ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม MPI มิถุนายน 2564

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม MPI 2564 เดือน มิ.ย. บวกต่อเนื่องเดือนที่ 4 ส่งออกสินค้าอุตฯ ขยายตัว 45%

อัปเดตล่าสุด 28 มิ.ย. 2564
  • Share :
  • 502 Reads   

ดัชนี MPI มิ.ย. 64 อยู่ที่ระดับ 97.73 บวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ชี้เศรษฐกิจโลก คู่ค้าสำคัญฟื้นตัว ไตรมาสที่ 2 ขยายตัวเฉลี่ย 20.41% ขณะที่ครึ่งปีแรก ขยายตัวเฉลี่ย 9.41% สศอ. ชี้เศรษฐกิจโลก คู่ค้าสำคัญฟื้นตัว รวมถึงความคืบหน้าการฉีดวัคซีนในหลายประเทศ ส่งผลให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำและยุทโธปกรณ์) ขยายตัวสูงถึง 45.23%

Advertisement

กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เผยการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายนขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4  ภาพรวมดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) อยู่ที่ระดับ 97.73 เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.58  เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยไตรมาสที่ 2/64 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 20.41 ครึ่งปีแรก 2564 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 9.41 เนื่องจากประเทศคู่ค้าสำคัญเริ่มฟื้นตัวจากมาตรการของภาครัฐในแต่ละประเทศ รวมถึงความคืบหน้าการฉีดวัคซีนในหลายประเทศส่งผลให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำและยุทโธปกรณ์) ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 45.23 ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่สำคัญจะยังเติบโตต่อเนื่องตามภาคการส่งออกซึ่งถือเป็นกลจักรสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศในช่วงเวลานี้ 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ภาคการผลิตอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนได้จากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI)   เดือนมิถุนายน 2564  ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากทิศทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญทั่วโลกมีแนวโน้มดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และยุโรป ส่งผลให้ภาคการผลิตโดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญขยายตัว ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เหล็กและเหล็กกล้า แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีบางโรงงานอุตสาหกรรมต้องหยุดการผลิตชั่วคราวแต่เป็นเฉพาะบางสายการผลิต และสามารถกลับมาเร่งกำลังการผลิตได้เหมือนเดิม ประกอบกับกระทรวงอุตสาหกรรมมีการขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ร่วมกับกระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ด้วยหลักการ “Online - Onsite - Upgrade -Vaccine” คือ 1. Online ให้โรงงานประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ไทย สต๊อป โควิด-19 พลัส และไทยเซฟไทย 2. Onsite จัดทีมแนะนำและติดตามการประเมินตนเอง โดยให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด และหน่วยงานในพื้นที่ของกระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ร่วมกันจัดทีมสุ่มตรวจประเมินโรงงานในพื้นที่ในโรงงาน 3. Upgrade จัดทำมาตรการฟื้นฟูสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 หลังจากโรงงานประเมินตนเอง เพื่ออัพเกรดสถานประกอบการให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน และ  4. Vaccine เร่งรัดการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในโรงงาน รวมทั้งผลักดันการเป็นศูนย์ให้บริการฉีดวัคซีนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมและโรงงานขนาดใหญ่ที่มีคนงานมากกว่า 2,000 คน เพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดในภาคแรงงาน และจะสามารถทำให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถเดินหน้าการผลิตต่อไปได้

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมิถุนายน 2564 ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 อยู่ที่ระดับ 97.73 เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.58 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยไตรมาสที่ 2/64 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 20.41 ส่วนครึ่งปีแรกปี 2564 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 9.41 โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทอง อาวุธ รถถัง และอากาศยาน) มูลค่า 18,440 ดอลล่าร์สหรัฐ ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 45.23 ส่วนการนำเข้าสินค้าทุน ขยายร้อยละ 28.5 ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 69.4  ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เป็นต้น

สำหรับการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งปีแรก ปี 2564 ขยายตัวเกือบทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการผลิตของอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์มีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.87 โดยเป็นการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นในรถทุกประเภทจากช่วงเดียวกันของปีก่อนตามคำสั่งซื้อจากต่างประเทศส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ยางล้อขยายตัวตามไปด้วย อุตสาหกรรมเหล็กขยายตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากคำสั่งซื้อทั้งในและต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นตามราคาตลาดโลก ส่งผลให้การผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.80 การผลิตชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ มีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.65 ตามความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นจากการเรียนและการทำงานออนไลน์ และอุตสาหกรรมการผลิตถุงมือยางที่เติบโตตามความต้องการใช้งานทางการแพทย์สูงขึ้นจากการระบาดของโควิด-19 อีกทั้ง ในเดือนมิถุนายน 2564 อุตสาหกรรมเครื่องประดับ ซึ่งเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยเริ่มกลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 178.89 สะท้อนให้เห็นภาพของเศรษฐกิจโลกที่เริ่มกลับมาฟื้นตัว นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศการเร่งกระจายการฉีดวัคซีน และแผนการเปิดประเทศในช่วงครึ่งปีหลัง ส่งผลให้การคาดการณ์ MPI ในเดือนถัดไปจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามยังคงมีประเด็นที่ต้องติดตามและให้ความสำคัญ อาทิเช่น การระบาดของโควิด-19 ในกลุ่มคลัสเตอร์โรงงานอุตสาหกรรม ปัญหาการขาดแคลนชิปในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งปัญหาต้นทุนค่าระวางการขนส่งสินค้าทางเรือตู้ คอนเทนเนอร์สูงขึ้นที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตในอนาคต

อุตสาหกรรมหลักที่ยังคงขยายตัวดีในเดือนมิถุนายน 2564 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่

ยานยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 90.06 จากการผลิตเกือบทุกรายการสินค้า ประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เวียดนาม ญี่ปุ่น เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดีขึ้น ทำให้การส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 82.14 ส่วนตลาดในประเทศยังขยายตัวได้แม้จะมีการระบาดระลอก 3

ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 32.32 ตามความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ขยายตัว และความต้องการสินค้าเพื่อการทำงานแบบ work from home มากขึ้น ประกอบกับแนวโน้มของการพัฒนาสินค้าเทคโนโลยีเป็นปัจจัยส่งเสริมให้มีการใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในหลากหลายอุตสาหกรรมมากขึ้น

เหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 28.93 จากเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กรูปพรรณรีดร้อน และเหล็กเส้นข้ออ้อย เป็นหลัก ตามความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องโดยเฉพาะยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ตลอดจนการเร่งก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานของรัฐในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา

เครื่องประดับเพชรพลอยและโลหะมีค่า ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 178.89 เนื่องจากปีก่อนเป็นช่วงเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ยอดการผลิตและจำหน่ายยังอยู่ในระดับต่ำ ต่างจากปีนี้  ที่การผลิตเป็นไปตามปกติ รวมถึงการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายออนไลน์ทำให้การจำหน่ายเติบโตได้มากขึ้น

ยางรถยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 78.19 จากยางนอกรถยนต์นั่งยางนอกรถบรรทุกรถโดยสาร และยางนอกรถกระบะ ขยายตัวได้ตามยอดการผลิตรถยนต์ที่เติบโตได้ดีขึ้น รวมถึงมีการลดราคาและทำโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นยอดขาย ซึ่งในปีก่อนได้รับผลจากการแพร่ระบาดและมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ความต้องการสินค้าหดตัว

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH