บุคลากร AI คืออะไร?

อัปเดตล่าสุด 28 มิ.ย. 2562
  • Share :

ปัจจุบัน โลกกำลังอยู่ในยุคตื่นปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) และมีหลายธุรกิจ ที่นำเทคโนโลยีนี้มาใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่พบคือ บุคลากร AI ไม่เพียงพอ ถ้าเช่นนั้น บุคลากร AI คืออะไร?

บุคลากร AI คือคำที่ถูกใช้เรียกอาชีพในสายงานที่ข้องเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์โดยตรง เช่น วิศวกรด้าน Machine Learning, นักวิเคราะห์ข้อมูล ที่มีความสามารถในการแยกแยะข้อมูลสำหรับ AI หรือข้อมูลที่ได้จาก AI มาใช้งานจริง และอื่น ๆ ซึ่งจากแนวโน้มในปัจจุบัน เป็นที่แน่ชัดว่าในอนาคต บุคลากรเหล่านี้จะเป็นอาชีพที่จำเป็น และมีความต้องการสูงในภาคธุรกิจเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ก็เป็นที่แน่ชัดว่าในปัจจุบัน ยังไม่มีบุคลากร AI ที่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด และเป็นตำแหน่งที่ไม่ได้รับความสำคัญในหลายบริษัท ซึ่งหาก AI เข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมอย่างสมบูรณ์แล้ว ธุรกิจที่ไม่มีบุคลากรเหล่านี้ ย่อมเสียเปรียบธุรกิจที่พร้อมจะเข้าสู่ยุคของ AI อย่างแน่นอน

นอกจากความสามารถในการทำงานร่วมกับ AI แล้ว อีกเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้บุคลากร AI มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง คือ AI ไม่ใช่เทคโนโลยีที่ทำได้ทุกอย่าง และไม่มีทางแม่นยำได้ 100% ในทุกกรณี อีกทั้งขีดความสามารถในการตัดสินใจยังด้อยกว่าผู้เชี่ยวชาญเป็นอย่างมาก และอาจจะด้อยกว่ามือใหม่ในหลายอุตสาหกรรมด้วยซ้ำไป 

หากพูดถึง AI แล้ว แต่ละคนคงมีภาพในหัวที่ต่างกันไปไม่มากก็น้อย โดยที่ผู้บริโภคทั่วไป คงเห็นภาพเป็นโปรแกรมสนทนาที่โต้ตอบได้ผ่านสมาร์ทโฟน แต่สำหรับภาคธุรกิจแล้ว โปรแกรมเช่นนั้นยังห่างไกลจากการเป็นเครื่องมือทางธุรกิจมาก และหาก AI ยังไม่สามารถทำงานได้เทียบเท่าผู้เชี่ยวชาญ การจะนำมาแทนที่พนักงานย่อมไม่เกิดความคุ้มค่าแต่อย่างใด ไม่ต่างจากการจ้างเด็กจบใหม่มาทำงานแทนพนักงานมากประสบการณ์

ถ้าเช่นนั้น AI จะมีประโยชน์อย่างไร? ขั้นแรกคือ ต้องเข้าใจเสียก่อนว่า AI เป็นเครื่องมือ ไม่อาจแทนที่ผู้เชี่ยวชาญได้โดยตรง อย่างไรก็ตาม หากนำมาใช้ร่วมกันเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มากขึ้น ก็จะสามารถเห็นผลลัพธ์ได้ชัดเจนกว่า ยกตัวอย่างเช่น งานที่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ 2 คน ย่อมไม่อาจนำพนักงานใหม่ 2 คนมาแทนที่ได้ หรือต่อให้แทนที่ได้ 1 คน ก็จะกลายเป็นว่าต้องใช้เวลามาก หรืออาจมีคุณภาพไม่เท่าเดิม ในทางกลับกัน หากจ้างพนักงานใหม่เพิ่ม 2 คน ให้มาทำงานในส่วนนี้ แล้วให้ผู้เชี่ยวชาญ 2 คนเดิมทำหน้าที่ตรวจสอบ และแก้ไขชิ้นงานแทน ย่อมได้งานที่รวดเร็วขึ้น ซึ่งในกรณีนี้ ก็เปรียบได้ว่า พนักงานใหม่ = AI นั่นเอง

ซึ่งบุคลากร AI นี้เอง ที่จะมีบทบาทในส่วนนี้ ขึ้นอยู่กับแนวทางของธุรกิจนั้น ๆ เช่น ใช้บุคลากร AI ในฐานะ “ผู้ออกแบบโซลูชัน” ที่ทำหน้าที่ในการกำหนดขอบเขตการทำงานว่า ส่วนใดใช้พนักงาน ส่วนใดใช้ผู้เชี่ยวชาญ ส่วนใดใช้ AI จึงจะช่วยเพิ่มผลผลิตให้กับธุรกิจได้ และเป็นหนึ่งในสายอาชีพที่แน่นอนว่า จะมีบทบาทสำคัญต่ออุตสาหกรรมในอนาคตอย่างแน่นอน