เทคโนโลยีโลจิสติกส์ เทคโนโลยีการขนส่งสมัยใหม่

เทคโนโลยีโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด

อัปเดตล่าสุด 13 ส.ค. 2562
  • Share :
  • 1,927 Reads   

Logistics หนึ่งในอุตสาหกรรมที่อยู่ท่ามกลางการถูกดิสรัป ด้วยเทคโนโลยีโลจิสติกส์ คลังสินค้า รวมไปถึงเทคโนโลยีการขนส่งสมัยใหม่ จะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการสร้างตลาดและมูลค่าเพิ่ม  ซึ่งนับว่าเป็นการถูกกระทบอย่างรุนแรงด้วยเทคโนโลยีหรือนวัตกรรม หรือที่เราเรียกว่า “Disruptive Technology” ทำให้เกมธุรกิจเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือได้หากเราตามไม่ทัน 

เทคโนโลยีสมัยใหม่จะเข้ามายกระดับซัพพลายเชน (Supply Chain) ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้การบริหารจัดการคลังสินค้า การขนส่ง  และอื่น ๆ มีความสะดวกสบาย ปลอดภัย และสามารถสืบค้นข้อมูลย้อนกลับได้ ทั้งต่อผู้ใช้ และผู้ให้บริการ ด้วยเวลาที่รวดเร็วและต้นทุนที่แข่งขันได้  ซึ่งการอัปเกรดให้งานโลจิสติกส์เป็น Smart Logistics หรือ Intelligent Logistics ต้องหันมาพิจารณาเทคโนโลยีสำคัญของยุคนี้ ได้แก่ RFID, เซนเซอร์ดิจิทัล (Digital Sensors), คลังสินค้าอัจฉริยะ (Smart Warehouse), ระบบบริหารจัดการคลังสินค้า (WMS: Warehouse Management System), โดรน (Drone), หุ่นยนต์ส่งสินค้า (Delivery Robot), และระบบขับขี่อัตโนมัติ (Autonomous Driving) เพื่อนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมในแต่ละธุรกิจ


RFID

Radio Frequency Identification (RFID) เทคโนโลยีการระบุเอกลักษณ์ด้วยคลื่นวิทยุ เป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่ถูกคาดการณ์ว่าจะมีความสำคัญในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์เป็นอย่างยิ่ง และเริ่มมีการนำเข้ามาใช้ภายในอุตสาหกรรมบ้างแล้ว โดยถูกใช้งานในรูปแบบของ RFID Tag แผ่นป้ายขนาดเล็กซึ่งจะถูกติดลงบนสินค้า หรือบรรจุภัณฑ์ และสามารถอ่านค่าด้วยเครื่องแสกน เพื่อให้สามารถมองเห็นสินค้าได้ในทุกขั้นตอน ทำให้การติดตามและสืบค้นเป็นไปโดยง่าย โดยผู้ใช้สามารถใช้เครื่องแสกนเพื่อตรวจสอบสินค้าได้จากทางไกล โดยไม่จำเป็นต้องนำสินค้าออกมาจากชั้นวาง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อซัพพลายเชนเป็นอย่างยิ่ง โดย RFID Tag นั้น ต่างจากฉลากสินค้าแบบบาร์โค๊ด เนื่องจากประกอบด้วย แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และเสาอากาศสำหรับรับส่งสัญญาณ ทำให้ RFID Tag เป็นต้นทุนที่ต้องจ่ายเพิ่ม โดยอาจมีราคาตั้งแต่ไม่กี่บาท ไปจนถึงประมาณ 1,500 บาท ขึ้นอยู่กับประเภทที่ใช้ ซึ่งหากรวมกับราคาเครื่องแสกน RFID ซึ่งก็มีตั้งแต่หลักหมื่น ไปจนถึงหลักแสน ทำให้เป็นเทคโนโลยีที่เหมาะกับธุรกิจขนาดใหญ่ หรือธุรกิจที่ขายสินค้าราคาสูง อาจไม่เหมาะกับธุรกิจค้าปลีกเท่าใดนัก


Digital Sensors

เซนเซอร์ดิจิทัลสำหรับตรวจวัดค่าต่าง ๆ ของสินค้าที่นอกเหนือไปจากตำแหน่ง เช่น อุณหภูมิ, ความชื้น, และอื่น ๆ เพื่อให้การติดตามสินค้ามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยทั่วไปแล้วเซนเซอร์ดิจิทัลมักถูกใช้งานในอุตสาหกรรมน้ำ และการแปรรูป ส่วนในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ และซัพพลายเชนนั้น Frost & Sullivan สำนักวิเคราะห์แนวโน้มตลาดที่ใหญ่ที่สุดสำนักหนึ่งจากสหรัฐอเมริกา รายงานว่า มีการนำเซ็นเซอร์ชนิดนี้เข้ามาใช้ภายในอุตสหกรรมทั่วโลกแล้วถึง 44% 

โดยทั่วไปในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ใช้เซนเซอร์ดิจิทัลเพื่อการติดตาม และสืบค้นสินค้าย้อนกลับเป็นหลัก ซึ่งช่วยให้บริหารการจัดส่งได้ง่ายขึ้น และเพิ่มความโปร่งใสในการจัดส่งได้อีกด้วย ส่วนเซ็นเซอร์ดิจิทัลแบบอื่น ๆ ที่ได้รับความนิยมคือ เซ็นเซอร์อุณหภูมิ และเซ็นเซอร์การสั่นสะเทือน ซึ่งหากนำข้อมูลเหล่านี้ ไปผนวกเข้ากับระบบ IoT ก็จะช่วยให้เครื่องจักรที่เกี่ยวข้องสามารถตัดสินใจได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ในอุตสาหกรรมอาหาร สามารถใช้เซ็นเซอร์ในการตรวจสอบคุณสถานะของสินค้า เพื่อทำการคัดกรองสินค้าที่ใกล้หมดอายุ หรือสินค้าที่มีข้อบกพร่องออกจากสินค้าอื่น หรือการใช้เซ็นเซอร์บอกตำแหน่ง เพื่อให้หุ่นยนต์หยิบจับสามารถหยิบสินค้าจากชั้นวางได้แม่นยำขึ้น


Smart Warehouse: คลังสินค้าอัจฉริยะ

Smart Warehouse หรือ คลังสินค้าอัจฉริยะ โดยทั่วไปแล้ว หมายถึงคลังสินค้าที่มีการนำระบบอัตโนมัติมาใช้งาน แต่ในความเป็นจริงแล้ว หมายรวมไปถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างทั่วถึง เพื่อให้ได้เป็นคลังสินค้าที่มีความสามารถในการรับออเดอร์ ตรวจสอบ จัดเรียง และขนส่งสินค้าได้ด้วยตัวเอง ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้โดยง่าย เนื่องจากจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีหลายชนิด ทั้งปัญญาประดิษฐ์, IoT, หุ่นยนต์หยิบจับ (Picking Robot), สายพานอัตโนมัติ และอื่น ๆ โดยมีส่วนที่สำคัญที่สุดคือ ระบบบริหารจัดการ


Warehouse Management System (WMS)

ระบบบริหารจัดการคลังสินค้า หรือ WMS เป็นซอฟต์แวร์ที่ถูกออกแบบขึ้นเพื่อใช้ในกรณีที่คลังสินค้ามีขนาดใหญ่ และมีสินค้าจำนวนมากเกินกว่าจะบริหารได้ด้วยมนุษย์ทั้งหมด ปัจจุบันถูกใช้งานในคลังสินค้าหลายแห่งทั่วโลก และเป็นที่คาดการณ์ว่าจะแพร่หลาย และมีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต โดยมีฟังก์ชันหลักคือ การบันทึกข้อมูลสินค้าในคลัง เช่น จำนวนสินค้า, ตำแหน่งสินค้า, ขนาด, น้ำหนัก การจัดทำฉลากสินค้าอัตโนมัติ บันทึกข้อมูลว่าสินค้าชนิดใด จะต้องขนย้ายแบบใด ไปจนถึงการคำนวณการขนย้าย โดยโปรแกรมจำนวนหนึ่ง สามารถรับข้อมูลจากผู้ใช้ เพื่อคำนวณว่า การลำเลียงสินค้าในหนึ่งล็อต จะต้องใช้พนักงานกี่คน ใช้เครื่องมืออะไร และใช้เวลาประมาณเท่าใด อย่างไรก็ตาม ระบบบริหารจัดการสินค้า จะไม่อาจทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ หากข้อมูลที่มีไม่เพียงพอ จึงมักใช้คู่กับเทคโนโลยี RFID, เซนเซอร์, ระบบหยิบจับอัตโนมัติ, และอื่น ๆ มากกว่าการใช้งานเดี่ยว ๆ


โดรน

โดรน (Drone) หรือ อากาศยานไร้คนขับ เทคโนโลยีที่ในปัจจุบัน ธุรกิจหลายรายเริ่มพิจารณา และพัฒนาเพื่อใช้ในการขนส่งสินค้า โดยการใช้โดรนเพื่อการโลจิสติกส์นั้น เบื้องต้นถูกคาดการณ์ว่าจะเป็นการใช้งานภายในคลังสินค้าเป็นหลัก เนื่องจากโดรนสามารถบรรทุกน้ำหนักได้น้อยเมื่อเทียบกับการขนส่งรูปแบบอื่น และเลือกใช้ระบบลำเลียงสินค้าอย่างสายพานอัตโนมัติ หรือหุ่นยนต์ลำเลียงสินค้าแทน จึงยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า การใช้โดรนในคลังสินค้า จะเป็นที่แพร่หลายได้จริงหรือไม่ และการใช้งานอีกรูปแบบ คือ การขนส่งสินค้าเข้าสู่พื้นที่ห่างไกลถนน หรือกันดาร เช่น หมู่เกาะ ยกตัวอย่างเช่นบริการ Amazon Prime Air ของบริษัท Amazon ซึ่งคาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ในบางพื้นที่ภายในปลายปี 2019 ซึ่งโดรนมีทั้งแบบควบคุมทางไกลผ่านรีโมท และแบบที่ทำงานได้โดยอัตโนมัติ

Delivery Robots


Photo: FedEx

หุ่นยนต์จัดส่งสินค้า (Delivery Robot) ซึ่งถูกพัฒนาให้ทำงานร่วมกับ หรือแทนที่พนักงานขนส่ง เพื่อรองรับกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่กำลังรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหุ่นยนต์จะทำหน้าที่ลำเลียงสินค้าลงจากรถ แล้วส่งไปถึงหน้าประตูบ้านผู้รับ ซึ่งในภาคอุตสาหกรรม เล็งเห็นว่า การใช้พนักงานขับรถให้ทำหน้าที่ขนส่งด้วย เป็นขั้นตอนที่กินเวลา และแรงงานมาก รวมถึงไม่เหมาะสมอย่างยิ่งในกรณีที่ผู้รับอยู่ในอาคาร หรือพื้นที่ขนาดใหญ่ซึ่งไม่อนุญาตให้นำรถเข้า Delivery Robot จึงถูกออกแบบมาให้ทำงานคู่กับรถบรรทุกเป็นหลัก และทำหน้าที่การจัดส่งขั้นตอนสุดท้ายที่เรียกว่า “Last Mile” หรือใช้งานคู่กับรถบรรทุกไร้คนขับ อย่างที่ FedEx ได้นำเสนอไปเมื่อช่วงกลางปี 2019 ที่ผ่านมา ในขณะที่ Continental AG ออกแบบให้หุ่นยนต์ของบริษัทตนใช้ขาแทนล้อ เพื่อให้สามารถเดินบนทางเท้า และขึ้นลงบันไดได้ นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาหุ่นยนต์ขนส่งขนาดเล็ก เพื่อใช้ในธุรกิจ Food Chain อีกด้วย อย่างไรก็ตาม มีผู้แสดงความกังวลว่า หากใช้หุ่นยนต์ขนส่งแล้ว จะมีมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างไร หรือจะป้องกันไม่ให้สินค้าถูกขโมยได้อย่างไร


ระบบขับขี่อัตโนมัติ และรถบรรทุกไร้คนขับ

แน่นอนว่าหากการพัฒนาระบบขับขี่อัตโนมัติแล้วเสร็จ เทคโนโลยีนี้จะไม่หยุดอยู่ที่รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเท่านั้น แต่รวมไปถึงรถบรรทุกอีกด้วย ส่งผลให้ผู้ผลิตยานยนต์หลายรายให้ความสำคัญกับการพัฒนาให้ใช้งานได้จริงในเร็ววัน ซึ่งระบบขับขี่อัตโนมัติในช่วงแรกจะช่วยในการลดภาระของพนักงานขับขี่เป็นหลัก ด้วยการให้คนขับนั่งไปกับรถ และใช้ระบบขับขี่อัตโนมัติในเส้นทางที่กำหนดไว้ เพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งสินค้า ด้วยการใช้ขบวนรถบรรทุกอัตโนมัติ โดยรถบรรทุกปกติ 1 คัน คู่กับรถบรรทุกไร้คนขับ 1 คัน หรือกระทั่งแทนที่ได้ในท้ายสุด ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมนี้ได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า รถบรรทุกไร้คนขับ จะยังไม่เกิดขึ้นจริงในเร็ววัน เนื่องจากประเด็นด้านความปลอดภัย ที่มีอุปสรรคในการพัฒนาสูงกว่ารถยนต์นั่งส่วนบุคคลมาก

นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีอื่น ๆ อีกมาก ทั้งที่มีการใช้งานจริงแล้ว หรืออยู่ระหว่างการพัฒนา อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องตัดสินใจเองว่า เทคโนโลยีใดเหมาะสม หรือไม่เหมาะสมกับธุรกิจตน จึงจะสามารถนำมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพได้

สำหรับผู้ประกอบธุรกิจโลจิสติกส์ หรือผู้ต้องการพัฒนาซัพพลายเชน รวมทั้งผู้สนที่ใจ พลาดไม่ได้สำหรับร่งาน TILOG-LOGISTIX 2019 งานแสดงสินค้าและบริการด้านโลจิสติกส์ เทคโนโลยี และโซลูชันด้านอินทราโลจิสติกส์ที่ครบครันที่สุด ภายใต้แนวคิด “Transformation and Collaboration for Tomorrow” เพื่อส่งเสริมศักยภาพทางการค้าและการแข่งขันแก่ผู้ประกอบการและนักโลจิสติกส์ทั่วภูมิภาคอาเซียน พร้อมจัดแสดงเทคโนโลยี นวัตกรรม ตั้งแต่โซลูชันพื้นฐานไปจนถึงนวัตกรรมอัจฉริยะ ที่จะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด นำเสนอทางเลือกใหม่ให้กับผู้ประกอบการ เชื่อมโยงเครือข่ายผ่านการเจรจาธุรกิจ โดยในครั้งนี้ได้รับการตอบรับจากคณะผู้แทนการค้าจากต่างประเทศเข้าร่วมงานและเจรจาธุรกิจกว่า 500 ราย จากจีน ไต้หวัน มาเลเซีย และกลุ่มประเทศ CLMV พร้อมกิจกรรมมากมาย เช่น พบเทคโนโลยีโดรน นวัตกรรมโลจิสติกส์แห่งอนาคตที่โซน “Innovation Showcase” เรียนรู้จากแนวคิดและกลยุทธ์ของผู้นำวงการโลจิสติกส์ เพื่อพัฒนามาตรฐานธุรกิจสู่ระดับสากล ณ “ELMA Showcase” เทคโนโลยีระบบบริหารจัดการโลจิสติกส์จากสตาร์ทอัพไทยที่ “Logistics Startup Pavilion” 

TILOG-LOGISTIX 2019 จัดขึ้นโดย กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับ บริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ จำกัด ระหว่างวันที่ 28-30 สิงหาคม 2562 ณ ฮอลล์ 98 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค (BITEC) บางนา

 

#เทคโนโลยีโลจิสติกส์ #เทคโนโลยีขนส่ง ตัวอย่าง #เทคโนโลยีการขนส่งสมัยใหม่ #เทคโนโลยีที่ใช้ในการขนส่ง #Smart Logistics #เทคโนโลยี Smart Logistics #Intelligent Logistics #เทคโนโลยี Intelligent Logistics #เทคโนโลยีทางการขนส่ง มีอะไรบ้าง #เทคโนโลยีที่ใช้ในโลจิสติกส์ #เทคโนโลยีในการขนส่งสินค้า

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ