ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม MPI 2564 เดือน ก.ค. บวกต่อเนื่องเดือนที่ 5 ส่งออกสินค้าอุตฯ ขยายตัว 28.67%
ดัชนี MPI ก.ค. 64 อยู่ที่ระดับ 91.41 บวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ผลพวงเศรษฐกิจโลกคู่ค้าสำคัญฟื้นตัว ดันความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น ภาคการผลิตไทยได้รับอานิสงส์ผลิตเพื่อส่งออกได้มากขึ้นตาม โดยขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 มูลค่ากว่า 7 แสนล้าน!
กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) แถลงผลภาพรวมการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคม 2564 ขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) อยู่ที่ระดับ 91.41 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.12 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยหนุนจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับ การเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศและมีมาตรการป้องกันควบคุมพื้นที่เฉพาะหรือบับเบิลแอนด์ซีล (Bubble & Seal) และแฟคทอรี่แซนด์บ็อกซ์ (Factory Sandbox) ช่วยลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในโรงงานอุตสาหกรรม
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ภาคการผลิตอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ปรับตัวดีขึ้น โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกรกฎาคม 2564 ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 เนื่องจากการฟื้นตัวด้านเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก อาทิ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ที่มีความต้องการสินค้าเพิ่มมากขึ้น ภาคการผลิตของไทยจึงได้รับอานิสงส์สามารถขยายการผลิตเพื่อส่งออกได้มากขึ้น โดยการส่งออกขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 มูลค่ากว่า 7 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในคลัสเตอร์โรงงานอุตสาหกรรมยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวัง ทั้งนี้ สถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของแรงงานในสถานประกอบการ ปัจจุบันยังไม่ส่งผลต่อการจ้างงานและการผลิตภาคอุตสาหกรรมในภาพรวม สะท้อนได้จากดัชนีแรงงานอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคม 2564 ยังคงขยายตัวร้อยละ 3.41 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวของกับปีก่อนซึ่งแสดงให้เห็นจำนวนชั่วโมงการทำงานที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังคงติดตามสถานการณ์การควบคุมการระบาดในสถานประกอบการอย่างใกล้ชิด และได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานตามมาตรการควบคุมพื้นที่เฉพาะหรือบับเบิลแอนด์ซีล (Bubble & Seal) และได้จัดทำโครงการนำร่องการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงานอุตสาหกรรมหรือแฟคทอรี่แซนด์บ็อกซ์ (Factory-Sandbox) ภายในสถานประกอบการ โดยมุ่งเป้าอุตสาหกรรมส่งออกหลักของประเทศไทย ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาหาร และเครื่องมือแพทย์ เพื่อให้ภาคการผลิตสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างต่อเนื่อง นายสุริยะ กล่าวปิดท้าย
นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกรกฎาคม 2564 อยู่ที่ระดับ 91.41 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.12 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI ขยายตัว อาทิเช่น รถยนต์และเครื่องยนต์ ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ เป็นต้น เนื่องจากมีความต้องการตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากตัวเลขการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถัง และอากาศยาน) มูลค่า 541,763.15 ล้านบาท ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 28.67 ส่วนการนำเข้าสินค้าทุน ขยายตัวร้อยละ 35.40 ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ รวมถึงการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 50.11 ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งจากตัวเลขการนำเข้าดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ผู้ประกอบการยังมีแนวโน้มที่จะมีการผลิตเพิ่มขึ้นในเดือนถัดไป นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักส่งผลให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่อง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ทั้งด้านการเงินและการคลัง รวมถึงการเร่งกระจายการฉีดวัคซีนโควิด-19 และแผนการเปิดประเทศในครึ่งปีหลัง อย่างไรก็ตามยังมีประเด็นที่ควรให้ความสำคัญ อาทิ การระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะคลัสเตอร์โรงงานอุตสาหกรรม ปัญหาการขาดแคลนชิปและตู้คอนเทนเนอร์ และจำนวนนักท่องเที่ยวที่น้อยกว่าคาดการณ์
อุตสาหกรรมหลักที่ยังคงขยายตัวดีในเดือนกรกฎาคม 2564 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่
รถยนต์ และเครื่องยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 31.49 จากทุกรายการสินค้า จากตลาดส่งออก เป็นหลัก ด้วยผลของฐานต่ำและความต้องการของลูกค้าต่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัวจากการควบคุมการระบาดได้ดีและมีการฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรในระดับสูง
ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 19.02 ตามความต้องการที่เติบโตอย่างต่อเนื่องของตลาดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และคาดว่าความต้องการจะเพิ่มขึ้น ในระยะยาวเพราะจะมีการใช้ชิ้นส่วนชิปที่มากขึ้น
ผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 18.55 จากยางแท่งและ ยางแผ่นเป็นหลัก ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ของกลุ่มประเทศคู่ค้าหลักคลี่คลายและกลับมาสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจาก จีน สหรัฐอเมริกา และยุโรป รวมถึงปีนี้มีฝนตกต่อเนื่องทำให้ต้นยางสมบูรณ์ผลิตน้ำยางได้มาก
เม็ดพลาสติก ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.61 จากการผลิตที่เพิ่มขึ้น ในหลายผลิตภัณฑ์ เนื่องจากการหยุดซ่อมบำรุงของผู้ผลิตหลักในปีก่อน ประกอบกับในปีนี้มีความต้องการในตลาดเพิ่มขึ้น ผู้ผลิตจึงเร่งและขยายกำลังการผลิต
น้ำตาล ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 93.73 จากน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ เป็นหลัก หลังจากปิดหีบแล้วมีการละลายน้ำตาลดิบเพื่อผลิตเป็นน้ำตาลทรายอย่างต่อเนื่อง
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและการใช้กำลังการผลิต (รายเดือน)
ที่มา : กองสารสนเทศและดัชนีเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ข้อมูล ณ วันที่ 30 สิงหาคม 2564
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- บทเรียน 'หมิงตี้ เคมีคอล' สู่มาตรการป้องกันไฟไหม้โรงงาน ระยะสั้น-ยาว
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ปี 2564
- กลยุทธ์การ PR และ Communication ในยุคดิจิทัล
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- อุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ไทย ปี 2564
- ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน เจาะลึกตู้สินค้าหายไปไหน?
- อุตสาหกรรม 4.0 การผลิตแห่งอนาคต
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH