ดิสรัปต์เขย่าวงการศึกษา มหา’ลัยดังแห่เปิดสาขา AI

อัปเดตล่าสุด 27 เม.ย. 2562
  • Share :
  • 599 Reads   

มหา’ลัยเร่งปรับตัวรับโลกยุคดิสรัปต์ แห่ปั้นหลักสูตร AI รับเทรนด์เทคโนโลยี-สนองรัฐชง 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย มข.เล็งร่วมมือมหา”ลัยระดับโลกพัฒนา AI ม.กรุงเทพใช้เฮดฮันเตอร์ล่าหัวมือโปรร่วมงาน สจล.บุกสายแพทย์-วิศวกรเมคคาทรอนิกส์ ดันหลักสูตรเกษตรยุคใหม่ ขณะที่ มศว.ผุดสาขาน้องใหม่วิศวกรรมคอนเสิร์ต-ไซเบอร์ซีเคียวริตี้

วงการศึกษาไม่รอดพ้นจากกระแส “Disruptive” เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้โมเดลการทำธุรกิจต่าง ๆ เปลี่ยนไป เช่นเดียวกับความต้องการบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถแตกต่างไปจากเดิม ขณะที่จำนวนนักศึกษาในระบบเริ่มลดลงเรื่อย ๆ ทำให้สถาบันการศึกษาต่าง ๆ ต้องมีการปรับตัวอย่างรุนแรงไม่ต่างจากองค์กรธุรกิจต่าง ๆ ทำให้มีการปรับเปลี่ยนและเปิดหลักสูตรใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับโลกธุรกิจในอนาคตมากขึ้น
 

มข.ร่วมมือมหา”ลัยโลกสอน AI

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เทรนด์ของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ที่เข้ามามีบทบาทในธุรกิจยุคใหม่อย่างมาก ในฐานะที่ มข.เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำทางด้าน “Science Technology” จึงเตรียมพัฒนาหลักสูตรเพื่อผลิตบุคลากรรองรับความต้องการของผู้ประกอบการ คือ 

  1. หลักสูตรด้าน AI โดยระดับ AI ในปัจจุบันแบ่งเป็นระดับการบำรุงรักษาซอฟต์แวร์ ระดับการบริหารจัดการข้อมูล และระดับผู้สร้างระบบ AI 
  2. หลักสูตรบล็อกเชน 
  3. การจัดการข้อมูล (Big Data) 
  4. หลักสูตรเฉพาะทางของคนทำงานที่ต้องการเพิ่มศักยภาพและใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ


นอกเหนือจากนี้ยังหารือกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศที่มีชื่อเสียง โดยเฉพาะหลักสูตร AI Curriculum เช่น สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือ MIT ประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงมหาวิทยาลัยทสึคุบะ ประเทศญี่ปุ่น พัฒนาหลักสูตร AI Curriculum 3 รูปแบบ คือ 
 

  1. พัฒนาหลักสูตรเอง แต่เชิญอาจารย์จากต่างประเทศเข้ามาสอน 
  2. พัฒนาหลักสูตรร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ 
  3. มข.เป็นศูนย์กลาง ให้มหาวิทยาลัยต่างประเทศเข้ามาใช้ มข.เป็นศูนย์กลางในการสอน

นอกจากจะสนองความต้องการของผู้ประกอบการแล้ว ในฐานะมหาวิทยาลัยของรัฐต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC อีกด้วย
“ มข.ให้ความสำคัญกับหลักสูตรใหม่นี้ เพราะ AI สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย ล่าสุดมีการนำระบบ AI มาช่วยผู้ป่วยในห้อง ICU โดยเราออกแบบโปรแกรมให้เตือนล่วงหน้า 15 นาทีว่าจะเกิดอาการผิดปกติกับผู้ป่วย และเริ่มนำมาใช้ในวงกว้างมากขึ้น รวมถึงยังให้นโยบายไปยังคณะวิชาต่าง ๆ ให้นำเสนอแผนพัฒนาหลักสูตร และวิชาที่มีกว่า 500 วิชา ว่าสามารถพัฒนาและต่อยอดได้หรือไม่ ”

BU เปิดหลักสูตรบิ๊กดาต้า 
รศ.ดร.ทิพรัตน์ วงษ์เจริญ รองอธิการบดีอาวุโสด้านวิชาการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ระบุว่า หลักสูตรใหม่ ของ ม.กรุงเทพ คือ Data Analytics และ Big Data เพื่อรองรับความต้องการของผู้ประกอบการ ที่สำคัญหลักสูตรใหม่เหล่านี้ไม่เพียงพัฒนาให้นักศึกษาพร้อมทำงานให้กับองค์กรต่าง ๆ แต่ยังเพิ่มรายวิชาเพื่อมุ่งสู่การเป็น “เจ้าของกิจการ” เช่น การเป็นผู้ประกอบการรายเล็ก (SMEs)


นอกจากนี้ ยังปรับแกนวิชาเพื่อให้นักศึกษานำไปใช้กับเทคโนโลยีใหม่ ๆ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงิน และอุตสาหกรรมเป้าหมายของภาครัฐในพื้นที่ EEC แต่ต้องยอมรับว่าปัจจุบันบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญทางด้าน AI มีอยู่จำนวนน้อย การที่มหา”ลัยเปิดหลักสูตรทางด้านนี้ จึงจำเป็นต้องใช้บริการจากบริษัทจัดหางาน (Head Hunter) เพื่อหาผู้เชี่ยวชาญมาเป็นอาจารย์สอน


“ ม.กรุงเทพไม่ได้เปลี่ยนตามเทรนด์ แต่จะเน้นให้นักศึกษาทำงานได้จริง เพราะยุคหน้าตลาดวิชาชีพส่วนใหญ่จะเน้น Hard Skill มากขึ้น ”

รายงานข่าวเพิ่มเติมจากบริษัทรับจัดหางานในปัจจุบัน ระบุว่า ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ภายในประเทศส่วนใหญ่มีแต่ระดับความเชี่ยวชาญซึ่งไม่ตรงกับความต้องการของลูกค้า ทำให้หลายบริษัทหันไปใช้บริการ Head Hunter จากต่างประเทศ เพื่อหาผู้เชี่ยวชาญด้าน AI จากต่างประเทศ สนนราคาอยู่ที่ 100,000-200,000 บาทต่อเดือน

มศว.เปิด 4 หลักสูตรนานาชาติ
ดร.ยุคลวัชร์ ภักดีจักริวุฒิ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) กล่าวว่า ขณะนี้มหา”ลัยเตรียมเปิด 4 หลักสูตรใหม่ (นานาชาติ) ประกอบด้วย 

  1. วิศวกรรมความปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์ และการพิสูจน์หลักฐาน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย เดอ มงฟอร์ต ประเทศอังกฤษ 
  2. วิศวกรรมคอนเสิร์ตและมัลติมีเดีย ที่จะเรียนตั้งแต่การวางแผนจัดคอนเสิร์ต รวมถึงกิจกรรมอีเวนต์ต่าง ๆ ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก 
  3. วิศวกรรมปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ  
  4. วิศวกรรมการบิน ที่มีความพร้อมในแง่ของสถานที่จัดการเรียนการสอนที่ให้นักศึกษาเรียนรู้จากของจริง เนื่องจาก มศว.มีวิทยาเขตองครักษ์ จังหวัดนครนายกที่อยู่ใกล้กับสนามบิน


ส่วนสาขาด้านอื่น ๆ จะมีอีก 2 คณะ คือ บริหารธุรกิจเพื่อสังคม ที่จะแตกต่างจากการบริหารธุรกิจทั่ว ๆ ไปตรงที่ผู้ประกอบการยุคใหม่จะต้องดูแลสังคมไปพร้อม ๆ กับการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของ CSR และวิสาหกิจชุมชน หรือ SE (Social Enterprise) และวิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ยกตัวอย่างคือ ธุรกิจแฟชั่นสิ่งทอ และธุรกิจจิวเวลรี เพราะจะมีทั้งเรื่องของธุรกิจบวกกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ไว้ด้วยกัน


ดร.ยุคลวัชร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการพัฒนาหลักสูตรใหม่ที่เกิดขึ้นในปี 2563 คือรูปแบบการเรียน “ข้ามศาสตร์” ที่เราสร้างวิชาเอก “สื่อสารเศรษฐศาสตร์” ขึ้นมา เพราะมองเห็นว่าการสื่อสารเชิงการเงินเป็นเรื่องยากที่จะอธิบายให้เข้าใจ จึงต้องมีความรู้ด้านการสื่อสารมาช่วยย่อยข้อมูลให้เข้าใจง่ายขึ้น สำคัญไปกว่านั้นเรายังมองเรื่องการบริหารธุรกิจออนไลน์ด้วยการดึงภาคเอกชนเข้ามาช่วยเรื่องของเทรนด์ธุรกิจ เพื่อให้ มศว.ผลิตบัณฑิตตรงกับความต้องการมากขึ้น

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สำรวจสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆเพิ่มเติม ปรากฏว่า สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) มีการเปิดหลักสูตรอนุปริญญาวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนบุคลากรด้านนี้โดยเฉพาะ โดยในหลักสูตรนี้รับนักเรียนที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษา 3 เข้ามาเรียน


นอกจากนี้ ยังมีอีก 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรแพทย์วิจัย ซึ่งถือเป็นหลักสูตรฟิวชันแนวใหม่แห่งแรกของไทย เพราะจะให้ความสำคัญกับการนำงานวิจัยและพัฒนามาประยุกต์ใช้ในการรักษาโรค
ผู้ป่วยมากกว่าการรักษาโรคเฉพาะทางอย่างคณะแพทยศาสตร์ของมหา”ลัยทั่วไป ส่วนอีกหลักสูตร คือ หลักสูตรวิทยาศาสตร์การประกอบอาหาร และการจัดการบริหารอาหารของคณะอุตสาหกรรมการเกษตร