วิศวะฯ ธรรมศาสตร์ สร้างนวัตกรรมต่อยอดเทคโนโลยี 5G

อัปเดตล่าสุด 24 ก.พ. 2563
  • Share :
  • 819 Reads   

เทคโนโลยี 5G หนึ่งในเทรนด์ที่มาแรงที่สุดของปีและของโลก จะเข้ามาพลิกโฉมเศรษฐกิจและสังคมครั้งใหญ่ เพื่อก้าวสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว ซึ่งรวมถึงประเทศไทย  ความเร็วของการสื่อสารข้อมูลและประสิทธิภาพของเทคโนโลยี จะเข้ามาปฏิวัติอุตสาหกรรมสู่ 4.0  เกิดการทรานส์ฟอร์เมชั่นของภาคธุรกิจทุกมิติ  ซึ่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) หรือ TSE ในฐานะผู้ผลิตบัณฑิตสู่ตลาดแรงงาน จึงบ่มเพาะบัณฑิตยุคใหม่ภายใต้แนวคิด “เป็นมากกว่าวิศวกร” (Engineering and Beyond) ที่สร้างสรรค์นวัตกรรมโดดเด่นทางด้านซอฟต์แวร์ และระบบเชื่อมโยงรองรับกับเครือข่ายของเทคโนโลยี 5G ใน 3 ลักษณะ ได้แก่ 

  • การสื่อสารความเร็วสูงผ่านเครือข่ายเคลื่อนที่ไร้สาย (Enhanced Mobile Broadband : eMBB) ส่งผลให้การสื่อสารเคลื่อนที่ ที่เครือข่ายสามารถรับ-ส่งข้อมูลได้เร็วขึ้นหรือได้ปริมาณมากขึ้นโดยใช้เวลาที่น้อยลง ในส่วนนี้ TSE จะต่อยอดระบบ “ซอฟต์แวร์เอไอเชสท์ฟอร์ออล” ในบริการ Telemedicine เพื่อให้บริการสื่อสารข้อมูลทางการแพทย์และผลการวิเคราะห์ที่รวดเร็วยิ่งขึ้น 
  • การสื่อสารที่ต้องการเสถียรภาพและผลตอบสนองรวดเร็ว (Ultra-reliable and low latency communications : URLLC) ทำให้การรับส่งข้อมูลเป็นแบบ Real Time เพื่อนำไปใช้กับระบบที่ต้องมีความแม่นยำสูง เช่น การผ่าตัดทางการแพทย์ระยะไกล รถยนต์ไร้คนขับ Connected Car สำหรับการวิจัยและพัฒนาของ TSE เล็งเห็นถึงการต่อยอดโครงการอนุรักษ์โครงสร้างโบราณสถาน ในอนาคตอาจจะพัฒนาต่อยอดได้ไปจนถึงการท่องเที่ยวโบราณสถานในโลกเสมือนจริง VR (Virtual Reality) และ AR ( Augmented Reality) 
  • การสื่อสารของอุปกรณ์อัจฉริยะจำนวนมาก (Massive machine type communications : mMTC) ยังเน้นการเชื่อมต่ออุปกรณ์จำนวนมากเข้ากับเครือข่าย เช่น อุปกรณ์ loT เซนเซอร์ในอุตสาหกรรม 4.0 ทาง TSE วางแนวทางการวิจัยและพัฒนาจากมิเตอร์อัจฉริยะ หรือต่อยอดระบบควบคุมความดันอัตโนมัติในระบบประปาขนาดใหญ่ ไปสู่การการตรวจวัดตัวแปรอื่น ๆ ในระบบประปาขนาดใหญ่ เช่น อัตราการใช้น้ำประปาในพื้นที่ที่สนใจเฉพาะ และต่อยอดโครงการอนุรักษ์โครงสร้างโบราณสถาน ไปสู่เครือข่ายเซนเซอร์ตรวจวัดตัวแปรต่าง ๆ โบราณสถาน เช่น การสั่นสะเทือน ความชื้น เป็นต้น

ผศ.ดร.ดามพ์เมษ บุณยะเวศ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) หรือ TSE เผยว่า TSE ได้เปิดการเรียนการสอนที่ตอบโจทย์ยุคดิจิทัลครอบคลุม 5 สาขาวิศวกรรมหลัก ได้แก่ 1. วิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ 2. วิศวกรรมอุตสาหการ 3. วิศวกรรมเครื่องกล 4. วิศวกรรมโยธา และ 5. วิศวกรรมเคมี  

ผศ.ดร.ดามพ์เมษ บุณยะเวศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ทั้งนี้ TSE มุ่งผลิตบัณฑิตสู่ตลาดแรงงานภายใต้แนวคิด “เป็นมากกว่าวิศวกร” (Engineering and Beyond) บ่มเพาะบัณฑิตยุคใหม่ที่สร้างสรรค์นวัตกรรมโดดเด่นทางด้านซอฟต์แวร์ หรือกระทั่งระบบเชื่อมโยงรองรับกับเครือข่ายของเทคโนโลยี 5G โดยมีผลงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่หลากหลาย เพื่อรองรับการมาถึงของเทคโนโลยี 5G ผ่านการจับมือร่วมกันของแต่ละสาขาวิชา เพื่อสร้างนวัตกรรมตอบโจทย์กับสังคมที่ทรานส์ฟอร์เมชั่น โดยมีตัวอย่างด้วยกัน 4 นวัตกรรม รายละเอียดดังนี้ 

1. ซอฟต์แวร์เอไอพลิกมิติวงการแพทย์ไทย

วงการแพทย์ของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา ต้องเผชิญกับปัญหาบุคคลากรทางการแพทย์ขาดแคลน และอุปกรณ์การรักษาไม่เพียงพอต่อการรักษาผู้ป่วย TSE ร่วมมือกับกรมการแพทย์และศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางวิชาการด้านสารสนเทศอัจฉริยะ เทคโนโลยีเสียงพูดและภาษา และนวัตกรรมด้านบริการ (CILS) พัฒนา “ซอฟต์แวร์เอไอเชสท์ฟอร์ออล” (AIChest4All) โดยใช้เทคโนโลยี AI มาเรียนรู้ภาพเอกซเรย์ทรวงอกของผู้ป่วยมากกว่า 2 แสนภาพ จากการป่วยด้วยโรคต่าง ๆ เช่น วัณโรค มะเร็งปอด และหัวใจผิดปกติ โดยจะระบุเป็นสีถึงระดับความเสี่ยง คือ เขียวเข้ม เขียวอ่อน เหลือง ส้ม และแดงตามลำดับ พร้อมบอกตำแหน่งที่มีปัญหา สามารถทราบผลคัดกรองได้ในเวลาไม่ถึง 1 นาที และมีความแม่นยำมากกว่า 80% โดยซอฟต์แวร์ดังกล่าวเปิดให้โรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศสามารถใช้ได้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย 


2. ไอโอทีสร้างเกษตรไทยก้าวสู่ฟาร์มอัจฉริยะ

ทาง TSE ได้นำอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT) และ AI มาเป็นพื้นฐานการพัฒนานวัตกรรม “เครื่องนับไข่ไก่อัตโนมัติด้วยกล้องวงจรปิดเอไอ” โดยใช้เทคโนโลยีการวิเคราะห์ภาพวีดิโอจากกล้องวงจรปิด เพื่อนับจำนวนไข่ในฟาร์ม ซึ่งในแต่ละวันมีไข่ไก่บนสายพานจำนวนมาก เพื่อช่วยลดระยะเวลาในการเช็คปริมาณไข่ไก่ที่ผลิตได้ต่อวัน และยังสามารถเช็คจำนวนไข่ไก่ที่ผลิตได้จากอุปกรณ์ต่าง ๆ แบบเรียลไทม์ 

 

3. เทคโนโลยีคลาวด์สู่ระบบจัดการข้อมูลใช้น้ำประปา

ปัจจุบันการจัดเก็บข้อมูลการใช้น้ำของผู้บริโภค ใช้แรงงานของพนักงาน ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายสูง และในแง่กระบวนการทำงานไม่สามารถรวบรวมข้อมูลแบบเรียลไทม์ โดย TSE พัฒนาระบบควบคุมจัดการข้อมูลการใช้น้ำประปาบนระบบคลาวด์ เพื่อสอดรับกับนวัตกรรม “มิเตอร์อัจฉริยะ” อุปกรณ์ตรวจวัดและบริหารจัดการน้ำแบบอัจฉริยะ (Smart Water Meter) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่มีการติดตั้งเซนเซอร์ไว้ในมิเตอร์น้ำ โดยเซนเซอร์ทำหน้าที่ในการวัดอัตราการไหลของน้ำ จึงทำให้รับรู้ถึงการเคลื่อนไหวของระบบน้ำประปาภายในที่อยู่อาศัย และทำการติดตั้งสวิตซ์สำหรับการควบคุมการปิด-เปิดของระบบน้ำประปา ทำให้รู้ว่าภายในที่อยู่อาศัยมีการใช้น้ำและสามารถควบคุมการทำงานผ่านทาง Smart Water Meter เพื่อเข้าสู่เว็บไซต์และนำมาแสดงผลการใช้งานแบบเรียลไทม์บนหน้าเว็บไซต์ที่ทางผู้จัดเก็บทำขึ้น ซึ่งสามารถประยุกต์ให้สอดรับกับการนำคลื่นความถี่ 2600 MHz ของ กสทช. มาใช้กับแผนของ Smart City ในพื้นที่เป้าหมายต่าง ๆ

 

4. สร้างแบบจำลอง 3D อนุรักษ์โบราณสถาน

โบราณสถาน เป็นสถาปัตยกรรมที่ล้ำค่า ซึ่งส่วนใหญ่จะมีความเก่าแก่และมีอายุร่วมกว่า 100 ปี การบูรณะซ่อมแซมโบราณสถานต้องศึกษาจากร่องรอยหลักฐานของโบราณสถานเดิม เพื่อให้สถาปัตยกรรมและศิลปะใกล้เคียงกับแบบเดิมมากที่สุด ทาง TSE ร่วมกับโครงการวิจัย “อนุรักษ์โครงสร้างโบราณสถานตามหลักวิศวกรรม” ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดขึ้น ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อรวบรวมข้อมูลอย่างละเอียดและประเมินความเสียหายของโบราณสถานอย่างแม่นยำ พร้อมกับวางแผนในการบูรณะซ่อมแซมป้องกันได้ทันท่วงที โดย TSE ร่วมวิจัยในโครงการย่อยที่ 2 การสำรวจรูปทรงจากการถ่ายภาพ และสร้างแบบจำลอง 3D การสำรวจพฤติกรรมเชิงพลศาสตร์ของโครงสร้าง เพื่อการสร้างแบบจำลอง 3D ทั้งนี้ ผลลัพธ์ในภาพรวม คือ การยกระดับแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรม เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์แหล่งท่องเที่ยวแหล่งเรียนรู้ทางมรดกศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ 

ภาพการสแกนวัตถุ 3 มิติ สำรวจ เก็บข้อมูลพิกัด วัดไชยวัฒนาราม จ.อยุธยา

นับว่า 5G เป็นเทคโนโลยีที่เป็นคลื่นลูกใหญ่เข้ามาเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ โดยเทคโนโลยีดังกล่าวสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในหลากหลาย เช่น ภาคอุตสาหกรรมสามารถนำ AI หรือมาใช้ในกระบวนการผลิต รองรับกับแรงงานคนที่มีแนวโน้มขาดแคลนในอนาคต ภาคการเกษตรสามารถใช้ IOT ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรได้ดียิ่งขึ้น และทำให้คุณภาพชีวิตของคนไทยก้าวสู่ Smart Life สำหรับประเทศไทย คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำหนดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์  2563 และหากเป็นไปตามแผน คาดว่า ประเทศไทยจะใช้เทคโนโลยี 5G ในเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม 2563 อย่างแน่นอน ผศ.ดร.ดามพ์เมษ กล่าวทิ้งท้าย