ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม MPI สิงหาคม 2566

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม MPI ปี 2566 เดือน ส.ค. หดตัว 7.53% ต่อเนื่องเดือนที่ 5

อัปเดตล่าสุด 28 ก.ย. 2566
  • Share :

สศอ. เผยกำลังซื้อประเทศคู่ค้าอ่อนแอ กดดันดัชนี MPI เดือน ส.ค. 2566 หดตัวร้อยละ 7.53 ชี้การส่งออกชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก และปัจจัยในประเทศยังฟื้นตัวช้า

วันที่ 28 กันยายน 2566 สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนสิงหาคม ปี 2566 อยู่ที่ระดับ 91.85 ลดลงร้อยละ 7.53 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการชะลอตัวของการส่งออกตามภาวะเศรษฐกิจโลก และกําลังซื้อของประเทศคู่ค้าที่อ่อนแอ กดดันความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมลดลง ด้านเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวช้า จากปัจจัยเสี่ยงปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ หวังนโยบายรัฐบาลใหม่จะช่วยดันอำนาจซื้อประชาชนสูงขึ้น หนุน GDP อุตฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนสิงหาคม ปี 2566 อยู่ที่ระดับ 91.85 ลดลงร้อยละ 7.53 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ช่วง 8 เดือนแรกของปี 2566 ลดลงเฉลี่ยร้อยละ 4.95 ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 58.18 และช่วง 8 เดือนแรกของปี 2566 อยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 60.09 เป็นผลจากการส่งออกที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก และกําลังซื้อของประเทศคู่ค้าที่อ่อนแอโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา จีน และยุโรป ทำให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมลดลง รวมถึงเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวช้า โดยมีปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินและภาระหนี้ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น ขณะที่สภาพอากาศที่แปรปรวนจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรและรายได้ของเกษตรกรลดลง กดดันกําลังซื้อในส่วนภูมิภาค อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวช่วยสนันสนุนการบริโภคในประเทศ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลง โดยเงินเฟ้อเดือนสิงหาคม 2566 อยู่ที่ร้อยละ 0.88

นอกจากนี้ การเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของไทยเดือนกันยายน 2566 “ส่งสัญญาณเฝ้าระวังในช่วงขาลง” จากปัจจัยภายในประเทศชะลอตัวตามการลงทุน และปริมาณนําเข้าสินค้า โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชนของไทยหดตัวมากขึ้น เป็นผลจากการหดตัวของการจําหน่ายวัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรและอุปกรณ์ และยอดจดทะเบียนยานยนต์ใหม่ในประเทศที่ปรับลดต่อเนื่องเป็นเดือนที่สาม ด้านดัชนีปริมาณสินค้านําเข้าของไทยมีโอกาสฟื้นตัวระยะสั้น จากการนําเข้าก๊าซธรรมชาติที่ลดลง นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของไทย 3 เดือนข้างหน้ายังชะลอตัวจากการเผชิญกับภาวะต้นทุนที่สูงอย่างต่อเนื่อง ส่วนความเชื่อมั่นในภาคการผลิตได้รับผลกระทบจากอุปสงค์โลกที่ชะลอลงและสินค้าคงคลังของประเทศคู่ค้าสําคัญยังอยู่ในระดับสูง และดัชนีภาคอุตสาหกรรม 3 เดือนข้างหน้า ชะลอตัวจากความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกที่กระทบต่อการส่งออกไทย อีกทั้งผู้ประกอบการยังกังวลเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต เช่น การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ และนโยบายด้านพลังงาน เป็นต้น

“สำหรับประเด็นที่น่าติดตามในช่วงนี้ ได้แก่ นโยบายของรัฐบาลใหม่ เช่น กระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet) การแก้ปัญหาหนี้สิน การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน การผลักดันสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว และเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ เป็นต้น โดยจะเกิดการหมุนเวียนเม็ดเงินในระบบตั้งแต่ระดับครัวเรือนไปจนถึงระดับประเทศพร้อมกัน คาดว่าจะเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจจากกําลังซื้อของภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นทั่วทุกพื้นที่ ส่งผลโดยรวมต่อภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมให้มีการขยายการลงทุนและการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นในภาคธุรกิจ ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์ คือ กลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภค กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีต้นทุนพลังงานสูง หรือ มีการใช้ไฟฟ้าจํานวนมาก เช่น กลุ่มเหล็กและโลหะพื้นฐาน กลุ่มพลาสติก กลุ่มรถจักรยานยนต์ รถปิกอัพ และยางล้อ เป็นต้น” นางวรวรรณ กล่าว

 

#ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 2566 #ดัชนี mpi 2566 #ผลผลิตอุตสาหกรรม industrial production #การส่งออกอุตสาหกรรม #อุตสาหกรรมไทย #สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม #สศอ.

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH