต่างตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อนำเส้นใยจากพืช ซึ่งเรียกว่า Nanocellulose มาใช้งาน โดยการใช้เครื่องจักร หรือสารเคมีสังเคราะห์เส้นใยนี้ออกมาจากไม้ เพื่อให้ได้เป็นเส้นใยละเอียด (Ultra Fine Fiber) ซึ่งมีน้ำหนักเบา ความคงทนสูง และสัมประสิทธิ์ของการขยายตัวจากความร้อนต่ำ ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อนำมาใช้ร่วม หรือแทนที่พลาสติก และสารเติมแต่ง (Additive) 

National Institute of Advanced Industrial Science and Technology (AIST) อยู่ระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยีด้าน Nanocellulose ร่วมกับแนวทางการนำวัสดุไม้มาใช้งาน ซึ่งวัสดุที่สามารถนำมาใช้งานได้แล้วคือวัสดุผสมจาก Cellulose, Lignin และ Hemicellulose ซึ่งมีโครงสร้างที่ซับซ้อน และเป็นวัสดุที่มีการใช้งานอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม AIST ได้พัฒนาวัสดุชนิดนี้ให้มีความคงทนสูง กันน้ำ ทนต่อความร้อน และแปรรูปได้ง่าย พร้อมต่อยอดในการใช้เป็นวัสดุคุณภาพสูงต่อไป 

 

การขึ้นรูปไม้

วัสดุซึ่งผลิตขึ้นจาก Lignin และ Hemicellulose นั้น เมื่อนำไปแช่ในตัวทำละลายเช่นน้ำ เซลล์ไม้จะให้คุณสมบัติที่เหมือนกับพลาสติก ส่งผลให้สามารถนำไปขึ้นรูปด้วยแม่พิมพ์ได้เหมือนเช่นพลาสติก

 

AIST จึงมุ่งพัฒนาเทคนิคการขึ้นรูปไม้ด้วยแม่พิมพ์ให้สามารถใช้งานจริงได้ในอุตสาหกรรมการผลิต โดยมุ่งไปที่การเพิ่มความคงทนของวัสดุ ให้สามารถทำงานกับเครื่องจักรอุตสาหกรรมได้ รวมถึงลดต้นทุนที่ต้องใช้ในการผลิตให้ต่ำลง และคาดการณ์ว่าจะได้เป็นวัสดุคุณภาพสูงที่มีราคาถูก และยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย