ส่งออกไทย 2567 เดือนมีนาคม หดตัว 10.9% เป็นการหดตัวในรอบ 8 เดือน

ส่งออกไทย 2567 เดือนมีนาคม หดตัว 10.9% เป็นการหดตัวในรอบ 8 เดือน

อัปเดตล่าสุด 29 เม.ย. 2567
  • Share :
  • 9,359 Reads   

สถานการณ์ส่งออกในเดือนมีนาคม 2567 ไทยทำตัวเลขส่งออกมูลค่า 24,960.6 ล้านเหรียญสหรัฐ  (892,290 ล้านบาท) หดตัวร้อยละ 10.9 ครั้งแรกในรอบ 8 เดือน หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย หดตัวร้อยละ 5.6 จากฐานการส่งออกที่สูงในเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่ยังคงรักษาระดับการส่งออกได้ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของมูลค่าการส่งออกย้อนหลัง 5 ปี 

29 เมษายน 2567 สำนักนโยบบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ รายงานตัวเลขการส่งออกเดือนมีนาคม 2567 การส่งออกของไทยในเดือนมีนาคม 2567 มีมูลค่า 24,960.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (892,290 ล้านบาท) หดตัวร้อยละ 10.9 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย หดตัวร้อยละ 5.6 จากฐานการส่งออกที่สูงในเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้าแต่ยังคงรักษาระดับการส่งออกได้ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของมูลค่าการส่งออกย้อนหลัง 5 ปี ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่เผชิญความไม่แน่นอนและขยายตัวต่ำ จากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายพื้นที่ อีกทั้งการดำเนินนโยบายทางการเงินอย่างเข้มงวดยาวนาน ส่งผลต่อกำลังซื้อ ปัญหาหนี้สิน และการตัดสินใจลงทุนของภาคธุรกิจ นอกจากนี้สภาพอากาศแปรปรวนทำให้อุปทานของสินค้าเกษตรออกสู่ตลาดล่าช้า

ทั้งนี้ การส่งออกไทยไตรมาสแรกของปี 2567 หดตัวร้อยละ 0.2 และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 1.3

สรุปมูลค่าการค้ารวม

มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนมีนาคม 2567

  • การส่งออก มีมูลค่า 24,960.6 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 10.9 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน
  • การนำเข้า มีมูลค่า 26,123.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 5.6
  • ดุลการค้า ขาดดุล 1,163.3 ล้านเหรียญสหรัฐ
  • ภาพรวมไตรมาสแรกของปี 2567 การส่งออก มีมูลค่า 70,995.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 0.2 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 75,470.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 3.8 ดุลการค้าไตรมาสแรกของปี 2567 ขาดดุล 4,475.2 ล้านเหรียญสหรัฐ

มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท เดือนมีนาคม 2567

  • การส่งออก มีมูลค่า 892,290 ล้านบาท หดตัว ร้อยละ  6.6 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน
  • การนำเข้า มีมูลค่า 944,828 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10.7
  • ดุลการค้า ขาดดุล 52,538 ล้านบาท
  • ภาพรวมไตรมาสแรกของปี 2567 การส่งออก มีมูลค่า 2,504,009 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.2 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 2,692,023 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8.2 ดุลการค้าไตรมาสแรกของปี 2567 ขาดดุล 188,014 ล้านบาท

การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร

มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 5.1 (YoY) โดยสินค้าเกษตร ขยายตัวร้อยละ 0.1 ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน ในขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 9.9 แต่ยังมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ข้าว ขยายตัวร้อยละ 30.6 ขยายตัวต่อเนื่อง 9 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ อินโดนีเซีย โมซัมบิก มาเลเซีย และญี่ปุ่น) ยางพารา ขยายตัวร้อยละ 36.9 ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน (ขยายตัว ในตลาดจีน สหรัฐฯ มาเลเซีย ญี่ปุ่น และสเปน) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 1.5 ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย อิสราเอล ลิเบีย และแคนาดา) อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวร้อยละ 29.6 ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อิตาลี มาเลเซีย และออสเตรเลีย) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 20.0 ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และเนเธอร์แลนด์) สิ่งปรุงรสอาหาร ขยายตัวร้อยละ 9.6 ขยายตัวต่อเนื่อง 9 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และเยอรมนี) นมและผลิตภัณฑ์จากนม ขยายตัวร้อยละ 19.1 ขยายตัวต่อเนื่อง 12 เดือน (ขยายตัวในตลาดฟิลิปปินส์ กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม และญี่ปุ่น)

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวร้อยละ 16.7 (หดตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน มาเลเซีย และเกาหลีใต้ แต่ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย สหรัฐฯ ฟิลิปปินส์ อินเดีย และออสเตรเลีย) น้ำตาลทราย หดตัวร้อยละ 45.6 (หดตัวในตลาดอินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ และมาเลเซีย แต่ขยายตัวในตลาดกัมพูชา ลาว นิวซีแลนด์ เวียดนาม และจีน) ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง หดตัวร้อยละ 38.7 (หดตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ อินโดนีเซีย ฮ่องกง และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่ขยายตัวในตลาดเกาหลีใต้ มาเลเซีย กัมพูชา เวียดนาม และญี่ปุ่น) ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ หดตัวร้อยละ 50.2 (หดตัวในตลาดอินเดีย เมียนมา มาเลเซีย กัมพูชา และจีน แต่ขยายตัวในตลาดเวียดนาม เกาหลีใต้ ฮ่องกง ลาว จีน และเบลเยียม) ทั้งนี้ ไตรมาสแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 0.3

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม

มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 12.3 (YoY) ซึ่งมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 4.0 ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ ไต้หวัน เม็กซิโก และสหราชอาณาจักร) ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ขยายตัวร้อยละ 3.9 ขยายตัวต่อเนื่อง 12 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน มาเลเซีย สหรัฐฯ เวียดนาม และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์)

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 12.4 (หดตัวในตลาดฟิลิปปินส์ เม็กซิโก มาเลเซีย แอฟริกาใต้ และอินโดนีเซีย แต่ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และนิวซีแลนด์) สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัวร้อยละ 10.5 (หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย เวียดนาม กัมพูชา และสิงคโปร์ แต่ขยายตัวในตลาดอินเดีย ลาว ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง และไต้หวัน) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 11.8 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเยอรมนี แต่ขยายตัวในตลาดจีน เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย ไอร์แลนด์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 12.7 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ อิตาลี ฝรั่งเศส สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และไต้หวัน แต่ขยายตัวในตลาดเวียดนาม อินเดีย ญี่ปุ่น สเปน และออสเตรเลีย) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด หดตัวร้อยละ 16.1 (หดตัวในตลาดอินเดีย เวียดนาม ญี่ปุ่น จีน และสิงคโปร์ แต่ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลีใต้ และสาธารณรัฐเช็ก) ทั้งนี้ ไตรมาสแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 0.3

ตลาดส่งออกที่สำคัญ 

ตลาดส่งออกสำคัญส่วนใหญ่หดตัว อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปสหรัฐฯ ทวีปออสเตรเลีย และกลุ่มประเทศ CLMV ยังขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้
(1) ตลาดหลัก หดตัวร้อยละ 9.1 โดยหดตัวในตลาดจีน ร้อยละ 9.7 ญี่ปุ่น ร้อยละ 19.3 สหภาพยุโรป (27) ร้อยละ 0.1 และอาเซียน (5) ร้อยละ 26.1 แต่ยังขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ร้อยละ 2.5 และ CLMV ร้อยละ 0.5 (2) ตลาดรอง หดตัวร้อยละ 4.3 โดยหดตัวในตลาดเอเชียใต้ร้อยละ 6.1 ตะวันออกกลาง ร้อยละ 7.3 แอฟริกา ร้อยละ 11.9 ลาตินอเมริกา ร้อยละ 10.2 รัสเซียและกลุ่ม CIS ร้อยละ 14.2 และสหราชอาณาจักร ร้อยละ 19.3 ขณะที่ตลาดทวีปออสเตรเลีย ขยายตัวร้อยละ 13.5 (3) ตลาดอื่น ๆ หดตัวร้อยละ 82.3 อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ หดตัวร้อยละ 87.3

ตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 2.5 (ขยายตัวต่อเนื่อง 6เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อื่น ๆ ยางยานพาหนะ และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ และเครื่องรับโทรศัพท์และอุปกรณ์ เป็นต้น ทั้งนี้ ไตรมาสแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 9.9

ตลาดจีน หดตัวร้อยละ 9.7 (หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ยางพารา ไม้แปรรูป และฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ เป็นต้น ทั้งนี้ ไตรมาสแรกของปี 2567 หดตัวร้อยละ 5.1

ตลาดญี่ปุ่น หดตัวร้อยละ 19.3 (หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ไก่แปรรูป รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และเครื่องยนต์สันดาปภายใน เป็นต้น ทั้งนี้ ไตรมาสแรกของปี 2567 หดตัวร้อยละ 9.0

ตลาดสหภาพยุโรป (27) หดตัวร้อยละ 0.1 (กลับมาหดตัวในรอบ 3 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และหม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น ทั้งนี้ ไตรมาสแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 2.4

ตลาดอาเซียน (5) หดตัวร้อยละ 26.1 (หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ข้าว แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นต้น ทั้งนี้ ไตรมาสแรกของปี 2567 หดตัวร้อยละ 5.2

ตลาด CLMV ขยายตัวร้อยละ 0.5 (ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และน้ำตาลทราย เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น น้ำมันสำเร็จรูป รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องดื่ม เป็นต้น ทั้งนี้ ไตรมาสแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 6.5

ตลาดเอเชียใต้หดตัวร้อยละ 6.1 (หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัวเช่น เม็ดพลาสติก ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เคมีภัณฑ์ อัญมณีและเครื่องประดับ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้น ทั้งนี้ ไตรมาสแรกของปี 2567 หดตัวร้อยละ 3.2

ตลาดทวีปออสเตรเลีย ขยายตัวร้อยละ 13.5 (ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ และรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เป็นต้น ทั้งนี้ ไตรมาสแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 22.0

ตลาดตะวันออกกลาง หดตัวร้อยละ 7.3 (หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และข้าว เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ เป็นต้น ทั้งนี้ ไตรมาสแรกของปี 2567 หดตัวร้อยละ 5.1

ตลาดแอฟริกา หดตัวร้อยละ 11.9 (หดตัวต่อเนื่อง 5 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องยนต์สันดาปภายใน เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ข้าว อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ทั้งนี้ ไตรมาสแรกของปี 2567 หดตัว ร้อยละ 17.8

ตลาดลาตินอเมริกา กลับมาหดตัวร้อยละ 10.2 สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปภายใน และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องซักผ้าและเครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ และหม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น ทั้งนี้ ไตรมาสแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 2.9

ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS หดตัวร้อยละ 14.2 (กลับมาหดตัวในรอบ 13 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น อากาศยาน ยานอวกาศ และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และอัญมณี และเครื่องประดับ เป็นต้น ทั้งนี้ ไตรมาสแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 22.9

ตลาดสหราชอาณาจักร หดตัวร้อยละ 19.3 (หดตัวต่อเนื่อง 7 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถจักรยานยนต์และและส่วนประกอบ รถปิคอัพ รถบัสและรถบรรทุก และยางยานพาหนะ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ไก่แปรรูป เครื่องประดับแท้ และเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เป็นต้น ทั้งนี้ ไตรมาสแรกของปี 2567 หดตัวร้อยละ 10.5

การส่งเสริมการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์

การส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ดำเนินงานที่สำคัญในเดือนมีนาคม อาทิ (1) การเจรจาเพื่อเปิดตลาดสินค้าไทยในฮ่องกงและกระชับความสัมพันธ์ทางการค้า โดยผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ทั้งสองประเทศได้ร่วมหารือแนวทางการสร้างความร่วมมือในการส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ไทย แลกเปลี่ยนข้อมูลสินค้าและบริการในการเปิดตลาดฮ่องกง และเชิญชวนผู้ประกอบการฮ่องกงที่มีศักยภาพในการขยายธุรกิจสู่ภูมิภาคอาเซียน โดยใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุน พร้อมขอความร่วมมือฮ่องกงสนับสนุนและประชาสัมพันธ์Soft Power ของไทยให้มากขึ้น ทั้งอาหาร ผลไม้ ข้าวหอมมะลิไทย และธุรกิจบริการไทย เช่น โรงพยาบาล โรงแรม และธุรกิจบริการด้านสุขภาพและบริการสำหรับผู้สูงอายุ 

(2) การลงนามจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (EPA) ไทย-สาธารณรัฐเกาหลี โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้เป็นสักขีพยานในการลงนามดังกล่าว ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้น ในการเจรจา FTA ต่อไป โดยสินค้าที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์ ได้แก่ เนื้อไก่แช่แข็งและแปรรูป อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป ผลไม้เมืองร้อน อาทิ มะม่วง ฝรั่ง และมังคุด ผลิตภัณฑ์อาหาร อาทิ แป้ง ซอสและสิ่งปรุงรส ผลิตภัณฑ์ไม้และเคมีภัณฑ์ขณะที่ภาคบริการที่ได้รับประโยชน์ ได้แก่ การขนส่ง คลังสินค้า โรงแรม และภัตตาคาร เป็นต้น

(3) การอำนวยความสะดวกในการส่งออกสินค้าผลไม้ไปจีน โดยผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครคุนหมิง ได้เข้าหารือกับผู้บริหารของจีน เพื่อเตรียมความพร้อมอำนวยความสะดวกให้กับผลไม้ไทยที่กำลังจะเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนเป็นต้นไป ซึ่งฝ่ายจีนยืนยันความพร้อมในการรองรับผลไม้ไทยผ่านช่องทางด่านสำคัญต่าง ๆ และยินดีให้ความช่วยเหลือและประสานงานในกรณีที่เกิดปัญหาหรือข้อขัดข้องด้านการส่งออก

แนวโน้มการส่งออกในปี 2567

กระทรวงพาณิชย์คาดว่า การส่งออกของไทยในปี 2567 จะยังขยายตัวได้จากสินค้าเกษตรและอาหารที่ไทยมีความได้เปรียบในการแข่งขัน ท่ามกลางภาวะขาดแคลนอาหารทั่วโลกและภาวะสงครามในบางประเทศ ทำให้ความต้องการสินค้าอาหารยังอยู่ในระดับสูง สำหรับภาคการผลิตโลกยังคงทยอยฟื้นตัว ส่งผลบวกต่อการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สมาร์ทโฟน และเครื่องใช้ไฟฟ้า การทำงานของกระทรวงพาณิชย์ในการผลักดันการส่งออกสู่ตลาดใหม่ ๆ เพื่อชดเชยตลาดหลักที่ฟื้นตัวล่าช้า ขณะที่ยังมีปัจจัยท้าทายจากปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจจะกระทบต่อต้นทุนค่าขนส่ง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามประเมินสถานการณ์เป็นระยะและจะทำงานร่วมกับทูตพาณิชย์ในแต่ละประเทศเพื่อหาแนวทางลดอุปสรรคในการส่งออกต่อไป

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH