ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม MPI กันยายน 2565

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม MPI ปี 2565 เดือน ก.ย. เพิ่มขึ้น 3.36% รวม 9 เดือน เพิ่ม 2.83%

อัปเดตล่าสุด 31 ต.ค. 2565
  • Share :
  • 983 Reads   

ดัชนี MPI ก.ย. 65 อยู่ที่ระดับ 97.90 เพิ่มขึ้น 3.36% (YoY) ภาพรวม 9 เดือนแรก เพิ่มขึ้น 2.83% ตอบรับเศรษฐกิจฟื้นตัว ดันสินค้าอุตฯ โตต่อเนื่องเดือนที่ 22 หนุนยอดส่งออกรถยนต์พุ่ง

วันที่ 31 ตุลาคม 2565 กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกันยายน 2565 ขยายตัวร้อยละ 3.36 และไตรมาส 3 ปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 8.06 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ 9 เดือนแรก MPI ขยายตัวร้อยละ 2.83 ส่วนการส่งออกสินค้าอุตฯ ขยายตัวร้อยละ 7.92 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 22 รับผลบวกจากรถยนต์มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น และสามารถผลิตได้ต่อเนื่อง ด้าน สศอ. คาดดัชนี MPI  เดือนตุลาคม 2565 ยังขยายตัวต่อเนื่อง ชี้น้ำท่วมยังไม่กระทบต่อการผลิตของภาคอุตสาหกรรมในภาพรวม โดยกระทรวงอุตฯ จัดทำมาตรการป้องกัน เยียวยา และฟื้นฟู พร้อมลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบเป็นการเร่งด่วน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกันยายน 2565 อยู่ที่ 97.90 ขยายตัวร้อยละ 3.36 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศและการส่งออก สะท้อนได้จากการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ติดต่อกัน รวมถึงการผลิตสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี อาทิ เบียร์ เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า และเครื่องประดับ ประกอบกับสถานการณ์เงินเฟ้อมีทิศทางชะลอตัวลงต่อเนื่อง จากดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) หมวดสินค้าอุตสาหกรรมในเดือนกันยายน ที่ขยายตัวร้อยละ 7.9 ปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคมที่ขยายตัวร้อยละ 8.7 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดของปี 2565

นอกจากนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) เดือนกันยายน 2565 อยู่ที่ 19,710.60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 7.92 เมื่อเทียบกับช่วงปีก่อน เป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 22 ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีมาตรการป้องกัน ช่วยเหลือ ฟื้นฟูสำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งได้กำชับและมอบหมายให้ทุกหน่วยงานลงพื้นที่มอบถุงยังชีพให้ประชาชนที่เดือดร้อนและได้รับผลกระทบในพื้นที่ประสบภัยเป็นการเร่งด่วนอีกด้วย

ด้าน นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกันยายน 2565 ขยายตัวร้อยละ 3.36 และไตรมาส 3 ปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 8.06 ส่งผลให้ 9 เดือนแรก ปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 2.83 โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกในเดือนกันยายน 2565 ได้แก่ ยานยนต์ จากรถบรรทุกปิกอัพ รถยนต์นั่งขนาดกลาง และรถยนต์นั่งขนาดเล็ก ที่มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นและสามารถผลิตได้ต่อเนื่อง น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวจากการเดินทางท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ หลังเปิดประเทศเต็มรูปแบบ และชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวตามการเติบโตของตลาดโลก                    
 
ทั้งนี้ จากการใช้เครื่องมือระบบเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย (The Early Warning System Industry Economics : EWS-IE) พบว่า คาดการณ์ดัชนี MPI เดือนตุลาคม 2565 ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง และทั้งปี 2565 คาดการณ์ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.5-2.5 มาจากแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้น  การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ นอกจากนี้สถานการณ์การส่งออกจะยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดอาเซียน และตะวันออกกลาง เช่น ประเทศกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) และออสเตรเลีย อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวังและติดตาม ได้แก่ ค่าเงินบาทที่เคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าลง ตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) วิกฤตพลังงาน จากความผันผวนของราคาน้ำมัน ทำให้ต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมไทยเพิ่มขึ้น และทิศทางเศรษฐกิจโลกชะลอตัว จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก รวมถึงการเกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น  

อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมภาคการผลิตในภาพรวมไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากสถานการณ์น้ำท่วม เนื่องจากผู้ประกอบการเตรียมพร้อมรับมือและมีมาตรการป้องกันจากประสบการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในปี 2554 ขณะเดียวกัน สศอ. ได้มอบสิ่งของอุปโภค บริโภค และของใช้ที่จำเป็น เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงร่วมปล่อยขบวนคาราวานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ภายใต้โครงการ “อุตสาหกรรมรวมใจ ช่วยพี่น้องชาวไทย” ของกระทรวงอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังได้จัดทำข้อเสนอแนะแนวทางมาตรการป้องกัน เยียวยา และฟื้นฟูผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนต่อไป

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตในเดือนกันยายน 2565 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่

ยานยนต์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 25.98 จากรถบรรทุกปิกอัพ รถยนต์นั่งขนาดกลาง และรถยนต์นั่งขนาดเล็ก ทั้งตลาดในประเทศและการส่งออก หลังจากมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น และสามารถผลิตได้ต่อเนื่อง

น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 21.68 จากน้ำมันดีเซล น้ำมันเครื่องบิน และน้ำมันเบนซิน 95 จากการเดินทางในประเทศของนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ

ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.59 จากแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และ IC ตามการขยายตัวของตลาดโลก 

จักรยานยนต์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 72.69 ตามการขยายตัวของตลาดในประเทศและการส่งออก หลังจากปีที่แล้วฐานต่ำ จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในโรงงานผลิตชิ้นส่วน ทำให้ผู้ผลิตขาดชิ้นส่วนเพื่อทำการผลิต

น้ำมันปาล์ม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 34.41 จากน้ำมันปาล์มดิบ และน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ จากผลผลิตปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก

 

#ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 2565 #ดัชนี mpi 2565 #ผลผลิตอุตสาหกรรม industrial production #การส่งออกอุตสาหกรรม #อุตสาหกรรมไทย #สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม #สศอ.

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH