“Piece picking” หุ่นยนต์หยิบจับเพื่อศูนย์โลจิสติกส์อัตโนมัติรุ่นแรกของโลก

อัปเดตล่าสุด 6 ก.พ. 2562
  • Share :

ที่ผ่านมานั้น กระบวนการหยิบจับสินค้าในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ถูกกล่าวกันว่าเป็นกระบวนการที่ไม่อาจทำให้เป็นระบบอัตโนมัติโดยสมบูรณ์ได้ เนื่องจากความหลากหลายของสินค้า ทั้งชนิด รูปทรง ขนาด แรงที่ใช้ในการหยิบจับ ซึ่งหากเป็นสินค้าประเภทเดียวกัน ก็ยังจะพอมีโปรแกรมให้หุ่นยนต์ทำงานได้ อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงนั้น คลังสินค้าไม่ได้มีไว้เพื่อเก็บสินค้าชนิดเดียว อีกทั้งยังมีเรื่องของบรรจุภัณฑ์ จึงไม่สามารถทำการโปรแกรมหุ่นยนต์ใหม่ให้ทำงานกับสินค้าทุกชนิดได้ และเป็นปัญหาที่อุตสาหกรรมโลจิสติกส์หาทางแก้ไขมาอย่างยาวนาน

อย่างไรก็ตาม MUJIN ได้ค้นพบวิธีการแก้ไขปัญหานี้ โดยการใช้เทคโนโลยี “Motion Planning” ร่วมกับเทคโนโลยีการจับภาพ 3 มิติ โดยใช้กล้องในการวิเคราะห์ภาพสินค้า บรรจุภัณฑ์ และสายพานลำเลียง จึงมีคุณสมบัติในการหยิบจับสินค้าได้ทุกขนาด หรือแม้แต่สินค้าที่วางไว้อย่างไม่เป็นระเบียบ รวมไปถึงการบรรจุสินค้าได้ด้วยการสแกนภาพพื้นที่จัดเก็บ เพื่อนำมาประมวลผลและหาแนวทางการจัดเก็บสินค้าให้ประหยัดพื้นที่ได้มากที่สุด อีกทั้งยังมีความสามารถในการบรรจุสินค้าที่จำเป็นต้องพับหรือดัดก่อนจัดเก็บอีกด้วย

Mr. Diankov Rosen ผู้พัฒนาหุ่นยนต์หยิบจับรุ่นนี้ กล่าวแสดงความเห็นว่า “ในทางเทคนิคแล้ว การจะแก้ปัญหานี้เป็นเรื่องที่ยากมาก” เนื่องจากในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์นั้น ผู้ที่อยู่ในธุรกิจนี้ส่วนใหญ่มักไม่คุ้นเคยกับหุ่นยนต์ ต่างจากอุตสาหกรรมยานยนต์ และผู้ผลิตเซมิคอนดัคเตอร์ การจะให้ผู้ประกอบการในธุรกิจโลจิสติกส์ยอมรับระบบอัตโนมัติโดยสมบูรณ์เช่นนี้จึงเป็นเรื่องยาก อย่างไรก็ตาม ก็ยังคงมีอีกปัญหาที่ต้องหาทางแก้ไข คือ ต้นทุนที่จำเป็นในการจัดหา

ปัจจุบัน หุ่นยนต์รุ่นนี้ ถูกนำไปใช้ในคลังสินค้าของ JD.com ผู้ประกอบการ E-commerce รายใหญ่อันดับ 2 ของประเทศจีน ซึ่งได้แสดงผลลัพธ์ที่น่าพอใจ ส่งผลให้ได้รับความสนใจจากธุรกิจอื่นตามมา เช่น บริษัทยา ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในจีน และคาดการณ์ว่า ในอนาคต ระบบอัตโนมัติจะเป็นที่แพร่หลายในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ยิ่งขึ้น