ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย ไตรมาสที่ 2/2564

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย ไตรมาส 2/2564

อัปเดตล่าสุด 28 ส.ค. 2564
  • Share :
  • 816 Reads   

กองวิจัยเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผย รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 2 ปี 2564 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) อยู่ที่ 96.54 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ร้อยละ 7.1 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2563 ร้อยละ 20.41

ภาพรวมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยไตรมาสที่ 2 ปี 2564 GDP ขยายตัวร้อยละ 7.5 โดยขยายตัวเร่งขึ้นอย่างมีนัยสําคัญจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่หดตัวร้อยละ 12.1 และปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาที่หดตัวร้อยละ 2.6

ผลผลิตมวลรวมของภาคอุตสาหกรรม ไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า และดีขึ้นต่อเนื่องสี่ไตรมาส สอด คล้องกับการขยายตัวของการส่งออกที่มีความต้องการของตลาดต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะตลาดประเทสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป อาเซียน (5) และ CLMV ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ยาง ที่ขยายตัวอย่างมีนัยสําคัญและต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ไทยยังคงต้องเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ (สายพันธุ์เดลต้า) ที่กําลังระบาดในประเทศและทั่วโลกขณะนี้

GDP ภาคอุตสาหกรรม ไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 16.8 ปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 1.0 จากไตรมาสที่ผ่านมา และหดตัวร้อยละ 14.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปรับตัวดีขึ้นตามการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกเป็นหลัก เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น

ดัชนีอุตสาหกรรมที่สําคัญ

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ไตรมาสที่ 2 ปี 2564 อยู่ที่ระดับ 96.54 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (103.87) ร้อยล ะ 7.1 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2563 (80.17) ร้อยละ 20.41

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ การผลิตน้ําตาล การผลิตยานยนต์ และการผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า ได้แก่ การผลิตยานยนต์ การผลิตชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน เป็นต้น

ดัชนีการส่งสินค้า ไตรมาสที่ 2 ปี 2564 อยู่ที่ระดับ 97.90 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (100.35) ร้อยละ 2.44 แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2563 (82.35) ร้อยละ 18.88

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีการส่งสินค้าลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ การผลิตยานยนต์ การผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ และการผลิตคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีการส่งสินค้าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า ได้แก่ การผลิตยานยนต์ การผลิตชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และการผลิตเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง​ ไตรมาสที่ 2 ปี 2564 ดัชนีอยู่ที่ระดับ 140.82 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (139.24) ร้อยละ 1.1 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2563 (128.11) ร้อยละ 9.9

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ การผลิตยานยนต์ การผลิตน้ำมันปาล์ม และการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า ได้แก่ การผลิตยานยนต์ การผลิตคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง และการผลิตเครื่องใช้ในครัวเรือน เป็นต้น

อัตราการใช้กำลังการผลิต ไตรมาสที่ 2 ปี 2564 อยู่ที่ระดับร้อยละ 63.21 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (ร้อยละ 67.44) แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2563 (ร้อยละ 52.81)

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ การผลิตยานยนต์ การผลิตน้ำตาล และการผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า ได้แก่ การผลิต
    ยานยนต์ การผลิตชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และการผลิตเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ไตรมาสที่ 2 ปี 2564 มีค่าดัชนี 82.43 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (85.30) แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2563 (78.10) ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ล่วงหน้า 3 เดือน อยู่ที่ระดับ 91.80 ลดลงจากไตรมาส เดียวกันของปี 2563 (92.37)

ปัจจัยลบที่ส่งผลต่อการลดลงของความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในช่วงไตรมาส 2 ปี 2564 ยังเป็นผลจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้นในไทย จากการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 มีจํานวนผู้ติดเชื้อในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นประมาณ 2,000-5,000 คนต่อวัน ส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวช้าจากการล็อกดาวน์ในพื้นที่เสี่ยงสีแดงเข้ม (กทม. และปริมณฑล) นอกจากนี้ การฉีดวัคซีนยังทําได้จํากัดในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และผู้ที่มีโรคเรื้อรัง 7 โรค เนื่องจากหลายปัจจัย เช่น ความเชื่อมั่นของประชาชนในการลงทะเบียนฉีดวัคซีนไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แต่ก็ยังมีปัจจัยที่พยุงเศรษฐกิจภาคการผลิตให้ดําเนินกิจการอย่างต่อเนื่องและไม่หยุดชะงัก โดยมีมาตรการ Good Factory Practice (GFP) ให้สถานประกอบการพิจารณาประเมินตนเองด้วยโปรแกรม Thai Stop Covid Plus และให้สถานประกอบกิจการพิจารณาคัดกรองพนักงานก่อนเข้าสถานประกอบกิจการอย่างเข้มงวดและมาตรการ Bubble and seal เป็นการสกัดเชื้อโควิด-19 และป้องกันผู้มีความเสี่ยงในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดสูงขยายวงกว้างลุกลามสู่ภาคการผลิตในโรงงานโดยเฉพาะโรงงานขนาดใหญ่ แคมป์คนงาน และชุมชนในพื้นที่เสี่ยงสีแดงเข้ม เป็นต้น

 

อ่านต่อ: