ส่งออกไทย 2565 เดือนมิถุนายน (มิ.ย.)

ส่งออกไทย 2565 เดือน มิ.ย. ขยายตัว 11.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

อัปเดตล่าสุด 29 ก.ค. 2565
  • Share :
  • 4,227 Reads   

สถานการณ์ส่งออกในเดือนมิถุนายน 2565 ไทยทำตัวเลขส่งออกได้อยู่เหนือระดับ 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่องเดือนที่ 16 ที่ตัวเลข 11.9% เมี่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน

วันที่ 27 กรกฎาคม 2565 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย ตัวเลขการส่งออกเดือนมิถุนายน 2565 มีมูลค่า 26,553.1 ล้านเหรียญสหรัฐ (907,286 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 11.9 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 10.4 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรเป็นแรงหนุนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตของการส่งออกในเดือน มิ.ย. สะท้อนความสามารถในการผลิตสินค้าอาหารของไทยป้อนสู่ตลาดโลก และสอดรับนโยบาย “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมยังคงเติบโตตามการขยายตัวของภาคการผลิตโลก

สอดคล้องกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตโลก (Global Manufacturing PMI) ที่อยู่เหนือระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 24 สำหรับด้านตลาดส่งออกสำคัญส่วนใหญ่ขยายตัวต่อเนื่องทั้งตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ อาเซียน สหภาพยุโรป และตลาดรอง ได้แก่ เอเชียใต้ ทวีปออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกา ทั้งนี้ การส่งออกไทยครึ่งแรกของปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 12.7 และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 9.0

สรุปมูลค่าการค้ารวม

มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนมิถุนายน 2565 การส่งออก มีมูลค่า 26,553.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 11.9 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 28,082.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 24.5 ดุลการค้าขาดดุล 1,529.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ภาพรวมครึ่งแรกของปี 2565 (มกราคม-มิถุนายน) การส่งออก มีมูลค่า 149,184.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 12.7 การนำเข้า มีมูลค่า 155,440.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 21.0 ดุลการค้าขาดดุล 6,255.9 ล้านเหรียญสหรัฐ

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม

มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 6.7 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 16 เดือน โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัวดี ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 9.1 ขยายตัวต่อเนื่อง 16 เดือน (ขยายตัวในตลาดอินเดีย เยอรมนี สหราชอาณาจักร สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเบลเยียม) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 10.4 ขยายตัวต่อเนื่อง 17 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และอินเดีย) เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ ขยายตัวร้อยละ 13.4 ขยายตัวต่อเนื่อง 19 เดือน (ขยายตัวในตลาดนอร์เวย์ อินเดีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย) เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 52.1 ขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ ฮ่องกง เมียนมา และไต้หวัน) ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม ขยายตัวร้อยละ 37.9 ขยายตัวต่อเนื่อง 19 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน อินเดีย เวียดนาม และเกาหลีใต้) เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ ขยายตัวร้อยละ 33.3 ขยายตัวต่อเนื่อง 22 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และจีน)

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 6.0 หดตัวต่อเนื่อง 6 เดือน (หดตัวในตลาดออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เวียดนาม สหรัฐฯ และมาเลเซีย แต่ขยายตัวในตลาดฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ชิลี แอฟริกาใต้ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) ผลิตภัณฑ์ยาง หดตัวร้อยละ 4.9 กลับมาหดตัวอีกครั้ง (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เยอรมนี และอินเดีย แต่ขยายตัวในตลาดจีน มาเลเซีย เวียดนาม เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย) รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 24.4 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ กัมพูชา และบราซิล แต่ขยายตัวในตลาดเบลเยียม สหราช-อาณาจักร เนเธอร์แลนด์ เวียดนาม และมาเลเซีย) ทั้งนี้ ครึ่งแรกของปี 2565 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 10.5 (YoY)

การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร

มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 24.5 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 19 เดือน สินค้าสำคัญที่ขยายตัวดี ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัวร้อยละ 39.4 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเมียนมา) ยางพารา ขยายตัวร้อยละ 16.1 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐฯ เกาหลีใต้ ตุรกี และอินเดีย) ข้าว ขยายตัวร้อยละ 68.2 ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน (ขยายตัวในตลาดอิรัก สหรัฐฯ แอฟริกาใต้ เบนิน ฮ่องกง และเซเนกัล) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 15.3 ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อียิปต์ แคนาดา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และลิเบีย) น้ำตาลทราย ขยายตัวร้อยละ 92.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 11 เดือน (ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา เกาหลีใต้ ลาว และญี่ปุ่น) ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และไก่แปรรูป ขยายตัวร้อยละ 20.1 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร จีน เนเธอร์แลนด์ และเกาหลีใต้) อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวร้อยละ 13.6 ขยายตัวต่อเนื่อง 34 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น มาเลเซีย ออสเตรเลีย และฟิลิปปินส์)

สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องดื่ม หดตัวร้อยละ 7.6 (หดตัวในตลาดเมียนมา จีน สิงคโปร์ แต่ขยายตัวในตลาดเวียดนาม กัมพูชา ลาว ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง และเกาหลีใต้) สิ่งปรุงรสอาหาร หดตัวร้อยละ 4.4 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ ฟิลิปปินส์ และเมียนมา แต่ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย มาเลเซีย กัมพูชา เกาหลีใต้ และรัสเซีย) เครื่องเทศและสมุนไพร หดตัวร้อยละ 42.1 หดตัวต่อเนื่อง 8 เดือน (หดตัวในตลาดเมียนมา ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ปากีสถาน และออสเตรเลีย แต่ขยายตัวในตลาดบังกลาเทศ เวียดนาม จีน อินเดีย และมาเลเซีย) ทั้งนี้ ครึ่งแรกของปี 2565 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 17.1 (YoY)

ตลาดส่งออกสำคัญ

การส่งออกไปตลาดสำคัญส่วนใหญ่ขยายตัวต่อเนื่อง ตามคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าที่ยังมีต่อเนื่อง ท่ามกลางปัจจัยกดดันจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงจากผลกระทบของความขัดแย้งในยูเครนที่ยืดเยื้อ และอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปจีนและญี่ปุ่นยังมีความไม่แน่นอน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ยังซบเซาจากผลกระทบของมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เข้มงวด 

ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้ (1) ตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 11.9 โดยขยายตัวต่อเนื่องในตลาดสหรัฐฯ ร้อยละ 12.1 อาเซียน (5) ร้อยละ 35.6 CLMV ร้อยละ 19.5 สหภาพยุโรป (27) ร้อยละ 5.0 ขณะที่ตลาดจีน และญี่ปุ่น กลับมาหดตัวร้อยละ 2.7 และ 1.0 ตามลำดับ (2) ตลาดรอง ขยายตัวร้อยละ 13.2 ขยายตัวในตลาดเอเชียใต้ ร้อยละ 49.5 ทวีปออสเตรเลีย ร้อยละ 4.9 ตะวันออกกลาง ร้อยละ 24.0 ทวีปแอฟริกา ร้อยละ 12.1 และลาตินอเมริกา ร้อยละ 17.2 ขณะที่รัสเซียและกลุ่ม CIS หดตัวร้อยละ 46.8 และ (3) ตลาดอื่น ๆ หดตัวร้อยละ 18.3 อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ หดตัวร้อยละ 66.7

 

แนวโน้มการส่งออกระยะถัดไป

ส่วนแนวโน้มการส่งออกระยะถัดไป กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่า การส่งออกไทยยังขยายตัวได้ดี โดยคาดว่าจะสามารถบรรลุตามเป้าหมายในการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ได้ เนื่องจากการทำงานเชิงรุกในการส่งเสริมตลาดหลัก และตลาดใหม่ ๆ ขณะที่ปัจจัยด้านเศรษฐกิจช่วยเกื้อหนุนการส่งออก ได้แก่ ความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารในตลาดโลกเพิ่มขึ้นจากกระแสการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ขณะเดียวกันการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมยังเติบโตตามการขยายตัวของภาคการผลิตโลก สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทรงตัว ปริมาณตู้สินค้าและเรือขนส่งสินค้าที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น ช่วยอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้า และค่าเงินบาทอ่อนค่า มีส่วนช่วยให้การส่งออกสินค้าไทยสามารถแข่งขันด้านราคากับคู่แข่งในตลาดโลกได้ อย่างไรก็ดี ยังมีความเสี่ยงที่อาจเกิดการชะลอตัวของการบริโภคที่มีสาเหตุมาจากภาวะเงินเฟ้อโลกที่พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออำนาจซื้อของผู้บริโภคในต่างประเทศ

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH