"Data Center" เหมืองทองอุตสาหกรรม IT

อัปเดตล่าสุด 5 มิ.ย. 2562
  • Share :
  • 798 Reads   

Data Center (DC) กำลังมาแรง และมณฑลกุ้ยโจว ประเทศจีน เป็นพื้นที่ซึ่งภาคอุตสาหกรรม IT รู้กันดีว่า มีอัตราการเติบโต้ในด้านนี้ก้าวกระโดดมากแค่ไหน ส่งผลให้ธุรกิจ IT รายใหญ่หลายราย เข้าสู่พื้นที่นี้ ผ่านการซื้อกิจการบริษัทในกุ้ยโจว เร่งก่อสร้าง Data Center ของตน พร้อมขยายธุรกิจออกสู่ระดับโลก ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลจีนต่อไป

ซึ่งในยุคสารสนเทศเช่นนี้ อุตสาหกรรม IT ได้เปรียบเทียบว่า “ข้อมูล” ในยุคนี้ เป็นสิ่งที่มีค่ามหาศาล ไม่ต่างจากทอง หรือน้ำมันเลยทีเดียว


Eco Data Center ของบริษัท Tencent โดยมีห้องเซิฟเวอร์อยู่ในอุโมงค์ทางขวาของภาพ

นับตั้งแต่ปี 2015 รัฐบาลจีนได้กำหนดให้กุ้ยโจวเป็น “เขตพัฒนาพิเศษสำหรับ Big Data” ส่งผลให้มณฑลนี้ได้รับความสนใจจากธุรกิจ IT จำนวนมาก ซึ่ง 3 ธุรกิจ IT รายใหญ่ของจีน ได้แก่ Huawei, Alibaba, และ Tencent ได้เข้าก่อสร้าง Data Center ในกุ้ยโจวอย่างถ้วนหน้า นอกจากนี้ ยังมีบริษัทอื่น เช่น Baidu, รวมถึงบริษัท IT ระดับโลกอย่าง Google, Intel, และ Apple เอง ก็ไม่พลาดที่จะเข้าทำธุรกิจในกุ้ยโจวเช่นเดียวกัน ซึ่งปัจจุบัน ในจังหวัดนี้ มีบริษัท และสตาร์ทอัพด้าน Big Data รวมแล้วกว่า 9,000 บริษัท

มณฑลกุ้ยโจว ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจีน มีพื้นที่ 176,000 ตารางกิโลเมตร สูง 1,080 เมตรเหนือน้ำทะเล และมีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีอยู่ที่ 15 องศาเซลเซียส ซึ่งความสูง และสภาพแวดล้อมที่มีภูเขาขนาดเล็กจำนวนมาก ทำให้กุ้ยโจวเหมาะเป็นอย่างยิ่งในการก่อสร้าง Data Center แบบอุโมงค์ หรือที่เรียกว่า “Eco Data Center” ด้วยการเจาะภูเขาลูกเล็ก ๆ สำหรับใช้เป็นพื้นที่จัดวางเซิฟเวอร์ ซึ่งธุรกิจ Data Center ในพื้นที่ ต่างมีรูปแบบการใช้งานที่ต่างกันไป เช่น การบริหารจัดการการจราจร, การตรวจสอบข้อมูลประชากร, การแพทย์ทางไกล, และอื่น ๆ

ปัจจุบัน Tencent ผู้ให้บริการผ่านอินเตอร์เน็ต เช่น WeChatPay กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง Data Center ในกุ้ยโจว ซึ่งผู้รับผิดชอบกล่าวว่า ใช้เวลาสร้างประมาณ 2 ปี ซึ่งปัจจุบันใกล้จะเสร็จสมบูรณ์แล้ว และถูกออกแบบให้มีความทนทานมากเป็นพิเศษ


Eco Data Center ของ Foxconn ซึ่งมีประสิทธิภาพการทำงานสูง และค่าดำเนินงานต่ำ

ส่วน Foxconn ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดของไต้หวันเอง ก็เป็นอีกรายที่สร้าง Eco Data Center ที่กุ้ยโจวเช่นกัน โดยมีโครงสร้างแบบอุโมงค์ทั้งหมด 3 อุโมงค์ ติดตั้งเครื่องเซฺฟเวอร์เอาไว้ในอุโมงค์ 2 ข้าง ส่วนอุโมงค์ตรงกลางใช้ในการระบายความร้อน โดย DC แห่งนี้ รองรับเครื่องเซิฟเวอร์ไว้ถึง 6,000 เครื่อง และมี Power Usage Effectiveness (PUE) อยู่ที่ 1.03 ซึ่งทำให้สามารถประหยัดการใช้ไฟฟ้าได้เป็นอย่างมาก และกลายเป็นต้นแบบให้กับ DC แห่งอื่น ๆ ในกุ้ยโจวหลายแห่ง

Huawei คาดการณ์ว่า DC ของบริษัทตน จะแล้วเสร็จในอีก 2 ปีนับจากนี้ ซึ่งได้ออกแบบให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรอบน้อยที่สุด

ประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมการผลิต

การก่อสร้าง Data Center ไม่ได้เป็นเพียงแค่การตั้งศูนย์ข้อมูลในกุ้ยโจวเท่านั้น แต่เป็นการสร้างศูนย์รวม Big Data ขนาดใหญ่ ที่อุตสาหกรรมการผลิตสามารถใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งในกรณีของกุ้ยโจว รัฐบาลจีนได้ผลักดันให้พื้นที่นี้เป็น “ทรัพยากรณ์ทางข้อมูล” สำหรับภาคธุรกิจ กล่าวคือ ภาคธุรกิจสามารถใช้ข้อมูลจากส่วนนี้ได้ ส่งผลให้ในปี 2015 โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนเม็ดเงินจากรัฐบาล และบริษัทเอกชนรวมแล้วกว่า 50 ล้านหยวน และมีเม็ดเงินหมุนเวียนราว 1.6 - 1.8 ล้านล้านหยวนในปี 2018

ซึ่งขุมข้อมูลจากกุ้ยโจวนี้ เป็นข้อมูลที่มีค่ามากในทางการตลาด ยกตัวอย่างเช่นข้อมูลทางการค้า ว่าบริษัทใด ค้าขายกับบริษัทใด ก็กลายเป็นข้อมูลที่สามารถนำมาใช้วางกลยุทธ์การขายได้ไม่ยาก ซึ่งปัจจุบัน มีบริษัทในอุตสาหกรรมการผลิต การเงิน และบริการรวมแล้วกว่า 200 ราย ใช้ข้อมูลจากกุ้ยโจวแล้วกว่า 4,000 ชุดข้อมูล รวมถึงการนำไปใช้งานทางด้านมาตรการความปลอดภัยต่าง ๆ อีกด้วย 

โดยข้อมูลที่เป็นสาธารณะ เช่น ข้อมูลที่รัฐบาลจีนเปิดเผยเป็นประจำ สามารถซื้อขายได้ในราคาไม่ถึง 1 หยวน ในทางกลับกัน ข้อมูลที่มีมูลค่าสูง เช่น ประวัติการซื้อขายของ Tencent และ Alibaba จะเป็นข้อมูลที่มีราคามหาศาล อย่างไรก็ตาม บริษัทเจ้าของข้อมูล สามารถตัดสินใจได้ว่าจะขายข้อมูลชุดนี้ออกไปหรือไม่ และต้องมีการคัดกรองข้อมูลในส่วนใดก่อน

ปัจจุบัน จีนมีศูนย์รวม Big Data อยู่ใน 11 มณฑล และคาดการณ์ว่า จะเร่งพัฒนาเพิ่มเป็น 30 มณฑลในอนาคต ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะถูกนำไปใช้เป็นขุมข้อมูลทางการเงิน การท่องเที่ยว และการแพทย์ต่อไป


Guiyang Global Big Data Exchange