ส่งออกไทย 2567 เดือน ก.พ. ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ที่ร้อยละ 3.6

ส่งออกไทย 2567 เดือนกุมภาพันธ์ ขยายตัว 3.6% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7

อัปเดตล่าสุด 28 มี.ค. 2567
  • Share :
  • 13,030 Reads   

สถานการณ์ส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ไทยทำตัวเลขส่งออกมูลค่า 23,384.9 ล้านเหรียญสหรัฐ (827,139 ล้านบาท) ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ที่ร้อยละ 3.6 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 2.3 

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 สำนักนโยบบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ รายงานตัวเลขการส่งออกเดือนกุมภาพันธ์ 2567 การส่งออกของไทยยังคงเติบโตต่อเนื่อง ตอบรับการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและความเชื่อมั่นด้านการบริโภคที่กลับมา สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อโลกที่อยู่ในระดับขยายตัวต่อเนื่อง การส่งออกภาคอุตสาหกรรมของไทยยังขยายตัวต่อเนื่องและเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ โดยเฉพาะสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ หม้อแปลงไฟฟ้า โทรศัพท์ และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ ในขณะที่สินค้าเกษตรขยายตัวได้ดีจากข้าวและยางพารา สำหรับวิกฤตการณ์ในทะเลแดงส่งผลกระทบเล็กน้อย โดยการส่งออกไปตลาดยุโรปและซาอุดีอาระเบียยังคงขยายตัว

โดยการส่งออกไทย 2 เดือนแรก ขยายตัวร้อยละ 6.7 และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 5.6

สรุปมูลค่าการค้ารวม

มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนกุมภาพันธ์ 2567

  • การส่งออก มีมูลค่า 23,384.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 3.6 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน
  • การนำเข้า มีมูลค่า 23,938.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 3.2
  • ดุลการค้า ขาดดุล 554.0ล้านเหรียญสหรัฐ
  • ภาพรวม 2 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออก มีมูลค่า 46,034.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 6.7 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 49,346.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 2.9 ดุลการค้า 2 เดือนแรกของปี 2567 ขาดดุล 3,311.9 ล้านเหรียญสหรัฐ

มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท เดือนกุมภาพันธ์ 2567

  • การส่งออก มีมูลค่า 827,139 ล้านบาท ขยายตัว ร้อยละ 12.3 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน
  • การนำเข้า มีมูลค่า 856,508 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 11.7
  • ดุลการค้า ขาดดุล 29,369 ล้านบาท
  • ภาพรวม 2 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออก มีมูลค่า 1,611,719 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 11.3 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 1,747,195 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.9 ดุลการค้า 2 เดือนแรกของปี 2567 ขาดดุล 135,476 ล้านบาท

การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร

มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 1.1 (YoY) กลับมาหดตัวหลังจากขยายตัวในเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าเกษตรขยายตัวร้อยละ 7.5 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน ในขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 9.2 กลับมาหดตัวในรอบ 6 เดือน แต่ยังมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ข้าว ขยายตัวร้อยละ 53.6 ขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือน (ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย สหรัฐฯ ฟิลิปปินส์ เซเนกัล และแอฟริกาใต้) ยางพารา ขยายตัวร้อยละ 31.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ มาเลเซีย ญี่ปุ่น และตุรกี) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 7.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ออสเตรเลีย ซาอุดีอาระเบีย และอิสราเอล) อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวร้อยละ 21.5 ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ อิตาลี มาเลเซีย เยอรมนี และฟิลิปปินส์) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 17.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และเนเธอร์แลนด์) สิ่งปรุงรสอาหาร ขยายตัวร้อยละ 9.2 ขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร เยอรมนี และสวีเดน) นมและผลิตภัณฑ์จากนม ขยายตัวร้อยละ 26.5 ขยายตัวต่อเนื่อง 11 เดือน (ขยายตัวในตลาดฟิลิปปินส์ กัมพูชา สิงคโปร์ ฮ่องกง และญี่ปุ่น) กาแฟ ขยายตัว ร้อยละ 178.9 ขยายตัวต่อเนื่อง 7 เดือน (ขยายตัวในตลาดกัมพูชา ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และสิงคโปร์)

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวร้อยละ 20.5 หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ เวียดนาม และลาว แต่ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ) น้ำตาลทราย หดตัวร้อยละ 34.9 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดอินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ลาว สิงคโปร์ และมาเลเซีย แต่ขยายตัวในตลาดกัมพูชา ไต้หวัน เวียดนาม ปาปัวนิวกินี และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์)

ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง หดตัวร้อยละ 24.2 กลับมาหดตัวหลังจากขยายตัวในเดือนก่อนหน้า (หดตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ มาเลเซีย ฮ่องกง และเวียดนาม แต่ขยายตัวในตลาดเกาหลีใต้ อินโดนีเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ญี่ปุ่น และอินเดีย) ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ หดตัวร้อยละ 77.0 หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (หดตัวในตลาดเมียนมา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง และลาว แต่ขยายตัวในตลาดกัมพูชา เกาหลีใต้ เวียดนาม จีน และญี่ปุ่น) ทั้งนี้ 2 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 3.7

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม

มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 5.2 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน ซึ่งมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 24.9 ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี ออสเตรเลีย และเม็กซิโก) อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 6.5 ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน (ขยายตัวในตลาดฮ่องกง สหรัฐฯ อินเดีย เยอรมนีและเบลเยียม) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ขยายตัวร้อยละ 18.0 ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย อินเดีย สิงคโปร์ และมาเลเซีย) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด ขยายตัวร้อยละ 15.7 กลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน) หม้อแปลง ไฟฟ้าและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 35.0 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ ไต้หวัน ญี่ปุ่น และเม็กซิโก) ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ขยายตัวร้อยละ 13.1 ขยายตัวต่อเนื่อง 11 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน ซาอุดีอาระเบีย เกาหลีใต้ สหรัฐฯ และมาเลเซีย)

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 5.6 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเม็กซิโก แต่ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย สหรัฐฯ ซาอุดีอาระเบีย บราซิล และนิวซีแลนด์) แผงวงจรไฟฟ้า หดตัวร้อยละ 13.2 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดฮ่องกง สิงคโปร์ ไต้หวัน จีน และสหรัฐฯ แต่ขยายตัวในตลาดมาเลเซีย ญี่ปุ่น เยอรมนี ฟิลิปปินส์ และรัสเซีย) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 14.3 หดตัวต่อเนื่อง 9 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย อินเดีย ไต้หวัน และตุรกี แต่ขยายตัวในตลาดเวียดนาม อิตาลี อินโดนีเซีย ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น) เคมีภัณฑ์หดตัวร้อยละ 14.2 หดตัวต่อเนื่อง 22 เดือน (หดตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น เวียดนาม สหรัฐฯ และมาเลเซียแต่ขยายตัวในตลาดอินเดีย อินโดนีเซีย ลาว กัมพูชา และไต้หวัน) ทั้งนี้ 2 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 7.7

ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ 

การส่งออกไปหลายตลาดสำคัญ อาทิ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และทวีปออสเตรเลียยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง สอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการผลิตโลก อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปจีน ญี่ปุ่น และอาเซียน (5) กลับมาหดตัว ตามความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้

(1) ตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 2.7 โดยขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ร้อยละ 15.5 สหภาพยุโรป (27) ร้อยละ 3.3 และ CLMVร้อยละ 4.5ขณะที่ จีน หดตัวร้อยละ 5.7 ญี่ปุ่น ร้อยละ 5.8และอาเซียน (5) ร้อยละ 1.2

(2) ตลาดรอง ขยายตัวร้อยละ 3.8 โดยขยายตัวในตลาดทวีปออสเตรเลีย ร้อยละ 26.4 ลาตินอเมริกา ร้อยละ 7.9 และรัสเซียและกลุ่ม CIS ร้อยละ 46.4 ขณะที่หดตัวในตลาดเอเชียใต้ร้อยละ 2.6 ตะวันออกกลาง ร้อยละ 9.9 แอฟริกา ร้อยละ 18.2 และสหราชอาณาจักร ร้อยละ 7.3

(3) ตลาดอื่น ๆ ขยายตัวร้อยละ 94.2 อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ ขยายตัวร้อยละ 198.2

การส่งเสริมการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์

การส่งเสริมการส่งออกกระทรวงพาณิชย์ดำเนินงานที่สำคัญในเดือนกุมภาพันธ์ อาทิ

(1) การลงนามความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ศรีลังกา นับเป็น FTA ฉบับที่ 15 ของไทย ทำให้ไทยมีคู่ค้า FTA เพิ่มเป็น 19 ประเทศ โดยในภาคการค้าสินค้าจะลดภาษีระหว่างกันกว่าร้อยละ 85 ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด ภาคการค้าบริการจะเปิดให้ไทยถือหุ้นสาขาบริการและการลงทุนได้ร้อยละ100ในสาขาที่ตกลงร่วมกัน คาดว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ0.02 มูลค่า 80 ล้านเหรียญสหรัฐโดยจะมีผลใช้บังคับภายในปี 2567 นี้

(2) การส่งเสริมเขตปลอดอากรกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ลงพื้นที่ร่วมกับผู้แทนของสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน เยี่ยมชมเขตปลอดอากรกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (eWTP Thailand Duty Free Zone) ที่ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นเขตปลอดอากรกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แห่งแรกในไทย โดยกระทรวงพาณิชย์มีนโยบายให้ไทยใช้ประโยชน์จาก eWTP ของจีน เพื่อให้สินค้าที่ขายผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซของไทยได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีดังกล่าว

(3) กิจกรรมจับคู่ธุรกิจสินค้าผลไม้สด แปรรูป และผลิตภัณฑ์เกษตรอื่น ๆ เพื่อรองรับมาตรการกีดกันทางการค้า โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เชิญผู้นำเข้าที่มีศักยภาพจากภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก เช่น จีน สหภาพยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และกลุ่มประเทศ CLMV เป็นต้น เข้าร่วมงาน โดยมีผู้ส่งออกไทยเข้าร่วมโครงการกว่า 100 บริษัท มีสินค้าเป้าหมายหลัก อาทิ ทุเรียน ลำไย มังคุด มะพร้าว และผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูปต่าง ๆ มีกิจกรรมจับคู่ธุรกิจทั้งรูปแบบ Onsite และ Onlineเพื่อสนับสนุนและเพิ่มโอกาสทางการค้าให้กับเกษตรกรไทย และผู้ประกอบการไทย รวมทั้งประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ให้กับสินค้าผักและผลไม้ไทยด้วย

แนวโน้มการส่งออกในปี 2567

กระทรวงพาณิชย์คาดว่า มูลค่าการส่งออกของไทยภาพรวมของปีนี้จะขยายตัวได้จากอุปสงค์ภาคการผลิตที่กลับมาสู่ระดับปกติทำให้ปริมาณการค้าโลกกลับมาขยายตัว และกระแสความมั่นคงทางอาหารที่ยังช่วยให้สินค้าเกษตรของไทยยังคงเติบโตได้ดี แต่ยังมีความไม่แน่นอนจากเศรษฐกิจของคู่ค้าในตลาดหลักอย่างจีน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นที่ฟื้นตัวล่าช้า ภัยแล้งที่กระทบต่ออุปทานสินค้าเกษตร ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องและหามาตรการรองรับต่อไป

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH