378-ต่างชาติลงทุนในไทย-เมษายน-อนุญาต-ประกอบธุรกิจ

บอร์ดต่างด้าว อนุญาตต่างชาติลงทุน 26 ราย มูลค่า 1,318 ล้านบาท

อัปเดตล่าสุด 2 พ.ค. 2563
  • Share :

เม.ย.2563 มีการอนุญาตให้ต่างชาติลงทุนในไทย ภายใต้ พ.ร.บ.ต่างด้าว 26 รายมีเงินลงทุนที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ 1,318 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 841 คน

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เปิดเผยว่า ในการประชุมของคณะกรรมการฯ เมื่อวันพุธที่ 22 เมษายน 2563 คณะกรรมการฯ ได้อนุญาตให้คนต่างชาติ 26 ราย ประกอบธุรกิจในประเทศไทยภายใต้ พ.ร.บ.ต่างด้าวฯ โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติจากประเทศญี่ปุ่น จีน และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีการนำเงินเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจกว่า 1,318 ล้านบาท และส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนไทย 841 คน รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุน

การอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในครั้งนี้จะมีผลให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นวิทยาการซึ่งเป็นองค์ความรู้ในแขนงที่คนไทยยังไม่มีความชำนาญหรือมีความเชี่ยวชาญในระดับที่ไม่สูงมากนัก เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการขุดเจาะและการใช้สลิงสำหรับขุดเจาะปิโตรเลียม องค์ความรู้เกี่ยวกับระบบการทำงานของเครื่องกำเนิดไอน้ำ ที่ใช้หลักการแลกเปลี่ยนความร้อน องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีเกี่ยวกับการเงิน (Fintech) และระบบโครงข่ายในการเก็บบัญชีธุรกรรมออนไลน์ (Block chain) องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการผลิตไฟเบอร์ซีเมนต์แบบปราศจากใยหินองค์ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยทางด้านรังสี และการเดินเครื่องฉายรังสี

สำหรับธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาต ได้แก่ 1. ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือ/ในกลุ่ม จำนวน 6 ราย โดยเป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น และเนเธอร์แลนด์แอนทิลลีส มีเงินลงทุนจำนวน 164 ล้านบาท อาทิ บริการศูนย์กระจายสินค้าประเภทชิ้นส่วนของรถยนต์ บริหารจัดการและควบคุมการผลิตพลังงานไอน้ำ และระบบการจัดการสาธารณูปโภค ที่ผลิตจากเครื่องจักรสำหรับผลิตไอน้ำ บริการให้คำปรึกษา แนะนำ และบริหารจัดการในด้านต่าง ๆ

2. ธุรกิจนายหน้า ค้าปลีก ค้าส่ง จำนวน 9 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น เยอรมนี และ เนเธอร์แลนด์ มีเงินลงทุนจำนวน 578 ล้านบาท ได้แก่ นายหน้าประกันวินาศภัยประเภทการจัดการให้มีการประกันภัยโดยตรง ค้าปลีกแม่พิมพ์ที่ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์นำแสง (Light guide products) สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนยานยนต์ ค้าส่งสินค้าประเภทไหมปัก (Thread) 3. คู่สัญญากับเอกชน จำนวน 6 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากประเทศจีน ญี่ปุ่น และฮ่องกง มีเงินลงทุนจำนวน 494 ล้านบาท ได้แก่ บริการขุดเจาะปิโตรเลียม ภายในบริเวณพื้นที่แปลงสำรวจที่ได้รับสัมปทานในอ่าวไทย บริการจัดหา ติดตั้ง ตรวจสอบ และทดสอบอุปกรณ์โทรคมนาคมเพื่อส่งผ่านข้อมูลด้วยคลื่นวิทยุในเครือข่ายระบบ 3G บริการออกแบบ จัดซื้อ จัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ ก่อสร้าง ติดตั้ง และทดสอบโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม

4. คู่สัญญาช่วงภาครัฐ จำนวน 1 ราย โดยเป็นนักลงทุนจากประเทศฝรั่งเศส มีเงินลงทุนจำนวน 3 ล้านบาท ได้แก่ บริการฝึกอบรม (Training) และให้คำปรึกษาแนะนำการปฏิบัติงานเกี่ยวกับเฮลิคอปเตอร์ 5. ธุรกิจบริการให้แก่ลูกค้า จำนวน 4 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น ฮ่องกง และมาเลเซีย มีเงินลงทุนจำนวน 79 ล้านบาท อาทิ บริการการชำระเงินภายใต้การกำกับ ประเภทการให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ และบริการรับชำระเงินด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ให้คำปรึกษาแนะนำ และติดต่อประสานงานกับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ในประเทศไทย (Logistics Service Provider) ออกแบบ เครื่องจักร อุปกรณ์และชิ้นส่วนประเภท ROBOT SYSTEM และ ROBOT HAND และอุปกรณ์จับยึด (JIG)

สำหรับเดือนเมษายน 2563 ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตเป็นธุรกิจที่สนับสนุนการทำงานของบริษัทในเครือในกลุ่มให้มีประสิทธิภาพและเป็นมาตรฐานเดียวกัน ธุรกิจที่เป็นคู่สัญญาอันจะช่วยส่งเสริมตลาดทุน และประกอบธุรกิจซึ่งสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ ดังตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้น

ในเดือนมกราคม – เมษายน 2563 คนต่างด้าวได้รับใบอนุญาต จำนวน 92 ราย มีเงินลงทุนทั้งสิ้น 3,328 ล้านบาท และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรากฏว่า จำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตเพิ่มขึ้น 23 ราย คิดเป็นร้อยละ 33 โดยมีต่างชาติลงทุนประกอบธุรกิจ อาทิ บริการขุดเจาะปิโตรเลียม บริการขุดลอกบำรุงรักษาร่องน้ำและแอ่งจอดเรือที่บริเวณท่าเทียบเรือ บริการออกแบบ จัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ ก่อสร้าง ติดตั้ง และทดสอบโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม บริการจัดหา ติดตั้ง ตรวจสอบ และทดสอบอุปกรณ์โทรคมนาคม เป็นต้น