สมาคม System Integrator ญี่ปุ่นเผย 2 เทคโนโลยีออโตเมชันเตรียมโต เปรยเล็งพัฒนาบุคลากรร่วมกับไทยในอนาคต

อัปเดตล่าสุด 12 ธ.ค. 2562
  • Share :
  • 1,000 Reads   

ธุรกิจ System Integrator (SI) และ SIer ซึ่งเป็นผู้ติดตั้งระบบอัตโนมัติทั้งในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและนอกอุตสาหกรรมการผลิตกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว  ด้วยปัจจัยหนุนจากความต้องการเทคโนโลยีใหม่ทั้งหุ่นยนต์อุตสาหกรรม, AI, และ IoT  โดย Mr. Kazuo Kubota ประธานสมาคม FA & Robot System Integrator Association  ได้แสดงความเห็นต่อโอกาสของ 2 เทคโนโลยีออโตเมชันที่จะเติบโตตอบโจทย์ SME และความเป็นไปได้ในธุรกิจ SI รวมถึงการพัฒนาบุคลากรร่วมกับอุตสาหกรรมไทยในอนาคตซึ่งจะมีการพูดคุยกันในเร็ว ๆ นี้

ปัจจุบัน ธุรกิจ System Integrator (SI) และ SIer กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว สืบเนื่องจากความต้องการเทคโนโลยีใหม่ ทั้งหุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่สามารถนำไปใช้ได้ในหลายกระบวนการ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) และ IoT ที่นำมาซึ่งความเป็นไปได้ใหม่ ส่งผลให้การพัฒนาบุคลากรกลายเป็นเรื่องสำคัญยิ่งขึ้น ซึ่ง Mr. Kazuo Kubota ประธานสมาคม FA & Robot System Integrator Association ได้ให้สัมภาษณ์ถึงความเป็นไปในธุรกิจ SI ไว้ ดังนี้

ปัจจุบัน SI เป็นอุตสาหกรรมที่เข้าถึงยาก มีคำศัพท์เฉพาะมากมาย มีความเห็นอย่างไรกับประเด็นนี้

“ในฐานะสมาคม ผมมองว่าเราจำเป็นต้องมีหลักสูตรอบรม และจัดลำดับ SI อย่างจริงจัง โดยทางสมาคม ได้เริ่มหลักสูตรพื้นฐานในปีที่แล้ว ซึ่งเป็นหลักสูตรระยะสั้นเพียง 3 วัน สำหรับให้ความรู้เรื่อง System Integration, เทคโนโลยีการผลิต, และการออกแบบ ซึ่งปัจจุบันมีผู้จบหลักสูตรอยู่ที่ประมาณ 350 คน ซึ่งนอกจากจะช่วยให้มาตรฐานของ SIer ในอุตสาหกรรมสูงขึ้นแล้ว ยังช่วยยกระดับความเข้าใจในศัพท์เฉพาะ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องอีกด้วย ซึ่งทางสมาคม มีกำหนดจัดสอบวัดระดับ SIer ระดับ 3 ในปี 2020 ก่อนจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 2 และ 1 ต่อไป

นอกจากนี้ เรามีแผนจะเปิดอบรม และสอบวัดระดับให้กับ SIer ในต่างประเทศในอนาคตอีกด้วย เนื่องจากเราเล็งเห็นว่า หากใช้อุตสาหกรรมญี่ปุ่นเป็นมาตรฐาน ก็จะช่วยกระตุ้นให้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมแพร่หลายได้ง่าย ช่วยให้การแบ่งปันองค์ความรู้ และเทคโนโลยีมีความสะดวก รวมถึงการร่วมมือทางธุรกิจที่ง่ายขึ้น ซึ่งปัจจุบันเราพิจารณาจะเริ่มที่ประเทศไทย โดยทางสมาคม มีแผนจะปรึกษาในประเด็นนี้ รวมถึงการพัฒนาบุคลากรร่วมกับ SI ไทยในงาน iREX (International Robot Exhibition) 2019 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 18 ธันวาคมนี้”

มีการตอบรับเทคโนโลยีใหม่อย่าง AI และ IoT จากภาคอุตสาหกรรมอย่างไร

“ปัจจุบันเครือข่าย 5G ทำให้ IoT มีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก ด้วยความสามารถในการรับส่งข้อมูลระหว่าง Machine Tools, หุ่นยนต์อุตสาหกรรม, เซนเซอร์, และอื่น ๆ แบบไร้สาย  ทำให้ไม่เพียงอุตสาหกรรมรายใหญ่ แต่อุตสาหกรรมรายย่อยก็ให้ความสนใจ IoT กันมากขึ้น ซึ่งผมคาดการณ์ว่าในอนาคต AGV (Automated Guide Vehicles) สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน”

อุปสรรคคืออะไร

“พื้นที่ครับ SME ส่วนใหญ่มีโรงงานขนาดเล็ก พื้นที่น้อย การพัฒนาหุ่นยนต์อุตสาหกรรมจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงพื้นที่ระหว่างพนักงาน และหุ่นยนต์เป็นอย่างมาก ผมจึงเชื่อว่า AGV ที่มีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับหุ่นยนต์ และโคบอต (Cobot) จะถูกนำมาใช้มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษหน้าที่ 5G จะถูกใช้งานจริง ผมจึงมองว่า ในช่วงครึ่งแรกของทศวรรษหน้า เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ธุรกิจ SI ต้องแข่งขันกันพัฒนา”

หมายความว่าจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนบุคลากร

“ปัจจุบัน สมาคมเราเปิดการแข่งขัน Robot Idea Koushien เพื่อสรรหาแนวทางการใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่แปลกใหม่จากนักเรียน และนักศึกษา พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้ศึกษาหุ่นยนต์อุตสาหกรรมจริงเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ ซึ่งเราพบว่า โรงเรียนอาชีวะหลายแห่งตัดสินใจบรรจุหลักสูตร SI เข้าเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับสมาคมเป็นอย่างยิ่ง ”