Super City และความสำคัญของ 5G ในอนาคต
“Super City” คือ แนวคิดว่าด้วยการพัฒนาผังเมืองที่เหนือกว่า “Smart City” ไปอีกขั้น ด้วยการเชื่อมต่อข้อมูลต่าง ๆ ในตัวเมืองเข้าด้วยกันอย่างทั่วถึง ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) และ Big Data ในการบริหารข้อมูล ซึ่งจะนำไปสู่นวัตกรรมเพื่อผู้อยู่อาศัยในหลายด้าน ทั้งโดรนรักษาความปลอดภัย, สังคัมไร้เงินสด, บริการการแพทย์ทางไกล, การคมนาคมแบบ On Demand, และอื่น ๆ ในอนาคต
กุญแจสำคัญของแนวคิดนี้ คือเทคโนโลยีที่จะเชื่อมต่อทุกสิ่งเข้าด้วยกัน ซึ่งนอกจากการพัฒนาเทคโนโลยีที่ว่านี้ขึ้นมาแล้ว การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเดิมด้วยเซนเซอร์จำนวนมหาศาลก็เป็นอีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน
สู่เมืองดิจิทัล
ปัจจุบัน ในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่แล้ว โครงสร้างพื้นฐานยังคงขาดความพร้อมในการพัฒนาเข้าสู่ยุคแห่งการเชื่อมต่ออย่างเต็มรูปแบบ อย่างไรก็ตาม ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือนี้เอง ที่จะเป็นหนึ่งในแรงผลักดันประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้ให้เข้าสู่ยุคดิจิทัล เริ่มจากโทรศัพท์มือถือ และอินเตอร์เน็ทที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม ซึ่งประเทศที่มีแนวโน้มจะพัฒนาในด้านนี้อย่างรวดเร็วประกอบด้วยจีน อินเดีย และอินโดนีเซีย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประเทศที่มีประชากรจำนวนมากทั้งสิ้น
ส่วนในประเทศที่มีจำนวนประชากรน้อย เช่นญี่ปุ่นนั้น แม้ว่ารัฐบาลจะมีความพยายามผลักดันแนวคิด Super City แต่ด้วยจำนวนประชากรที่ไม่มากนัก และพื้นที่ซึ่งมีประชากรหนาแน่นมีเพียงไม่กี่จุด ทำให้แม้จะพัฒนาเข้าสู่ยุคแห่งการเชื่อมต่อแล้ว การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในหลายส่วนก็อาจจะไม่คุ้มค่าการลงทุน ทั้งงบประมาณ และเวลาที่ต้องใช้
โดยผู้เกี่ยวข้องคาดการณ์ว่า แนวคิด Super City จะเป็นจริงได้นั้น อย่างเร็วก็หลังปี 2030 เป็นต้นไป และประเทศที่มีแนวโน้มสูงอีกกลุ่ม คือประเทศที่เริ่มมีการนำ 5G มาใช้งาน ซึ่งหากเริ่มนำมาใช้งานได้เร็วแล้ว ความเป็นไปได้ที่จะประสบความสำเร็จในการพัฒนาตามแนวคิดนี้ก็ยิ่งสูงขึ้น โดยมีสิ่งสำคัญคือ AI, IoT, และ 5G ซึ่งจะกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการเชื่อมต่อส่วนต่างๆ ของตัวเมืองเข้าหากัน
แน่นอนว่า ต้องมีคำถามเกิดขึ้นว่า “จะเชื่อมต่อมากกว่านี้ไปทำไม แค่แบบทุกวันนี้ก็เพียงพอแล้ว” ซึ่ง Nomura Research Institute แสดงความเห็นว่า เป้าหมายของยุคแห่งการเชื่อมต่อ และ Super City ไม่ใช่เพียงการสื่อสาร แต่เป็นแพล็ตฟอร์มขนาดใหญ่ซึ่งมี AI และ IoT เป็นส่วนหนึ่งของตัวเมือง ใช้ AI ในการให้บริการ รักษาความปลอดภัย และควบคุมโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพเป็นเวลาตลอด 24 ชม.
ปัจจุบัน ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือหลายรายทั่วโลกต่างเล็งเห็นความสำคัญของเทคโนโลยี 5G อย่างไรก็ตาม ในการจะก้าวไปสู่ Super City ได้นั้น 5G ต้องเป็นมากกว่า “เครื่องมือเพื่อการสื่อสาร” และควรได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างจริงจังในการนำไปพัฒนาใช้ในด้านอื่น ๆ เช่น การแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน ด้วยการใช้เทคโนโลยี 5G ในการคมนาคม เพื่อพัฒนาเป็นระบบขนส่งมวลชนอัจฉริยะไร้คนขับที่กำลังเป็นเทรนด์ในหลายประเทศในขณะนี้
Mr. Kotaro Kuwazu ผู้อำนวยการ Nomura Research Institute กล่าวแสดงความเห็นว่า “แม้ปัจจุบัน เทคโนโลยี 5G ซึ่งมีคุณสมบัติในการรับส่งข้อมูลด้วยความเร็วสูงนั้น จะมีผลงานโดดเด่นที่คนทั่วไปรับรู้เพียงแค่ด้านเดียวคือการรับส่งสัญญาณ 8K แต่ในความเป็นจริงแล้ว 5G สามารถนำมาใช้พัฒนาเทคโนโลยีอื่น ๆ เช่น กล้องวงจรปิดความละเอียดสูงที่ทำงานด้วย AI, การควบคุมหุ่นยนต์อุตสาหกรรมจากทางไกลแบบเรียลไทม์, Contected Car ซึ่งลดอุบัติเหตุได้ด้วยการรับส่งข้อมูลระหว่างยานยนต์แต่ละคัน, และอื่น ๆ อีกมากในภายภาคหน้า”