เยอรมนีมุ่ง “ปฏิวัติ” อุตสาหกรรมลิฟต์ ปี 2021 นี้

อัปเดตล่าสุด 5 ก.ย. 2561
  • Share :
  • 631 Reads   

Thyssenkrupp ผู้ผลิตลิฟต์ค่ายเยอรมันเล็งปฏิวัติวงการอุตสาหกรรมลิฟต์ ด้วยการเปลี่ยนมาใช้มอเตอร์ในการเคลื่อนตู้เคบิน (ตู้โดยสาร) แทนการใช้ลวดสลิง และออกแบบให้สามารถเคลื่อนที่ในแนวนอนได้ พร้อมตั้งเป้าผลิตใช้งานจริงในปี 2021 ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า หากลิฟต์ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างมาเป็นระยะเวลาถึง 160 ปีมีการเปลี่ยนแปลงแล้ว อาคารต่าง ๆ รวมถึงโครงสร้างเมืองอาจจะเปลี่ยนไปด้วยก็เป็นได้

ไม่เกี่ยงความสูง

Mr. Andreas Schierenbeck CEO บริษัท Thyssenkrupp Elevator กล่าวแสดงความเห็นถึงการมุ่งปฏิวัติการลิฟต์ของบริษัทว่า  “เราจะกลายเป็นผู้นำนวัตกรรมอย่างแน่นอน”

ลิฟต์ที่ถูกพัฒนานี้ ใช้ชื่อว่า “MULTI” ซึ่งเคลื่อนไหวด้วยการใช้ Linear Motor เคลื่อนตัวไปตามรางที่ติดตั้งไว้กับกำแพงอาคาร โดยติดตั้งช่องชาฟต์ (Shaft) ช่องภายในอาคารสำหรับให้ลิฟต์เคลื่อนที่ไว้ทั้งแนวตั้งและแนวนอน ทำให้ลิฟต์สามารถเคลื่อนที่หลายเคบินพร้อมกันได้ในช่องชาฟท์เดียวกัน รวมถึงสามารถเคลื่อนที่ได้ทั้ง 4 ทิศทาง

ซอฟต์แวร์ควบคุมลิฟต์ ถูกพัฒนาให้มีคุณสมบัติในการคำนวณหาเส้นทางที่สั้นที่สุด เมื่อผู้โดยสารกดเลือกห้องที่ต้องการแล้ว ซอฟต์แวร์จึงจะทำการคำนวณเส้นทางที่เหมาะสมโดยไม่ไปทับซ้อนกับเคบินอื่น และเคลื่อนที่ได้ด้วยความเร็วสูง ทำให้ไปถึงที่หมายได้ด้วยระยะเวลาเพียง 15 - 30 วินาที แม้จะเป็นอาคารซึ่งมีความสูงมากก็ตาม

CEO Schierenbeck กล่าวถึงที่มาของความคิดว่า “ถ้ารถไฟที่หนัก 500 ตันยังวิ่งไปตามรางได้ ลิฟต์ที่หนักเพียง 1 ตันก็ต้องทำได้” ซึ่งปัจจุบัน Thyssenkrupp Elevator มีส่วนแบ่งในตลาดลิฟต์เป็นลำดับ 1 ในยุโรป และลำดับ 4 ในตลาดโลก ซึ่งเทคโนโลยีที่ใช้ในการพัฒนาลิฟต์ในครั้งนี้ ได้มาจากธุรกิจด้านรางรถไฟในเครือ Thyssenkrupp ซึ่งมีประสบการณ์การร่วมพัฒนารถไฟความเร็วสูงของประเทศจีน

ประหยัดพื้นที่กว่าครึ่ง

ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของลิฟต์ประเภทนี้คือราคา ซึ่งสูงกว่าลิฟต์ในปัจจุบัน 3 - 5 เท่า โดยบริษัทคู่แข่งได้กล่าวแสดงความเห็นว่า “ไม่แน่ใจนักว่าจะได้รับความนิยมจริงไหม” อย่างไรก็ตาม CEO Schierenbeck ได้โต้ตอบอย่างมั่นใจว่า “ข้อดีจากการประหยัดพื้นที่ได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของลิฟต์แบบเดิม ๆ นั้นคุ้มค่า” และหากนำพื้นที่เหลือใช้นี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์หรือปล่อยเช่าก็จะสามารถคืนทุนได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งทางบริษัทคำนวณว่า หากนำลิฟต์นี้ไปติดตั้งในอาคาร 100 ชั้นในเมืองใหญ่อย่างแมนฮัตตันแล้ว ในระยะเวลา 10 ปี จะสามารถลดค่าใช้จ่ายได้มากถึง 1 - 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ ทางบริษัทยังเล็งเห็นว่าปัจจุบัน อาคารสูงเป็นที่แพร่หลายมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากพื้นที่ในตัวเมืองซึ่งมีจำกัด อย่างไรก็ตาม ยิ่งอาคารสูงมาก โครงสร้างสำหรับลิฟต์จะยิ่งใช้พื้นที่มากตาม ซึ่งปัจจุบัน สามารถลดขนาดพื้นที่นี้ให้น้อยได้ที่สุดคือประมาณ 40% ของพื้นที่ชั้น

โดยลิฟต์ที่ Thyssenkrupp พัฒนาขึ้นนี้ มีกำหนดใช้งานที่แรกคืออาคารในเมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ในปี 2021 และโครงการอื่น ๆ อีก 20 โครงการซึ่งอยู่ระหว่างรอการยืนยัน ซึ่งปัจจุบัน ญี่ปุ่นก็อยู่ระหว่างการยื่นข้อเสนอเช่นเดียวกัน

Thyssenkrupp จะสามารถยกระดับขึ้นมาเทียบเคียง OTIS และ Schindler Group ในอุตสาหกรรมนี้ได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่า “MULTI” จะได้รับการยอมรับจนเป็นที่แพร่หลายหรือไม่แล้ว