ดัชนีราคาผู้ผลิตไทย 2567 เดือน มี.ค. เพิ่มขึ้น 2.1%

ดัชนีราคาผู้ผลิตไทย 2567 เดือน มี.ค. เพิ่มขึ้น 2.1%

อัปเดตล่าสุด 8 เม.ย. 2567
  • Share :
  • 13,792 Reads   

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยสรุปรายงานดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศไทย เดือนมีนาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 112.4 เพิ่มขึ้น 2.1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 0.7% โดยมีปัจจัยหลักจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าสำคัญในหมวดหลัก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง ในขณะที่สินค้าหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ยังปรับตัวลดลงต่อเนื่อง

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์

ดัชนีราคาผู้ผลิต​ แบ่งตามกิจกรรมการผลิต (CPA : Classification of Products by Activity) เดือนมีนาคม 2567 (ปี 2558 = 100) เท่ากับ 112.4 เทียบกับเดือนมีนาคม 2566 สูงขึ้นร้อยละ 2.1 (YoY) ประกอบด้วย หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 2.4 โดยมีกลุ่มสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่นๆ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก เครื่องจักรและเครื่องมือ ยานยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแร่อโลหะและหมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 5.9 เป็นผลจากสินค้าสำคัญ ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว อ้อย หัวมันสำปะหลังสด สับปะรดโรงงานและยางพารา ขณะที่หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 13.7 จากราคาสินค้า ก๊าซธรรมชาติ และสินแร่โลหะ (สังกะสี วุลแฟรม) 

ขณะที่ ดัชนีราคาผู้ผลิต แบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) ประกอบด้วยดัชนีราคาหมวดสินค้าสำเร็จรูป หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) และหมวดสินค้าวัตถุดิบ สูงขึ้นร้อยละ 2.0 2.8 และ 0.4 ตามลำดับ โดยในห่วงโซ่อุปทานมีสินค้าสำเร็จรูปที่ราคาเคลื่อนไหว ตามราคาวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต้นน้ำ/กลางน้ำ ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า → ข้าวสารเจ้า/ข้าวนึ่ง/ปลายข้าว ข้าวเปลือกเหนียว → ข้าวสารเหนียว ยางแผ่นดิบ/น้ำยางสด/เศษยาง →ยางแผ่นรมควัน/ยางแท่ง/น้ำยางข้น และ อ้อย → น้ำตาลทราย

ดัชนีราคาผู้ผลิต 2567 เดือนมีนาคม เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 2.1 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายหมวด ดังนี้

  • หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 2.4  จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ ประกอบด้วย กลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่นๆ ได้แก่ ทองคำ เนื่องจากราคาเคลื่อนไหว
    ตามทิศทางราคาตลาดโลก และเครื่องประดับเทียม เนื่องจากวัสดุที่ใช้ในการผลิตปรับราคาสูงขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 และ 95 และน้ำมันก๊าด เนื่องจากราคาเคลื่อนไหวตามทิศทางราคาตลาดโลก กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ ข้าวสารเจ้า น้ำตาลทราย ข้าวนึ่ง น้ำสับปะรด ข้าวสารเหนียว สับปะรดกระป๋อง นมพร้อมดื่ม และน้ำมันปาล์ม เนื่องจากความต้องการของตลาดมีอย่างต่อเนื่อง ทั้งในประเทศและส่งออก ประกอบกับราคาวัตถุดิบสินค้าเกษตรปรับสูงขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน และน้ำยางข้น ประตูพีวีซี และถุงพลาสติก เนื่องจากราคาวัตถุดิบสูงขึ้น กลุ่มเครื่องจักรและเครื่องมือ ได้แก่ เครื่องสูบน้ำ และคอมเพรสเซอร์ เนื่องจากต้นทุนราคาวัตถุดิบและค่าจ้างแรงงานปรับเพิ่มขึ้น กลุ่มยานยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ ได้แก่ รถบรรทุก และรถยนต์นั่ง ต่ำกว่า 1,800 ซีซี เนื่องจากต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นจากการปรับเปลี่ยนบางชิ้นส่วนอุปกรณ์ (Minor Change) และกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแร่อโลหะ ได้แก่ คอนกรีตผสมเสร็จ โถส้วม เสาเข็มคอนกรีต แผ่นคอนกรีตสำเร็จรูป ท่อซีเมนต์ใยหิน อิฐก่อสร้าง และอ่างล้างหน้า เนื่องจากต้นทุนการผลิตปรับสูงขึ้น อาทิ ราคาวัตถุดิบ ราคาพลังงานและค่าจ้างแรงงาน เป็นต้น

  • หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 13.7 จากการลดลงของราคาสินค้า ได้แก่ก๊าซธรรมชาติ เนื่องจากราคาเคลื่อนไหวตามทิศทางของราคาตลาดโลก ประกอบกับมีการปรับปรุงแนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ส่งผลให้ราคาปรับลดลง และสินแร่โลหะ (สังกะสี วุลแฟรม) เนื่องจากราคาเคลื่อนไหวตามราคาตลาดโลก
     
  • หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 5.9 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ประกอบด้วย กลุ่มพืชล้มลุก ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว และอ้อย เนื่องจากความต้องการเพิ่มขึ้นจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ประเทศผู้ค้าข้าวและอ้อยรายสำคัญในตลาดโลกมีมาตรการจำกัดการส่งออกข้าวและน้ำตาล ประกอบกับปรากฏการณ์เอลนีโญทำให้ปริมาณผลผลิตลดลง หัวมันสำปะหลังสด เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมยังมีความต้องการ
    อย่างต่อเนื่อง ขณะที่การระบาดของโรคใบด่างทำให้ปริมาณผลผลิตมีน้อยไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด และสับปะรดโรงงาน เนื่องจากผลผลิตเข้าสู่ตลาดน้อยจากภาวะแล้ง ขณะที่ความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้นจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ และกลุ่มไม้ยืนต้น ได้แก่ ยางพารา เนื่องจาก ภาคอุตสาหกรรมของประเทศคู่ค้าปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ ทำให้ความต้องการใช้และเก็บสินค้าคงคลังเพิ่มขึ้น สำหรับสินค้าที่ราคาปรับลดลง ประกอบด้วย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากความต้องการใช้ในภาคปศุสัตว์ลดลงกว่าปีก่อน กลุ่มสัตว์ ได้แก่ สุกรมีชีวิต โคมีชีวิต และไก่มีชีวิต เนื่องจากปริมาณผลผลิตในประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งจากการนำเข้าและการผลิตของเกษตรกรในประเทศ
    ขณะที่ภาวะการค้าและความต้องการบริโภคยังชะลอตัว ส่งผลให้ราคาหน้าฟาร์มลดลง และผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ กุ้งแวนนาไม เนื่องจากปริมาณผลผลิตในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาปรับลดลงประกอบกับความต้องการบริโภคจากภาคครัวเรือนและภาคการท่องเที่ยวยังฟื้นตัวช้า

ดัชนีราคาผู้ผลิต 2567 เดือนมีนาคม เทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.7 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายหมวด ดังนี้

  • หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.5 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ ประกอบด้วยกลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่นๆ ได้แก่ ทองคำ ซึ่งราคาเคลื่อนไหวตามทิศทางตลาดโลก เนื่องจากนักลงทุนและธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกเข้าซื้อทองคำเพิ่มขึ้นเพื่อถือครองสินทรัพย์ที่ปลอดภัย ในช่วงที่เกิดความไม่แน่นอนทางการเงินและการเมืองจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เครื่องประดับเทียม และลูกเทนนิส เนื่องจากผู้ผลิตบางรายมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้นและไม่ได้ปรับราคานานแล้ว กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน และน้ำยางข้น เนื่องจากความต้องการของตลาดโลกมีมากขึ้น ประกอบกับเป็นช่วงปิดกรีดยาง ส่งผลให้
    ปริมาณวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตมีน้อย กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติก เนื่องจากราคาวัตถุดิบสูงขึ้น และโซดาไฟ เนื่องจากราคาเคลื่อนไหวทิศทางเดียวกับตลาดต่างประเทศ ประกอบกับความต้องการใช้ในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ ข้าวสารเจ้า น้ำมันปาล์ม นมพร้อมดื่ม กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำสับปะรด สับปะรดกระป๋อง น้ำมันถั่วเหลืองบริสุทธิ์ ข้าวสารเหนียวและแป้งข้าวเจ้า เนื่องจากวัตถุดิบสินค้าเกษตรที่ใช้ในการผลิตมีราคาสูงขึ้น มันอัดเม็ด และแป้งมันสำปะหลัง
    เนื่องจากปริมาณวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตมีน้อย กลุ่มสิ่งทอ ได้แก่ ผ้าเช็ดตัว เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบและค่าแรงเพิ่มขึ้น ประกอบกับผู้ผลิตบางรายมีการปรับเกรดคุณภาพของสินค้าให้ดีขึ้น และกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแร่อโลหะ ได้แก่ ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ เนื่องจากผู้ผลิตให้เปอร์เซ็นต์ส่วนลดกับลูกค้าน้อยลง เสาเข็มคอนกรีต แผ่นคอนกรีตสำเร็จรูป คอนกรีตผสมเสร็จ อิฐก่อสร้าง และคอนกรีตบล็อก (อิฐบล็อกอิฐมวลเบา) เนื่องจากต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น อาทิ ราคาวัสดุในการผลิตแต่ละรอบ ค่าขนส่ง และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการผลิต

  • หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 5.4 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ (NG) น้ำมันปิโตรเลียมดิบ และสินแร่โลหะ (สังกะสี เหล็ก ดีบุก) เนื่องจากราคาเคลื่อนไหวตามทิศทางตลาดโลก

แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิต ไตรมาสที่ 2 ปี 2567 

ดัชนีราคาผู้ผลิต ไตรมาสที่ 2 ปี 2567 มีแนวโน้มสูงขึ้น ตามราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลกระทบตลอดห่วงโซ่อุปทาน ทำให้ราคาสินค้าที่เกี่ยวเนื่องในหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รวมถึงต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่งสินค้าต่างๆปรับสูงขึ้น ประกอบกับภาวะภัยแล้งจากเอลนีโญที่คาดว่าจะส่งผลถึงช่วงกลางปี อาจทำให้ปริมาณผลผลิตในภาคการเกษตรลดลง ผลผลิตบางส่วนเกิดความเสียหาย และผลผลิตออกสู่ตลาดคลาดเคลื่อนจากฤดูกาลปกติ ส่งผลให้ราคาสินค้าในหมวดเกษตรกรรมปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ ฐานราคาปี 2566 ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า จึงคาดว่าจะทำให้ดัชนีราคาผู้ผลิตมีแนวโน้มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ตาม ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากทั้งราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ความเข้มงวดในการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินและการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของภาครัฐ ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศไทยตามลำดับ ทั้งนี้ จะต้องมีการติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

#ดัชนีราคาผู้ผลิต 2567 #ดัชนีราคาผู้ผลิต ppi #ดัชนีราคาผู้ผลิต (ppi) #ดัชนีราคาผู้ผลิต (ppi) คือ #ดัชนีราคาผู้ผลิต คือ #ดัชนีราคาผู้ผลิต ย้อนหลัง #แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิต #ดัชนีราคา #ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม #กองดัชนีเศรษฐกิจการค้า #สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า #กระทรวงพาณิชย์

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH