ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม MPI กรกฎาคม 2565

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม MPI ปี 2565 เดือน ก.ค. เพิ่มขึ้น 6.37% ส่งออกสินค้าอุตฯ ขยายตัวต่อเนื่องเดือนที่ 20

อัปเดตล่าสุด 31 ส.ค. 2565
  • Share :
  • 719 Reads   

ดัชนี MPI ก.ค. 65 ขยายตัว 6.37% อานิสงส์จากการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ โดย ยานยนต์ น้ำมันปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์คอนกรีต-ปูนซีเมนต์ ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปรับอากาศ ส่งผลให้ภาพรวมดัชนี MPI 7 เดือนแรก ขยายตัว 1.23% ด้านส่งออกสินค้าอุตฯ ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 20

Advertisement

วันที่ 31 สิงหาคม 2565 กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกรกฎาคม ปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 6.37 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สถานการณ์การผลิตกลับมาปรับตัวดีขึ้น หลังรัฐบาลเปิดประเทศ อุตสาหกรรมหลักกลับมาขยายตัว ได้แก่ ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์คอนกรีตและปูนซีเมนต์ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียมขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 การท่องเที่ยวช่วยฟื้นการบริโภคในประเทศ เพิ่มคำสั่งซื้อและการผลิต พร้อมเดินหน้ากิจกรรมทางเศรษฐกิจ ด้านการส่งออกอุตฯ ขยายตัวร้อยละ 0.50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 20 การส่งออกอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 ติดต่อกัน 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งหลังรัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่าง ๆ โดยเฉพาะมาตรการเปิดประเทศ ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมากกว่าเป้าและช่วยหนุนการบริโภคในประเทศปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง มีคำสั่งซื้อและมีการเพิ่มการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมากขึ้น ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกรกฎาคม 2565 อยู่ที่ 95.71 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.37 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับภาพรวม MPI ใน 7 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัว ร้อยละ 1.23 และอัตราการใช้กำลังการผลิต 7 เดือนแรก อยู่ที่ระดับ 63.42 ทั้งนี้ คาดว่า MPI ในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารของไทยที่ขยายตัวท่ามกลางวิกฤตความมั่นคงทางอาหารของโลก 

นางศิริเพ็ญ เกียรติเฟื่องฟู รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกรกฎาคม 2565 ปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 6.37 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 61.01 จากการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ อุตสาหกรรมหลักกลับมาขยายตัว ได้แก่ ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์คอนกรีตและปูนซีเมนต์ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียมขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ติดต่อกัน

สะท้อนให้เห็นถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว อีกทั้งภาคการท่องเที่ยวช่วยฟื้นการบริโภคภายในประเทศ จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีการปรับคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวจากเดิม 6 ล้านคน เป็น 8 ล้านคน ในปีนี้ รวมถึงการอ่อนค่าของเงินบาทส่งผลดีต่อภาคการส่งออกทำให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 ติดต่อกัน จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ และอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศที่การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) เดือนกรกฎาคม ขยายตัวร้อยละ 0.50 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 20 ติดต่อกัน

นอกจากนี้ ภาพรวมสถานการณ์เงินเฟ้อที่ยังคงส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม แต่มีทิศทางชะลอตัวลง สะท้อนได้จากดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หมวดสินค้าอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคมขยายตัวที่ร้อยละ 10.5 ชะลอตัวลงจากเดือนมิถุนายนขยายตัวที่ร้อยละ 12.9

สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศไทยเริ่มส่งสัญญาณเฝ้าระวัง โดย สศอ.ใช้เครื่องมือระบบเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย (The Early Warning System Industry Economics : EWS-IE) สศอ. จึงคาดการณ์จากดัชนีชี้นำสถานการณ์การผลิตโลก (PMI) ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยใน 1-2 เดือนข้างหน้า ปัจจัยภายในประเทศยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อุปสงค์ในประเทศทยอยฟื้นตัว ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวและปลดล็อกมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ความเชื่อมั่นทางธุรกิจปรับตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปัจจัยต่างประเทศเริ่มส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม ประเทศคู่ค้าอยู่ในภาวะไม่ปกติ ส่งผลให้คำสั่งซื้อชะลอตัวลง ทั้งนี้ ต้องจับตาดูสถานการณ์การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนยังคงยืดเยื้อ ส่งผลต่อราคาพลังงานและวัตถุดิบ สภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย รวมถึงปัญหาข้อพิพาททางการเมืองระหว่างประเทศ

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ดัชนีผลผลิตส่งผลบวกในเดือนกรกฎาคม 2565 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่

ยานยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 23.44 จากผลิตภัณฑ์รถบรรทุกปิคอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก และเครื่องยนต์ดีเซล เป็นหลัก จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ

น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.66 จากผลิตภัณฑ์น้ำมันดีเซลหมุนเร็วและน้ำมันเครื่องบิน เป็นหลัก หลังการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเต็มรูปแบบ และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 

ผลิตภัณฑ์คอนกรีต ปูนซีเมนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 23.19 จากผลิตภัณฑ์คอนกรีตผสมเสร็จ เสาเข็มคอนกรีต และพื้นสำเร็จรูปคอนกรีต เป็นหลัก หลังความต้องการใช้สินค้าขยายตัวเพิ่มขึ้น โรงงานสามารถผลิตและส่งสินค้าได้ตามปกติ ในขณะที่ปีก่อนมีการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในแคมป์คนงานก่อสร้างและแรงงานผลิต ทำให้การผลิตและการส่งสินค้าไม่สามารถดำเนินการได้เป็นปกติ

ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.39 จากผลิตภัณฑ์ integrated circuits (IC) เป็นหลัก โดยได้รับคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่องตามความต้องการของตลาดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์โลก

เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 23.40 จากการขยายตัวของตลาดส่งออกเป็นหลัก โดยเฉพาะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า เช่น สหรัฐอเมริกา ยูโรโซน ประกอบกับภูมิอากาศแปรปรวนและมีอุณหภูมิสูงขึ้นในหลายประเทศส่งผลให้มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น  

 

#ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 2565 #ดัชนี mpi 2565 #ผลผลิตอุตสาหกรรม industrial production #การส่งออกอุตสาหกรรม #อุตสาหกรรมไทย #สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม #สศอ.

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH