ลดภาระงานบ้านด้วย “เครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดเวลา”

อัปเดตล่าสุด 31 ก.ค. 2561
  • Share :
  • 457 Reads   

แม้ในประเทศญี่ปุ่นจะมีจำนวนบ้านเรือนมากถึง 12 ล้านหลัง แต่ระยะเวลาที่แต่ละบ้านมีให้ในการทำงานบ้านกำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ในครัวเรือน (Major Appliances) หลายต่อหลายราย จึงนำเสนอผลิตภัณฑ์สำหรับลดภาระของงานบ้าน ซึ่งจะช่วย “ประหยัดเวลา” ที่ต้องใช้ในการทำงานได้เข้าสู่ตลาด ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ทำยอดขายได้เป็นอย่างดีทั้งสิ้น จึงกล่าวได้ว่า ผลิตภัณฑ์ในหมวดนี้ อาจจะกลายเป็นสิ่งที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนโฉมงานบ้านไปก็เป็นได้

อร่อยได้ไม่ยากด้วยเตาอบไมโครเวฟ

Mr. Hironobu Yuu หัวหน้าแผนกวางแผนผลิตภัณฑ์ภายในประเทศของ Hitachi Appliances กล่าวถึงทิศทางความเปลี่ยนแปลงของความต้องการเตาอบไมโครเวฟว่า “ผู้บริโภคกำลังต่อการสินค้าที่ลดขั้นตอนและประหยัดเวลาได้มากขึ้น อีกทั้งต้องใช้ประกอบอาหารเพื่อสุขภาพที่มีรสชาติดีได้ด้วย” ทำให้เตาอบไม่โครเวฟ “Healthy Chef” ได้ติดตั้งฟังค์ชั่น “W Scan” เอาไว้ เพื่อใช้ในการสแกนอาหารในเตาอบ วัดน้ำหนักและอุณหภูมิ และปรับการให้ความร้อนแก่อาหารตามปริมาณอาหารเพื่อให้ได้อุณหภูมิที่เหมาะสม โดยไม่จำเป็นต้องชั่งน้ำหนักอาหารเองหรือใช้ผู้ช่วย ทำให้ได้เตาอบไมโครเวฟที่ใช้ประกอบอาหารได้ง่ายกว่าผลิตภัณฑ์รุ่นอื่น ๆ

โดย W Scan จะแสดงศักยภาพได้ดีที่สุดในกรณีที่ใช้อุ่นอาหารหลังนำออกจากตู้เย็น ด้วยการสแกนน้ำหนักและอุณหภูมิ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของทั้งอาหารและบรรจุภัณฑ์ ทำให้สามารถอุ่นอาหารได้อย่างแม่นยำเลยทีเดียว


ในอีกด้านหนึ่ง ผลิตภัณฑ์ในหมวดเตาไฟฟ้ารุ่นล่าสุดของ Mitsubishi Electric ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ซีรี่ย์ที่จะมีอายุครบ 20 ปีในปี 2018 นี้ ได้ติดตั้งฟังค์ชั่นสำหรับปรับความร้อนทั้งเร่งและหยุดไฟแบบอัตโนมัติด้วยการเคลื่อนตัวภายในหม้อ เพื่อให้เกิดการถ่ายเทความร้อนและได้เป็นรสชาติที่เหมาะสมกับวัตถุดิบ ป้องกันการไหม้หรือเปื่อยจากการประกอบอาหาร ซึ่งสามารถช่วยลดขั้นตอนที่ยุ่งยากในการประกอบอาหารที่ต้องมีการคนอาหารให้เข้ากันอย่างแกงกะหรี่ และยังสามารถคนอาหารได้โดยไม่ทำให้น้ำเดือดกระเด็นออกมา ด้วยการควบคุมการหมุนเวียนโดยอัตโนมัติอีกด้วย


Mr. Susumu Sagawa อาจารย์ใหญ่จาก Tsuji Wellness Cooking สาขาอาเบโนะ ผู้มีประสบการณ์การจัดคอร์สสอนประกอบอาหารกล่าวแสดงความเห็นต่อผลิตภัณฑ์นี้ว่า “ใช้งานได้ง่ายเนื่องจากสามารถให้ความร้อนและหยุดได้โดยอัตโนมัติ ไม่มีการกระเด็นออกมา และยังทำให้อาหารไม่ไปรวมอยู่จุดใดจุดหนึ่งในหม้อ แถมก้นหม้อก็ไม่ไหม้อีกด้วย”


ตู้เย็น เก็บได้มากแม้บ้านแคบ


ความต้องการประหยัดเวลาของผู้บริโภคส่งอิทธิพลแม้กระทั่งกับตู้เย็น โดยในเดือนตุลาคมที่กำลังมาถึงนี้ Panasonic ได้เตรียมวางจำหน่ายตู้เย็นซึ่งมีหน้ากว้างเพียง 60 ซม. แต่มีความจุมากถึง 450 ลิตร สูงกว่ารุ่นก่อนถึง 10% ด้วยกัน ส่วนทางด้าน Mitsubishi Electric เองก็ได้วางจำหน่ายตู้เย็น Slim Line มาตั้งแต่ปี 2015 และ Toshiba ที่วางจำหน่ายตู้เย็นหน้ากว้าง 60 ซม. ความจุ 465 ลิตรเมื่อเดือนมีนาคม ตอกย้ำเทรนด์ “กว้าง 60 จุกว่า 450” ที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ในประเทศญี่ปุ่น ที่อยู่อาศัยส่วนหนึ่งนั้นมีพื้นที่ไม่เพียงพอที่จะวางตู้เย็นที่กว้างเกิน 60 ซม. ส่งผลให้ผู้อยู่อาศัยต้องการตู้เย็นที่มีความจุมากขึ้น 

ส่วนในครอบครัวที่ประกอบอาชีพทั้งสามีภรรยานั้น เป็นเรื่องปกติที่จะเกิดการซื้ออาหารมาตุนไว้ในช่วงสุดสัปดาห์ และปัจจุบันมีครอบครัวที่นำวัตถุดิบที่ซื้อมาใช้ประกอบอาหารทีเดียวในช่วงสุดสัปดาห์มากยิ่งขึ้น ซึ่ง Panasonic ได้ระบุว่า “มีครอบครัวที่ทำอาหารซึ่งสามารถเก็บไว้ในหม้อได้มากขึ้น เช่น ซุปมิโสะ และแกงกะหรี่” ซึ่งหากใช้ตู้เย็นที่มีความจุมาก ก็จะช่วยลดภาระในจุดนี้ลงได้อีก

ในจุดนี้เอง Panasonic ได้ประสบความสำเร็จในการลดขนาดชิ้นส่วนตู้เย็นลงได้มากกว่าครึ่งหนึ่ง ส่วน Mitsubishi Electric เลือกพัฒนาเทคโนโลยีการขึ้นรูปเพื่อให้ชิ้นส่วนพลาสติกบางลงจากเดิม เพื่อตอบสนองความต้องการตู้เย็นเล็กที่มีความจุสูงซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในญี่ปุ่น

ลดคราบตกค้างด้วยเครื่องซักผ้าประหยัดน้ำ

ในส่วนของผลิตภัณฑ์เครื่องซักผ้านั้น ในกรณีของครอบครัวที่ประกอบอาชีพทั้งสามีภรรยา มักพบว่าจะมีเวลาซักผ้าเพียงช่วงวันหยุด ทำให้เกิดความต้องการเครื่องซักผ้าที่รวมซักทีเดียวได้ ซึ่ง Toshiba Lifestyle รายงานว่า กว่าครึ่งของแม่บ้านที่ใช้เครื่องซักผ้าฝาบนไม่พึงพอใจต่อคราบตกค้างจากการซักของเครื่องซักผ้าประเภทนี้

ด้วยเหตุนี้เอง Toshiba Lifestyle จึงเล็งแก้ไขปัญหานี้ไปพร้อมกับการลดปริมาณน้ำที่ใช้ในเครื่องซักผ้าลงจากเดิม

โดย “ZABOON” ผลิตภัณฑ์เครื่องซักผ้าฝาบนรุ่นใหม่ของ Toshiba Lifestyle ได้ติดตั้งฟังค์ชั่น “Ultra Fine Bubble” ซึ่งใช้ท่อจ่ายน้ำซึ่งมีขนาดไม่ถึง 1 ไมคะะรอน เล็กยิ่งกว่าช่องว่างของไฟเบอร์ในการล้างเสื้อผ้า เกิดเป็น “การล้างผ้า” ในรูปแบบใหม่

ซึ่ง Ultra Fine Bubble จะถูกน้ำยาซักผ้าที่เหลืออยู่ในเนื้อผ้าดูดซึมเข้าไปก่อนจะหลุดออกจากเนื้อผ้า ส่งผลให้ได้ผ้าที่สะอาดมากยิ่งขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มจำนวนรอบการปั่นและปริมาณน้ำแต่อย่างใด

 

Japan Institute for Labour Policy and Training (JILPT) รายงานว่าในปี 2017 มีครอบครัวที่ประกอบอาชีพทั้งสามีภรรยามากถึง 11,880,000 ครัวเรือน มากกว่าในปี 1980 ถึง 2 เท่า และมีจำนวนแม่บ้านลดลงอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ในครัวเรือนจึงเล็งเห็นช่องทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากไลฟ์สไตล์เช่นนี้

 

เมื่อเวลาที่ต้องใช้ในการทำงานบ้านลดลง เวลาว่างสำหรับพักผ่อนหรือใช้เวลากับลูกจึงมีมากขึ้น จึงกล่าวได้ว่า เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ประหยัดเวลาได้เหล่านี้ อาจจะกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในครอบครัวที่ทั้งสามีภรรยาต่างออกไปทำงานนอกบ้านก็เป็นได้