ดัชนีความเชื่อมั่นอุตฯ ต.ค. 67 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้ว อยู่ที่ระดับ 89.1

ดัชนีความเชื่อมั่นอุตฯ ต.ค. 67 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้ว อยู่ที่ระดับ 89.1

อัปเดตล่าสุด 13 พ.ย. 2567
  • Share :
  • 2,776 Reads   

ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมไทย ประจำเดือนตุลาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 89.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 87.1 ในเดือนกันยายน 2567 เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลาย ขณะที่ภาครัฐเร่งฟื้นฟูและเยียวยาความเสียหายให้กับประชาชน รวมถึงโครงการแจกเงิน 10,000 บาท ให้กับกลุ่มเปราะบาง ส่งผลดียอดขายสินค้าอุปโภคบริโภค

กรุงเทพฯ 13 พฤศจิกายน 2567 นายนาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และ ม.ล.ปีกทอง ทองใหญ่ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานสายงานเศรษฐกิจและวิชาการ ร่วมเปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 89.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จาก 87.1 ในเดือนกันยายน 2567 เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลาย ขณะที่ภาครัฐเร่งฟื้นฟูและเยียวยาความเสียหายให้กับประชาชน รวมถึงโครงการแจกเงิน 10,000 บาท ให้กับกลุ่มเปราะบาง  ส่งผลดียอดขายสินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องใช้ในบ้าน และอุปกรณ์การเกษตร และปุ๋ยเคมี ทางด้านธนาคารพาณิชย์ ก็เริ่มทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง 0.25% ภายหลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จากระดับ 2.50% สู่ระดับ 2.25% ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการลดลง ภาคการท่องเที่ยว ก็มีการขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 27 ตุลาคม 2567 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทย จำนวน 28,378,473 คน สร้างรายได้ประมาณ 1,325,359 ล้านบาท ภาคการส่งออก ขยายตัวต่อเนื่องเช่นกันตามอุปสงค์ในตลาดโลกและจากความต้องการสินค้าในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่  อาทิ สหรัฐฯ ยุโรป อินเดีย และอาเซียน เป็นต้น โดยการส่งออกในเดือนกันยายน 2567 มีมูลค่า 25,983.2 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 1.1% รวมถึงอัตราค่าระวางเรือ (Freight rate) ขนส่งสินค้า ปรับตัวลดลงในเส้นทางสำคัญ อาทิ สหรัฐฯ ยุโรป และเอเชีย ส่งผลให้ต้นทุนโลจิสติกส์ของผู้ประกอบการลดลง

นอกจากนี้ ปัญหาหนี้ครัวเรือนและความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการอนุมัติสินเชื่อ ส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบลงทุนในโครงการของภาครัฐ โดย ณ วันที่ 27 กันยายน 2567 เบิกจ่ายงบลงทุนได้เพียงร้อยละ 63.31 ส่งผลให้ยอดขายสินค้าวัสดุก่อสร้างชะลอลง อีกทั้งปัญหาการทุ่มตลาดของสินค้าจีน ยังส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของไทย ขณะที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญการแข่งขันสูง การแข็งค่าของเงินบาทอย่างรวดเร็วกดดันภาคการส่งออก โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก และกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย อีกทั้งเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจากระดับ 34.92 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในเดือนสิงหาคม 2567 เป็น 33.52 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในเดือนกันยายน 2567 ตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ และจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ร้อยละ 0.50 สู่ระดับ 4.75-5.00 ทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายเข้าสู่ประเทศไทยเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในเดือนตุลาคม ยังมีปัจจัยลบจากกำลังซื้อในประเทศยังอ่อนแอ จากค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ปัญหาหนี้ครัวเรือนยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะหนี้เสีย (NPL) ที่เพิ่มขึ้น 13.3% YoY อยู่ที่ระดับ 1.18 ล้านล้านบาท สถานการณ์น้ำท่วมในช่วงเดือนกันยายนและตุลาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบสินค้าเกษตรเพิ่มสูงขึ้น สินค้าวัสดุก่อสร้างได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาหนี้ครัวเรือน อีกทั้งสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาทุ่มตลาด ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในประเทศโดยเฉพาะ SMEs รวมไปถึงความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกของไทย และสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง ยังเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจการค้าโลก

จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,365 ราย ครอบคลุม 46 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในเดือนตุลาคม 2567 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ 50.4% สำหรับปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ เศรษฐกิจในประเทศ 60.1% เศรษฐกิจโลก 55.1% ราคาน้ำมัน 42.7% สถานการณ์การเมืองในประเทศ  32.3% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 31.2% ตามลำดับ

ขณะที่ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 98.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 96.7 ในเดือนกันยายน 2567 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อาทิ โครงการแจกเงิน 10,000 บาท มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ และโครงการลงทุนและการก่อสร้างต่างๆช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2567 การส่งออก ฟื้นตัวต่อเนื่องตามการขยายตัวของอุปสงค์ในตลาดโลก การท่องเที่ยว มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากการเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว และการเข้าสู่ฤดูหนาวในทวีปยุโรป แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่ผู้ประกอบการยังคงห่วงกังวล ได้แก่ สถานการณ์ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจการค้าหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในพื้นที่ต่างๆ ยังเป็นความเสี่ยงต่อภาคการส่งออก

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ 

1. เสนอให้สถาบันการเงินและธนาคารพาณิชย์ ผ่อนปรนหลักเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs อาทิ ผ่อนปรนเรื่องการขาดทุนปีล่าสุด โดยให้พิจารณากำไรจากการดำเนินงานในรูปของเงินสด (EBITDA) ของบริษัทปีล่าสุด เป็นต้น
2. เสนอให้ภาครัฐจัดตั้งกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) เพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่และยกระดับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม 
3. ออกมาตรการทางภาษีและการเงินเพื่อกระตุ้นการซื้อรถยนต์ภายในประเทศ และเร่งการจัดซื้อภาครัฐในหมวดพาหนะ ปี 2568
4. เสนอให้ภาครัฐบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคและการแข่งขันทางการค้าอย่างเคร่งครัด รวมทั้งเข้มงวดในการตรวจจับสินค้านำเข้า ราคาถูกที่ไม่ได้คุณภาพ

#ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรม #อุตสาหกรรมไทย #Mreport #ข่าวอุตสาหกรรม

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH