ดัชนีราคาผู้ผลิตไทย 2567 เดือน ก.พ. เพิ่มขึ้น 1.2%

ดัชนีราคาผู้ผลิตไทย 2567 เดือน ก.พ. เพิ่มขึ้น 1.2%

อัปเดตล่าสุด 13 มี.ค. 2567
  • Share :
  • 15,419 Reads   

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยสรุปรายงานดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2567 อยู่ที่ระดับ 111.6 เพิ่มขึ้น 1.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 0.7% โดยมีปัจจัยหลักจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าสำคัญในหมวดหลัก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง ในขณะที่สินค้าหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ยังปรับตัวลดลงต่อเนื่อง

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์

ดัชนีราคาผู้ผลิต​ แบ่งตามกิจกรรมการผลิต (CPA : Classification of Products by Activity) เดือนกุมภาพันธ์ 2567 (ปี 2558 = 100) เท่ากับ 111.6 เทียบกับเดือนมกราคม 2567 สูงขึ้นร้อยละ 1.2 (YoY) ประกอบด้วย หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 2.2 โดยมีกลุ่มสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่น ๆ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก เครื่องจักรและเครื่องมือ ยานยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแร่อโลหะ และหมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 5.5 เป็นผลจากสินค้าสำคัญ ได้แก่ ข้าวเปลือก อ้อย หัวมันสำปะหลังสด สับปะรดโรงงาน ยางพารา และผลปาล์มสด ขณะที่หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 26.7 จากราคาสินค้าก๊าซธรรมชาติ และสินแร่โลหะ (สังกะสี เหล็ก ดีบุก) 

ขณะที่ ดัชนีราคาผู้ผลิต แบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) พบว่า ดัชนีหมวดสินค้าสำเร็จรูป และหมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) สูงขึ้นร้อยละ 1.8 และ 2.5 ตามลำดับ ขณะที่หมวดสินค้าวัตถุดิบ ลดลงร้อยละ 5.8 โดยในห่วงโซ่อุปทานมีสินค้าสำเร็จรูปที่ราคาเคลื่อนไหวตามราคาวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต้นน้ำ/กลางน้ำ ประกอบด้วย สินค้าสำคัญ ที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า → ข้าวสารเจ้า/ข้าวนึ่ง/ปลายข้าว ข้าวเปลือกเหนียว → ข้าวสารเหนียว และ อ้อย → น้ำตาลทราย สำหรับสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ สุกรมีชีวิต → เนื้อสุกร และ เม็ดพลาสติก → บรรจุภัณฑ์พลาสติก (กระสอบพลาสติก บรรจุภัณฑ์อื่น ๆ)

ดัชนีราคาผู้ผลิต 2567 เดือนกุมภาพันธ์ เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 1.2 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายหมวด ดังนี้

  • หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 2.2 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ ประกอบด้วย กลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่นๆ ได้แก่ ทองคำ เนื่องจากราคาเคลื่อนไหวตามทิศทางราคาตลาดโลก และเครื่องประดับเทียม เนื่องจากราคาวัตถุดิบสูงขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันเตา น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และน้ำมันก๊าด เนื่องจากราคาเคลื่อนไหวตามทิศทางราคาตลาดโลก กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ ข้าวสารเจ้า น้ำตาลทราย ข้าวนึ่ง น้ำสับปะรด มันเส้น น้ำมันปาล์ม ข้าวสารเหนียว และสับปะรดกระป๋อง เนื่องจากความต้องการของตลาดมีอย่างต่อเนื่อง ทั้งในประเทศและส่งออก กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน น้ำยางข้น ประตูพีวีซี และถุงพลาสติก เนื่องจากราคาวัตถุดิบสูงขึ้น กลุ่มเครื่องจักรและเครื่องมือ ได้แก่ เครื่องสูบน้ำ และคอมเพรสเซอร์ เนื่องจากต้นทุนราคาวัตถุดิบและค่าจ้างแรงงานปรับเพิ่มขึ้น กลุ่มยานยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ ได้แก่ รถบรรทุกขนาดเล็กและขนาดใหญ่ และรถยนต์นั่งต่ำกว่า 1800 ซีซี เนื่องจากต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นจากการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์บางชิ้นส่วน (Minor Change) กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแร่อโลหะ ได้แก่ คอนกรีตผสมเสร็จ โถส้วม เสาเข็มคอนกรีต ท่อซีเมนต์ใยหิน แผ่นคอนกรีตสำเร็จรูป ท่อคอนกรีต อ่างล้างหน้า และอิฐก่อสร้าง เนื่องจาก ต้นทุนการผลิตปรับสูงขึ้น อาทิ ราคาวัตถุดิบ ราคาพลังงาน และค่าจ้างแรงงาน เป็นต้น

  • หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 26.7 จจากการลดลงของราคาสินค้า ได้แก่ก๊าซธรรมชาติ เนื่องจากราคาเคลื่อนไหวตามทิศทางของราคาตลาดโลก ประกอบกับมีการปรับปรุงแนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ส่งผลให้ราคาปรับลดลง และสินแร่โลหะ (สังกะสี เหล็ก ดีบุก) เนื่องจากราคาเคลื่อนไหวตามราคาตลาดโลก
  • หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 5.5 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ประกอบด้วย กลุ่มพืชล้มลุก ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว และอ้อย เนื่องจากความต้องการเพิ่มขึ้นจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ประเทศผู้ค้าข้าวและอ้อยรายสำคัญในตลาดโลกมีมาตรการจำกัดการส่งออกข้าวและน้ำตาล ประกอบกับปรากฏการณ์เอลนีโญทำให้ปริมาณผลผลิตลดลง หัวมันสำปะหลังสด เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมยังมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น และสับปะรดโรงงาน เนื่องจากผลผลิตเข้าสู่ตลาดน้อยจากภาวะแล้ง ขณะที่ความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้นจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ กลุ่มไม้ยืนต้น ได้แก่ ยางพารา เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมของประเทศคู่ค้าปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ ทำให้ความต้องการใช้และเก็บสินค้าคงคลังเพิ่มขึ้น และผลปาล์มสด เนื่องจากราคาน้ำมันโลกปรับตัวสูงขึ้น อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้พืชน้ำมันที่ใช้เป็นส่วนประกอบเชื้อเพลิงชีวภาพปรับราคาเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ดัชนีราคาผู้ผลิต 2567 เดือนกุมภาพันธ์ เทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 1.3 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายหมวด ดังนี้

  • หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 1.1 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ ประกอบด้วยกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 น้ำมันเตา และน้ำมันก๊าด เนื่องจากราคาเคลื่อนไหวตามทิศทางตลาดโลกที่สูงขึ้น จากการปรับลดกำลังการผลิตของประเทศผู้ผลิตน้ำมัน ประกอบกับตลาดยังมีความกังวลกับสถานการณ์ขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น กลุ่มเครื่องจักรและเครื่องมือ ได้แก่ เครื่องสูบน้ำ เนื่องจากราคาวัตถุดิบและค่าจ้างแรงงานปรับสูงขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง น้ำยางข้น และถุงพลาสติก เนื่องจากราคาวัตถุดิบสูงขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้แก่ ทองคำ เนื่องจากมีแรงซื้อช่วงเทศกาลตรุษจีน ประกอบกับเงินบาทอ่อนค่าเป็นแรงหนุนราคาทองคำในประเทศสูงขึ้น ไม้แบดมินตัน ลูกฟุตบอล และลูกวอลเล่ย์บอล เนื่องจากราคาวัตถุดิบปรับสูงขึ้น กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติก ปุ๋ยเคมีผสมและเอทานอล เนื่องจากราคาวัตถุดิบสูงขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ Integrated Circuit (IC) อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล และแผงวงจรพิมพ์ เนื่องจากเป็นสินค้าส่งออก ราคาจึงปรับสูงขึ้นตามค่าเงินบาทที่อ่อนค่า กลุ่มสิ่งทอ ได้แก่ ผ้าห่ม ผ้าเช็ดตัว และเส้นใยสังเคราะห์ เนื่องจากผู้ผลิตบางราย มีต้นทุนค่าจ้างแรงงานและราคาวัตถุดิบเพิ่มขึ้น และกลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน ได้แก่ เหล็กแท่ง เนื่องจากราคาเศษเหล็กที่ใช้เป็นวัตถุดิบปรับสูงขึ้น

  • หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 0.8 จากการลดลงของราคาสินค้า ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ (NG) เนื่องจากมีการปรับปรุงแนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ส่งผลให้ราคาปรับลดลง และสินแร่โลหะ (สังกะสี) เนื่องจากราคาเคลื่อนไหวตามทิศทางตลาดโลก

แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิต 2567 เดือนมีนาคม

ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมีนาคม 2567 มีแนวโน้มสูงขึ้น จากปัจจัยทางด้านต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นและราคาสินค้าเกษตรกรรมที่มีความเสี่ยงจากภาวะภัยแล้ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าโดยรวม ทั้งสินค้าในหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมงให้ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับภาคการผลิตของไทยจะยังได้รับแรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยวมีทิศทางขยายตัว และเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัว ซึ่งจะส่งผลบวกต่อความต้องการสินค้า นอกจากนี้ ฐานราคาปี 2566 ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า จึงคาดว่าจะทำให้ดัชนีราคาผู้ผลิตขยายตัวได้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ตาม นโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของภาครัฐ หนี้สินภาคธุรกิจและครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะความขัดแย้งในทะเลแดงที่อาจเป็นอุปสรรคทางการค้าและเพิ่มความเสี่ยงต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิต ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศไทยตามลำดับ ทั้งนี้ จะต้องมีการติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

 

#ดัชนีราคาผู้ผลิต 2567 #ดัชนีราคาผู้ผลิต ppi #ดัชนีราคาผู้ผลิต (ppi) #ดัชนีราคาผู้ผลิต (ppi) คือ #ดัชนีราคาผู้ผลิต คือ #ดัชนีราคาผู้ผลิต ย้อนหลัง #แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิต #ดัชนีราคา #ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม #กองดัชนีเศรษฐกิจการค้า #สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า #กระทรวงพาณิชย์

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH