“ให้ดาต้านำทางเราไป” วิสัยทัศน์ปี 2020 ของผู้ก่อตั้ง “หัวเว่ย”
แม้จะเผชิญกับมรสุมครั้งใหญ่จากพิษสงครามการค้า “สหรัฐ-จีน” แต่บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการสื่อสารโทรคมนาคมของโลกอย่าง “หัวเว่ย” ก็ยังคงมองธุรกิจในอนาคตอย่างมีความหวัง
โดย “เหริน เจิ้งเฟย” ผู้ก่อตั้ง และประธานคณะกรรมการบริหารของหัวเว่ย กล่าวถึงวิสัยทัศน์ธุรกิจในปี 2563 ว่า หัวเว่ยมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า มนุษยชาติจะก้าวเข้าสู่โลกที่ชาญฉลาดในอีก 20-30 ปีข้างหน้า ปัจจุบันสังคมของเราเต็มไปด้วยการคิดค้นทฤษฎีและการสร้างสรรค์เทคโนโลยีใหม่ ๆ มากมายมหาศาล แน่นอนว่าโอกาสในการเติบโตมักตามมาด้วยความไม่แน่นอน
เหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้ง หัวเว่ย
“โลกยังมีอีกหลายคำถามที่ยังรอคนมาตอบ ความร่วมมือที่เปิดกว้างจึงเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาที่เรายังคิดไม่ตก
ในวงการอิเล็กทรอนิกส์ ชิปจะมีขนาดลดลงเรื่อย ๆ จนอาจเหลือเพียงสามหรือแค่หนึ่งนาโนเมตรเท่านั้น วิวัฒนาการนี้จะยังคงเป็นไปในทิศทางที่เรายังไม่อาจคาดเดาได้ แม้กระทั่งกฎของมัวร์อาจกลับกลายเป็นเรื่องล้าสมัยไปแล้ว”
แต่ก่อนเราเคยเชื่อว่ากราฟีน (Graphene) จะเป็นตัวขับเคลื่อนวิวัฒนาการในยุคปัจจุบัน แต่ในวันนี้ เราไม่แน่ใจแล้วว่าความคิดนี้จะยังเป็นจริงอยู่ไหม”
ผู้ก่อตั้ง “หัวเว่ย” กล่าวว่า ในอีกสองถึงสามทศวรรษข้างหน้า เราจะได้ประจักษ์การค้นพบครั้งยิ่งใหญ่ด้านเทคโนโลยีทางพันธุกรรม ซึ่งจะเร่งให้เกิดความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดในแวดวงวิทยาศาสตร์ชีวภาพ เทคโนโลยีชีวภาพ และเวชศาสตร์นาโน แต่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าการพัฒนาที่สำคัญเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและการทำงานของเราไปในรูปแบบใด
“วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับโมเลกุลสามารถนำไปใช้สังเคราะห์และสร้างสรรค์เป็นวัสดุที่ยังไม่มีมาก่อนในโลก ไม่มีทางที่จะบอกได้ว่าจะมีวัสดุและเทคโนโลยีใหม่ ๆ แบบใดเกิดขึ้นมา
แต่สิ่งที่เรารู้อย่างแน่ชัด คือจะมีการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ไปใช้อย่างกว้างขวาง แต่ก็ยังคาดเดาไม่ได้ว่า AI จะผลักดันสังคมให้ก้าวไปในทิศทางใดและสร้างความมั่งคั่งให้มากกว่านี้ด้วยวิธีใดบ้าง”
ขณะเดียวกัน การคิดค้นและการใช้งานอย่างแพร่หลายของระบบควอนตัมคอมพิวเตอร์จะกระตุ้นให้เกิดการล้นทะลักของการรับส่งข้อมูล ถึงแม้จะรู้ว่าโลกจะได้รับผลกระทบจากดาต้าจำนวนมหาศาล แต่สิ่งต่างๆ ก็อาจไม่ได้เป็นอย่างที่คิดก็เป็นได้
นอกจากนี้แล้ว จะมีการนำเทคโนโลยีออปติกไปใช้อย่างแพร่หลายในโดเมนต่าง ๆ ด้วย
ความก้าวหน้าในการสร้างกฎข้อบังคับของเทคโนโลยีแต่ละแขนงกำลังสร้างโอกาสใหม่ ๆ ในอัตราที่น่าประหลาดใจ แต่ผลลัพธ์ที่ได้จากความก้าวหน้าทางด้านสหวิทยาการนั้นกลับน่าประหลาดใจยิ่งกว่า นวัตกรรมแห่งอนาคตทั้งหลายเหล่านี้จะมาพร้อมกับการเติบโตอย่างมหาศาลของ “ทราฟิกข้อมูล”
“เรายังคาดการณ์ไม่ได้ว่าเราจะต้องใช้ที่จัดเก็บข้อมูลขนาดเท่าใด หรือระบบส่งถ่ายข้อมูล และการประมวลผลข้อมูลปริมาณขนาดใหญ่มหาศาลมากเพียงใด สิ่งที่เรารู้แน่ ๆ ก็คือว่า ข้อมูลจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ จะถูกจัดเก็บและประมวลผลบนคลาวด์ แต่เราจะมีช่องทางจัดการกับข้อมูลจำนวนมากนี้ได้อย่างไร”
สรุปสั้น ๆ คือ ยังไม่รู้ว่าโครงสร้างของสังคมของเราจะเป็นอย่างไร จะปรับตัวรับมือกับมันอย่างไร หรือแม้แต่จะควบคุมมันอย่างไร แนวคิดและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทั้งหมดกำลังค่อยๆ เผยโฉมให้เราเห็น คลื่นลูกใหม่ทางนวัตกรรมเทคโนโลยีจะมีลักษณะเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ ที่ขยายการพัฒนาออกไปสู่ศาสตร์อื่น ๆ ที่หลากหลาย เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศได้กลายเป็นพื้นฐานสำหรับงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมในหลากหลายแนวทางปฏิบัติ แถมยังกลายเป็นรากฐานสำหรับการพัฒนาในทุกอุตสาหกรรมอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม มีสิ่งหนึ่งที่ชัดเจนก็คือ เราต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของสังคมแห่งข้อมูลข่าวสารให้แข็งแกร่งมากขึ้น โดยโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นนั้นแบ่งออกเป็นด้านแข็ง (เทคโนโลยีที่จับต้องได้) และด้านอ่อน (กฎและทักษะที่เรานำไปใช้)
ในโครงสร้างพื้นฐานด้านแข็ง มีเครือข่ายออปติกและที่ขาดไม่ได้คือ เทคโนโลยี 5G รวมไปถึง 6G ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดย AI ต้องพึ่งเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารหลายรูปแบบ และจะพัฒนาต่อไม่ได้เลยหากไม่มีการขยายขีดความสามารถของเทคโนโลยีด้านข้อมูลไปเรื่อย ๆ หากจะเปรียบเทียบก็คือ AI เป็นดั่งรถแรง ๆ ที่วิ่งด้วยความเร็วสูงคันหนึ่ง และเทคโนโลยีสารสนเทศก็ต้องเป็นไฮเวย์ที่มาคอยรองรับความแรงของรถคันนี้
“สำหรับโครงสร้างด้านอ่อน เรามีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ มีกฎระเบียบและแนวทางปฏิบัติต่าง ๆ หัวใจสำคัญอยู่ที่บุคลากรที่มีความสามารถครบครัน เราจะก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ได้ต่อเมื่อทุกประเทศร่วมกันส่งเสริมและผลักดันการศึกษาอย่างเต็มที่”
พร้อมกับการพัฒนาผู้มีความสามารถรอบด้านด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมที่เปิดอิสระด้านการศึกษาและส่งเสริมอิสรภาพทางความคิด
ให้ดาต้านำทางเราไป
โลกปัจจุบันกำลังยืนอยู่หน้าประตูสู่โลกยุคใหม่อันชาญฉลาด หัวเว่ยต้องเลือกบทบาทหน้าที่ในโครงสร้างของสังคมใหม่ในอีก 20 ถึง 30 ปีข้างหน้านี้
“เรารู้ว่าปริมาณทราฟิกของข้อมูลจะมีปริมาณมากมายเหลือล้นในอนาคต ดังนั้นแนวทางด้านกลยุทธ์ของเราจะเน้นในด้านของการจัดช่องทาง การกระจาย การจัดเก็บ และการประมวลผลข้อมูลที่มีจำนวนมหาศาลนี้ นี่จะเป็นสิ่งที่เราจะให้ความสำคัญในระยะยาว เราต้องมุ่งมั่นอยู่บนเส้นทางที่เลือก พร้อม ๆ ไปกับการปรับตัวและพร้อมตั้งรับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นบนทางสายดังกล่าวด้วย”
ผู้ก่อตั้ง “หัวเว่ย” ทิ้งท้ายด้วยว่า ฤดูใบไม้ผลิอันสดใสงดงามไม่ได้เกิดขึ้นจากการเบ่งบานของดอกไม้เพียงดอกเดียว ในสังคมของข้อมูลข่าวสารที่มีความเคลื่อนไหวตลอดเวลานี้ เราไม่ควรไปห้ามไม่ให้ดอกไม้ช่อใดหยุดแสดงความงดงามของตน
“ที่หัวเว่ย เรายังคงทำงานร่วมกับบริษัทมากมายทั่วโลกเพื่อสร้างระบบนิเวศที่แข็งแกร่ง และแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน เรายึดมั่นและสนับสนุนโลกาภิวัฒน์มาโดยตลอดและจะยังคงเปิดกว้างและร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อแบ่งปันความสำเร็จกับทุก ๆ คนในโลกใบนี้”