ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม MPI พฤษภาคม 2564 เพิ่มขึ้น 25% บวกสูงสุดในรอบ 5 ปี

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม MPI 2564 เดือน พ.ค. บวกสูงสุดรอบ 5 ปี ส่งออกสินค้าอุตฯ ขยายตัว 63%

อัปเดตล่าสุด 28 มิ.ย. 2564
  • Share :
  • 836 Reads   

ดัชนี MPI พ.ค. 64 อยู่ที่ระดับ 100.47 สูงสุดรอบ 5 ปี รวม 5 เดือนแรกปีนี้ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัว 4.38% และมีอัตราการใช้กำลังผลิตอยู่ที่ระดับ 65.38 ขณะที่การส่งออกสินค้าในเดือนพฤษภาคมขยายตัวสูงสุดรอบ 11 ปี โดยส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 63%

 

Advertisement

กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เผยการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ภาพรวมดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนพฤษภาคม 2564 อยู่ที่ระดับ 100.47 เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.84 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และใน 5 เดือนแรกขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 7.97 ขณะที่การส่งออกรวมเดือนพฤษภาคม 2564 มีมูลค่า 23,058 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 41.59 สูงสุดในรอบ 11 ปี โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 63.03 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ภาคการผลิตอุตสาหกรรมดีขึ้นอย่างชัดเจน สะท้อนได้จากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนพฤษภาคม 2564 ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดย 5 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 7.97 จากทิศทางเศรษฐกิจของโลกที่ดีขึ้น และจากการที่รัฐบาลออกมาตรการมากระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อความเชื่อมั่นทั้งในภาคการผลิตและบริโภค ในส่วนของภาคการผลิตแม้ว่าที่ผ่านมามีบางโรงงานอุตสาหกรรมต้องหยุดการผลิตชั่วคราว แต่เป็นการหยุดผลิตเฉพาะบางไลน์การผลิตเท่านั้น และเป็นเพียงระยะเวลาสั้น ๆ ทำให้โรงงานสามารถกลับมาเร่งกำลังการผลิตได้เหมือนเดิมเพื่อตอบสนองคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับกระทรวงอุตสาหกรรมมีมาตรการขอความร่วมมือให้สถานประกอบการทั่วประเทศกว่า 64,000 แห่งประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ไทย สต็อป โควิด-19 พลัส ทุกสองสัปดาห์ และให้พนักงานรวมกว่า 3.3 ล้านคน ประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์ม ไทยเซฟไทย ก่อนเข้าปฏิบัติงานทุกครั้ง โดยตั้งเป้าให้โรงงานทุกแห่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิถุนายน ประกอบกับมีแผนเร่งจัดตั้งศูนย์ให้บริการฉีดวัคซีนทั้งในและนอกพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมและโรงงานขนาดใหญ่ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับกระทรวงแรงงานจะเริ่มฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมนี้ คาดว่าภายในเดือนสิงหาคมนี้จะครอบคลุมร้อยละ 50 ของนิคมทั้งประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้ภาคการผลิตอุตสาหกรรมสามารถดำเนินการผลิตได้อย่างต่อเนื่องและก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ไปได้

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนพฤษภาคม 2564 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.84 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยในภาพรวม 5 เดือนแรก (มกราคม-พฤษภาคม) ของปี 2564 ภาคการผลิตไทยเริ่มฟื้นตัวซึ่งสะท้อนจาก MPI ที่อยู่ในระดับ 100.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วง 5 เดือนแรกของปี 2563 ที่ MPI อยู่ในระดับ 93.3 เป็นการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการผลิต และเริ่มกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดการระบาดโควิด โดยช่วง 5 เดือนแรกปี 2562  MPI อยู่ในระดับ 106.4 ทั้งนี้ ส่วนการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 60.72 สินค้าที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เป็นต้น  

อีกทั้ง ยังพบว่าการผลิตบางกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมมีระดับค่า MPI ในภาพรวม 5 เดือนแรกของปี 2564 ปรับตัวสูงกว่าภาพรวม 5 เดือนแรกของปี 2562 ซึ่งเป็นปีที่ไม่มีการระบาดโควิด-19 อาทิ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ และอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กระดาษ  นอกจากนี้ การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวเกือบทุกอุตสาหกรรม โดยการผลิตของอุตสาหกรรมหลักที่ขยายตัว ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นผลจากการปิดโรงงานในปีก่อน ในปีนี้การผลิตกลับมาเป็นปกติและส่งออกดีขึ้นจึงส่งผลให้การผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก และส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ยางล้อขยายตัวตามไปด้วย ด้านอุตสาหกรรมเหล็กขยายตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของโลกอย่างจีนลดปริมาณการผลิตเพื่อควบคุมปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวตามไลฟ์สไตล์การทำงานที่บ้านและการอาศัยในที่พักมากขึ้น สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตถุงมือยางที่เติบโตตามความต้องการใช้งานทางการแพทย์  และเมื่อดูตัวเลขการนำเข้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป(ไม่รวมทองคำ) เพื่อมาผลิตสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งในแง่มูลค่าและปริมาณได้ขยายตัวเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันสะท้อนให้เห็นถึงความมั่นใจของผู้ประกอบการ ทำให้คาดการณ์ได้ว่าตัวเลข MPI ในเดือนถัดไปจะมีแนวโน้มทิศทางที่ดีขึ้นเช่นกัน

อุตสาหกรรมหลักที่ยังคงขยายตัวดีในเดือนพฤษภาคม 2564 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่

รถยนต์และเครื่องยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 151.44 จากทุกสินค้าโดยเฉพาะรถบรรทุกปิกอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็กและเครื่องยนต์ดีเซล เนื่องจากปีก่อนอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกแรก ซึ่งผู้ผลิตต้องปรับลดการผลิตลงหรือหยุดการผลิตชั่วคราว

เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 90.25 จากเครื่องปรับอากาศเป็นหลัก ซึ่งผู้ผลิตได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่สามารถประหยัดพลังงานและกรองอากาศจากฝุ่นและเชื้อโรคได้ซึ่งตอบสนองและจูงใจผู้บริโภค รวมทั้งตลาดส่งออกไปยังออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย และเวียดนามที่เติบโตขึ้นอย่างมาก หลังประสบปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และเรือขนส่งสินค้าในเดือนก่อน 

แผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 35.35 ตามความต้องการของตลาดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของโลกที่มีทิศทางเพิ่มขึ้น จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วและมีความต้องการใช้ในหลากหลายผลิตภัณฑ์มากขึ้น

เหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 40.28 จากเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กเส้นข้ออ้อย และเหล็กลวดเป็นหลัก ตามความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เติบโตได้มากขึ้นหลังจากชะลอตัวตามสถานการณ์โควิด-19 จากมาตรการล็อกดาวน์และหยุดผลิตชั่วคราวของผู้ผลิตอุตสาหกรรมปลายน้ำในช่วงปีก่อน

ยางรถยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 167.86 จากยางนอกรถยนต์นั่ง ยางนอกรถบรรทุกรถโดยสาร และยางนอกรถกระบะ โดยเป็นการขยายตัวเนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องขยายตัวในระดับสูง ประกอบกับฐานต่ำในปีก่อน รวมถึงปีนี้ผู้ผลิตมีการปรับลดราคาสินค้าเพื่อกระตุ้นตลาดด้วย

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและการใช้กำลังการผลิต (รายเดือน)

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและการใช้กำลังการผลิต

ที่มา : กองสารสนเทศและดัชนีเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ข้อมูล ณ วันที่ 28 มิถุนายน 2564

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH