ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม MPI ปี 2566 เดือน เม.ย. หดตัว 8.14% จากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว
สศอ. เผยดัชนี MPI เดือน เม.ย. 2566 หดตัว 8.14% เหตุเศรษฐกิจโลกชะลอตัว พร้อมปรับประมาณการ GDP ภาคอุตสาหกรรมปีนี้ คาดขยายตัว 0.0 - 1.0%
วันที่ 31 พฤษภาคม 2566 สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนเมษายน ปี 2566 หดตัวที่ร้อยละ 8.14 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ชี้ภาคการผลิตอุตสาหกรรมไทยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่หดตัวลง ต้นทุนการผลิต - การเงินเพิ่มขึ้น กดดันภาคการส่งออก และขีดความสามารถการแข่งขันในอุตสาหกรรมไทยลดลง พร้อมปรับประมาณการดัชนี MPI และ GDP ภาคอุตสาหกรรม ปีนี้ขยายตัวที่ร้อยละ 0.0 – 1.0
- ดัชนีราคาผู้ผลิตไทย 2566 เดือน เม.ย. ลดลง 3.4% อยู่ในทิศทางลบต่อเนื่องเดือนที่ 2
- อุตสาหกรรมแอร์ไทยคึกคักรับหน้าร้อน ดันการผลิต มี.ค. 66 ขยายตัวสูงสุดรอบ 8 ปี
- กกร. คง GDP ปี'66 บวก 3 - 3.5% ส่งออกติดลบ 1% ชี้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวครึ่งปีหลัง
นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนเมษายน ปี 2566 อยู่ที่ระดับ 83.51 หดตัวร้อยละ 8.14 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหดตัวร้อยละ 20.79 เมื่อเทียบจากเดือนก่อน ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 53.82 และช่วง 4 เดือนแรก ปี 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 61.31 ส่งผลให้ดัชนี MPI 4 เดือนแรก ปี 2566 อยู่ที่ระดับ 96.87 หดตัวร้อยละ 4.69 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว รวมถึงต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไทยลดลง ทั้งนี้ ต้องจับตาอุตสาหกรรมที่เคยเติบโตดี แต่เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวจากความต้องการทั้งในประเทศที่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเฉพาะในรถกระบะ 1 ตัน อย่างไรก็ดี การบริโภคในประเทศยังขยายตัวจากเศรษฐกิจในประเทศทยอยปรับดีขึ้นต่อเนื่อง
จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่หดตัวและปัญหาภาคการเงินของสหรัฐฯ ทำให้ประเทศคู่ค้าชะลอคำสั่งซื้อสินค้าในหลายอุตสาหกรรม รวมถึงต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากค่าไฟฟ้าและต้นทุนทางการเงินจากการขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงขึ้น เริ่มมีผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยให้ปรับลดลง และมีผลต่อการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมได้น้อยลง ทั้งนี้ สศอ. ได้คาดการณ์ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เดือนพฤษภาคม ปี 2566 ส่งสัญญาณเฝ้าระวัง โดยมีปัจจัยบวกจากการบริโภคและการท่องเที่ยว อีกทั้ง การลงทุนที่เพิ่มขึ้น แต่ต้องจับตาดูการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ปัญหาภาคการเงินของสหรัฐฯ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อผลผลิตการเกษตร อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ภาระหนี้สินครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น
“จากการที่ดัชนี MPI 4 เดือนแรก ปี 2566 และ GDP ภาคอุตสาหกรรมในไตรมาสแรก ปี 2566 หดตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สศอ. จึงได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมปี 2566 โดยคาดว่า MPI ปี 2566 จะขยายตัวที่ร้อยละ 0.0 - 1.0 และ GDP ภาคอุตสาหกรรมปี 2566 จะขยายตัวที่ร้อยละ 0.0 - 1.0 จากประมาณการครั้งก่อน คาดดัชนี MPI จะขยายตัวที่ร้อยละ 1.5 – 2.5 และ GDP ภาคอุตสาหกรรม จะขยายตัวที่ร้อยละ 1.5 – 2.5” นางวรวรรณ กล่าว
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตในเดือนเมษายน 2566 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่
น้ำตาล ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 19.15 จากผลิตภัณฑ์น้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ เป็นหลัก เนื่องจากความต้องการบริโภคทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น ตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง รวมถึงผลผลิตของน้ำตาลต่อตันอ้อยโดยเฉลี่ยสูงขึ้น
ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.87 จากผลิตภัณฑ์น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และน้ำมันเครื่องบิน เป็นหลัก ตามปริมาณการเดินทางที่เพิ่มขึ้น โดยนักท่องเที่ยวต่างประเทศ เพิ่มขึ้นสู่ระดับใกล้เคียงกับช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 เช่นเดียวกับการเดินทางในประเทศที่กลับสู่ระดับปกติ
มอลต์และสุราที่ทำจากข้าวมอลต์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 17.58 เนื่องจากความต้องการบริโภคที่มากขึ้นในเทศกาลสงกรานต์ รวมถึงการที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศมากขึ้น
น้ำมันปาล์ม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.92 จากผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ โดยในปีนี้มีปริมาณผลปาล์มเข้าสู่โรงงานพร้อมกันจำนวนมาก ซึ่งปีนี้ผลปาล์มมีมากกว่าปีก่อน ส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มปรับลดลง ความต้องการในประเทศจึงปรับเพิ่มขึ้นตาม
ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากกระดาษและกระดาษแข็ง ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.14 จากผลิตภัณฑ์กระดาษพิมพ์เขียน เป็นหลัก เนื่องจากปีนี้สามารถเปิดเรียน Onsite เต็มรูปแบบ ทำให้มีการใช้กระดาษพิมพ์เขียนมากขึ้น ประกอบกับอานิสงส์จากการใช้กระดาษในกิจกรรมการเลือกตั้ง
#ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 2566 #ดัชนี mpi 2566 #ผลผลิตอุตสาหกรรม industrial production #การส่งออกอุตสาหกรรม #อุตสาหกรรมไทย #สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม #สศอ.
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- สรุปยอดขายรถยนต์ในไทย ปี 2565
- ครม. อนุมัติงบอุดหนุนรถ BEV 18,000 - 150,000 บาท/คัน
- ภาพรวมอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ของไทย
- 17 อุตสาหกรรมแนวโน้มเติบโตในปี 2566
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH