EA รุกหนัก ระดมทัพ R&D หนุนแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนสุดตัว
หากการเข้าสู่ธุรกิจพลังงาน บุกเบิกลงทุนไบโอดีเซลในปี 2549 ยุคที่น้ำมันเชื้อเพลิงยังพุ่งทะยาน เป็นคลื่นลงทุนแรกของ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)
ตามมาด้วยคลื่นลงทุนที่ 2 สู่พลังงานสะอาด ทั้งลมและแสงอาทิตย์ ซึ่งมีความยั่งยืน และไม่ส่งผลกระทบถึงสิ่งแวดล้อม
เพราะฉะนั้น การโดดเข้าสู่ธุรกิจพัฒนาและผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน น่าจะเป็น third wave ยกระดับบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ ที่คุ้นเคยในชื่อ EA ไปอีกสเต็ปหนึ่งเลยทีเดียว
เนื่องจากแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน คือ ต้นน้ำไปสู่ธุรกิจอื่น ๆ อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า พลังงานไฟฟ้าสะอาด ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ไฟฟ้า, energy storage ซึ่งล้วนแต่เป็นเทรนด์โลกในอนาคต
เดินหน้าแบตเตอรี่ลิเทียมเต็มตัว
ที่ผ่านมา EA นำร่องธุรกิจที่ต้องพึ่งพาแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนไปบ้างแล้ว อาทิ สถานีอัดประจุไฟฟ้า (หัวชาร์จ) สำหรับรถยนต์ EV ไฟฟ้า ภายใต้เครื่องหมายการค้า EA Anywhere โดยที่ล่าสุด EA จับมือเป็นพาร์ตเนอร์กับเชฟรอน, บริดจสโตน, ซีพี ออลล์ และโรบินสัน ด้วยเป้าหมายสถานีชาร์จ 1,000 แห่งในปีนี้
ในขณะที่รถยนต์ EV ภายใต้ชื่อ Mine Mobility ซึ่งมียอดจับจองช่วงเปิดตัวในงานมอเตอร์โชว์ที่ผ่านมาถึง 4,558 คัน บวกเข้ากับเรือไฟฟ้ารับส่งผู้โดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยาที่เพิ่งเปิดตัวไป
ทั้งรถ EV และเรือไฟฟ้าที่กำลังเกิดขึ้น EA เคลมด้วยว่า ออกแบบและพัฒนาโดยฝีมือคนไทย รวมถึงมีโอกาสที่ Mine Mobility จะเป็นรถ EV ที่ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินการในเมืองไทยทั้ง 100%
อย่างไรก็ตาม การก้าวสู่เป้าหมายดังกล่าว คือ เหตุผลสำคัญทำให้ EA แสวงหาเทคโนโลยีและโนว์ฮาวการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน
และมีบทสรุปที่การเข้าไปซื้อหุ้นของบริษัท Amita Technologies ผู้นำในธุรกิจแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนโพลิเมอร์ ไต้หวัน ตั้งแต่เมื่อปลายปี 2559
ขุมทรัพย์โนว์ฮาว-พลังใต้ปีก
สมโภชน์ อาหุนัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) บอกว่า EA รู้มาตลอดตั้งแต่ครั้งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯว่า จำเป็นต้องเตรียมตัวให้พร้อมกับอนาคต จากจุดเริ่มต้นในไบโอดีเซล ตามด้วยพลังงานลมและแสงแดด เชื่อว่า energy storage ต้องมาแน่ ๆ
หลังจากพยายามเสาะหาพาร์ตเนอร์ที่มีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีนี้จริง ๆ จึงมีบทสรุปที่บริษัท Amita และเริ่มเข้าไปซื้อหุ้นจากผู้ลงทุนรายเดิม จนปัจจุบันมีสัดส่วนหุ้นมากกว่า 70%
สมโภชน์บอกกับผู้สื่อข่าวจากประเทศไทยที่ร่วมขบวนเยี่ยมชมเทคโนโลยีของ Amita ถึงไต้หวันว่า “ช่วงนั้นผมศึกษาว่าแบตเตอรี่ในโลกมีกี่ชนิด เดินทางไปดูงานตามที่ต่าง ๆ สุดท้ายคิดว่าต้องเป็นลิเทียม ซึ่งผมต้องมา นั่งดูต่อว่าลิเทียมมีกี่เทคโนโลยี มีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร ตระเวนคุยกับคนที่มีความรู้ ไปดูโรงงานที่ต่าง ๆ จนมาเจอ Amita”
ถามว่าทำไมต้องเป็นบริษัทนี้ “สิ่งที่เราพบคือ Amita เป็นตัวจริงในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ เป็นนักคิด นักพัฒนา ตัวผู้ก่อตั้งคือ ดร.จิม เฉิง เชี่ยวชาญด้านนี้จริง ๆ ได้รับรางวัลระดับโลกมาแล้ว มีศักยภาพระดับออกแบบเครื่องจักรการผลิตได้ แต่มีจุดอ่อนด้านการตลาด ทำให้ผลประกอบการออกมาไม่ดีนัก ซึ่ง EA สามารถเติมเต็มในสิ่งเหล่านี้ได้”
สยายปีก R&D
การเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท Amita ทำให้ EA ได้รับการสนับสนุนจาก Industrial Technology Research (ITRI) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยและพัฒนาของไต้หวัน ซึ่งได้รับการยอมรับในระดับโลกในเรื่องของการคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูง มีผลงานมากมายที่นำไปยกระดับอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของไต้หวันและของโลก ก่อให้เกิดสตาร์ตอัพถึง 143 ราย
“โปรไฟล์ของ ITRI เป็นศูนย์รวมนักคิดนักพัฒนาระดับด็อกเตอร์ถึง 1,434 คน ระดับผู้เชี่ยวชาญ 3,685 คน มีผลงานสิทธิบัตรมหาศาลถึง 28,045 ใบ”
สิ่งสำคัญในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนก็คือประสิทธิภาพ และความปลอดภัยในการใช้งาน ตัวแบตเตอรี่ที่ Amita และ ITRI คิดและผลิตขึ้นจะมีเทคนิคการขึ้นรูปแบบซิกแซ็ก แยกขั้วบวก-ลบ ง่ายต่อการรีไซเคิล สามารถชาร์จไฟเข้า-ออกได้ถึง 10,000 ครั้ง ทำให้อายุการใช้งานนานถึง 10 ปี นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีที่ชื่อ Stoba ป้องกันปัญหาแบตเตอรี่ลัดวงจร ช่วยให้การใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าปลอดภัย
Amita ให้ข้อมูลกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สาร Stoba ที่ ITRI และ Amita พัฒนาขึ้น ทำหน้าที่เป็นเหมือนฉนวน ป้องกันไม่ให้แบตเตอรี่ลุกไหม้จากความร้อนที่พุ่งสูง หรือระเบิดจากการลัดวงจร ที่สำคัญในลิขสิทธิ์ในตัว Stoba ทำให้ EA ได้รับกรรมสิทธิ์ไปด้วยในตัว
แน่นอนว่าทั้ง Amita และ ITRI จะเป็นขุมกำลังสำคัญ รวมทั้งโนว์ฮาวความรู้ต่าง ๆ ที่จะเข้าไปสนับสนุนแผนการลงทุนของ EA ในโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ในนิคมอุตสาหกรรมบลูเทค ซิตี้ ฉะเชิงเทรา
“การลงทุนโรงงานแบตเตอรี่ที่เกิดขึ้นจะใช้เครื่องจักรทันสมัยที่สุด มีกำลังการผลิตในเฟสแรก 1 กิกะวัตต์ต่อชั่วโมง(GWh) ด้วยเงินลงทุน 5,000 ล้านบาทและขยายการลงทุนในเฟสที่ 2 อีก 49 กิกะวัตต์ (GWh) ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ใช้เงินลงทุนมากกว่าแสนล้านบาท”
Energy Storage ใกล้แค่เอื้อม
แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนจะเอื้อให้เกิดประโยชน์ทางธุรกิจอย่างไรในอนาคต ในเบื้องต้นตัวรถยนต์ EV ภายใต้ชื่อ Mine Mobility รวมถึงเรือไฟฟ้า น่าจะเป็นโปรดักต์ที่มีบทบาทในวงกว้าง รวมถึงโอกาสในการเป็นผู้ซัพพลายแบตเตอรี่ให้กับผู้ผลิตในอุตสาหกรรมต่าง ๆ
อีกบทบาทหนึ่ง EA น่าจะนำแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่ผลิตได้ มุ่งไปที่การบริหารจัดการต้นทุนกับพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จากแสงอาทิตย์ และพลังงานลมด้วยการพัฒนาเป็นระบบกักเก็บพลังงาน (energy storage) ช่วยให้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนมีเสถียรภาพมาก
ขึ้นขึ้นชื่อว่าธรรมชาติเป็นเรื่องยากต่อการคาดเดา บางวันแดดแรง บางวันไม่มีแดด เช่นเดียวกับพลังงานลม ทำให้ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ไม่แน่นอน มากบ้าง น้อยบ้าง ซึ่งจุดนี้ถ้ามีตัวกักเก็บพลังงานไฟฟ้าเข้ามา
เวลาผลิตได้มากส่งเข้าไปเก็บไว้ในแบตเตอรี่ และปล่อยออกสู่ระบบในช่วงที่ผลิตได้น้อย
พุ่งเป้า Regional Market
EA มองยุทธศาสตร์การลงทุนในอนาคต energy storage จะมีบทบาทให้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนเสถียร และต้นทุนที่จะผลิตต่อหน่วยจะใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้าประเภทก๊าซ หรือถ่านหิน ในอนาคตโรงไฟฟ้าซึ่งมีมลพิษจะลดบทบาทลง โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจะสามารถเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ด้วยต้นทุนที่ไม่แตกต่างหรืออาจจะดีกว่าด้วยซ้ำไปในอนาคต
ทำนองเดียวกัน ด้วยหลักการ on peak และ off peak การใช้พลังงานไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลาที่ไม่เท่ากัน แต่การจ่ายกระแสไฟต้องสม่ำเสมอตลอดเวลา
สามารถนำ energy storage ที่ว่านี้ไปใช้กับระบบการผลิตไฟฟ้าแบบ decentralized power system ลดการลงทุนในระบบสายส่งขนาดใหญ่ ลดการสูญเสียพลังงาน และมีความคล่องตัว
เป็นไปได้ว่าในอนาคตอันใกล้นี้ มีโอกาสที่ EA จะขยายระบบการผลิตไฟฟ้าที่ว่านี้ไปสู่ภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจ ตลอดจนผู้ใช้ไฟฟ้าระดับครัวเรือน รวมทั้งอาจขยายไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน
“ตลาดของแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนไม่ได้จำกัดอยู่แค่เมืองไทย จะเป็น regionalmarket และไม่ใช่สินค้าที่ผลิตเพื่อส่งออกไปไกล ๆ เพราะมีต้นทุนขนส่งเข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าเราทำสิ่งนี้ขึ้นมาในเมืองไทยได้นี่จะเป็นโอกาสของเรา” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวทิ้งท้าย