5 สิ่งที่ ‘ผู้ผลิตชิ้นส่วน ต้องรู้และทำเป็น’ เพื่อเข้าสู่ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์

อัปเดตล่าสุด 12 มี.ค. 2563
  • Share :
  • 1,525 Reads   

อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S curve) ที่ได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และดันประเทศไทยให้เป็น ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) แห่งเอเซียภายในปี 2568 กอปรกับการเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุและการเข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) จึงทำให้นักลงทุนและผู้ประกอบการหันมาให้ความสนใจในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเครื่องมือแพทย์ ซึ่งรวมถึงผู้ผลิตชิ้นส่วนที่เล็งเห็นถึงความได้เปรียบของตนในการเข้าสู่อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ด้วยองค์ความรู้ ทักษะ และเครื่องจักรอุปกรณ์ ที่มีอยู่จึงสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวได้เป็นอย่างดี  

สำหรับบทความนี้ เรานำข้อแนะนำจากบริษัทด้านโลหะการที่ผันตัวเข้าสู่อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในประเทศญี่ปุ่น มาแบ่งปันให้ผู้ประกอบการไทยได้นำไปใช้ประโยชน์

Mr. Masuo Hiroshige ผู้จัดการ Technical Center บริษัท Metal Technology

Mr. Masuo Hiroshige ผู้จัดการ Technical Center - Metal Technology บริษัทด้านโลหะการสัญชาติญี่ปุ่น แสดงความเห็นว่า “องค์ความรู้จากงานโลหะการที่สามารถนำมาปรับใช้ในการเข้าสู่อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ได้ คือ การกัดชิ้นงาน, การเชื่อม, และการขึ้นรูป ซึ่งในครั้งนี้ ทางบริษัทได้เลือกใช้ข้อมูล CT Scan และเทคโนโลยี Metal 3D Printing ในการผลิต Implant สำหรับกระดูก เนื่องจากเล็งเห็นว่า เทคโนโลยีนี้มีอิสระในการออกแบบ สามารถผลิตชิ้นงานให้ตรงกับความต้องการของคนไข้แต่ละคนได้”

การผลิต Implant สำหรับกระดูก ซึ่งเป็นชิ้นงานที่มีความซับซ้อนสูงนั้น หากนำ 3D Printer มาใช้ในการผลิต จะช่วยลดเวลาได้เป็นอย่างมาก จากวิธีดั้งเดิมที่ผลิตโดยการแมชชีนนิ่งด้วยเครื่องจักรกล (Machine Tools) ใช้เวลาผลิต 2-3 วัน แต่เมื่อเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยี 3D Printing แล้วจะใช้เวลาในการผลิตเพียง 1 วันเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เลือกใช้ไทเทเนียมเป็นวัสดุ ซึ่งเนื้อของไทเทเนียมสามารถกัดได้ยาก ทำให้ต้นทุนการผลิตผ่าน Machine Tools สูง

Etsuko Ayaka ประธานบริษัท Ammtec แสดงความเห็นว่า “ปัจจุบันการใช้งาน 3D Printer เป็นที่แพร่หลายมากขึ้นในอุตสาหกรรมอากาศยาน อย่างไรก็ตาม การนำมาใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องมืแพทย์ยังมีน้อย โดย   สาเหตุที่ไม่แพร่หลายในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ เกิดจากการขาดแคลนทักษะ เนื่องจากผู้ใช้ 3D Printer จำเป็นต้องมีความสามารถในการทำงานระดับสูง เนื่องจากชิ้นงานต้องการคุณภาพที่มีความเที่ยงตรงที่สุด”

Etsuko Ayaka ประธานบริษัท Ammtec

Metal Technology แสดงความเห็นว่า ในการผลิตเครื่องมือแพทย์นั้น ทักษะที่จำเป็นไม่ได้มีเพียงทักษะทางด้านโลหะการเท่านั้น แต่งาน Post Process อย่าง Surface Treatment และ Vacuum Heat Treatment เองก็จำเป็นไม่แพ้กัน ซึ่งบริษัทที่มีทักษะเหล่านี้อยู่แล้ว จะสามารถนำมาช่วยในการสร้างความได้เปรียบให้เกิดขึ้นได้
Mr. Masuo Hiroshige กล่าวต่อว่า ในอุตสาหกรรมการแพทย์ การตรวจสอบคุณภาพสินค้ามีความเข้มงวดมาก ดังนั้นการหาพาร์ทเนอร์ที่มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมการแพทย์จะเป็นอีกปัจจัยที่ควรให้ความสำคัญ

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมอากาศยานก็มีความเป็นไปได้ที่สามารถขยับขยายเข้าสู่อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ซึ่งการผลิตชิ้นงานมีมาตรฐานสูงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โดยเปรียบเทียบว่า 

อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ และอุตสาหกรรมอากาศยาน มีจุดที่เหมือนกันคือ “ความรับผิดชอบ” ต่อชีวิตของผู้ใช้สินค้า ซึ่งในรายหนึ่งคือคนไข้ และอีกรายคือผู้โดยสาร 

ดังนั้น การมีเทคโนโลยีการผลิตชิ้นงานคุณภาพสูงนี้เอง ที่สามารถใช้เป็นจุดขายในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ได้อย่างมากอีกด้วบ

สิ่งที่ผู้ผลิตชิ้นส่วน "ต้องรู้และทำเป็น" เพื่อเข้าสู่ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ได้แก่

  1. ความรู้และทักษะ ด้านโลหะการ โดยเฉพาะการกัดชิ้นงาน การเชื่อม และการขึ้นรูป
  2. เทคโนโลยี Metal 3D Printing 
  3. งาน Post Process เช่น Surface Treatment และ Vacuum Heat Treatment
  4. เทคโนโลยีการผลิตชิ้นงานคุณภาพสูง
  5. ความรับผิดชอบต่อชีวิตของผู้ใช้สินค้า