ส่งออกไทย 2566 เดือนสิงหาคม (ส.ค.) กระทรวงพาณิชย์, ส่งออกไทย สิงหาคม 2566, ส่งออกไทยไปจีน, ส่งออกไทยล่าสุด, ส่งอกไทย ส.ค. 66

ส่งออกไทย 2566 เดือน ส.ค. กลับมาขยายตัว 2.6% ครั้งแรกในรอบ 11 เดือน

อัปเดตล่าสุด 27 ก.ย. 2566
  • Share :
  • 733 Reads   

สถานการณ์ส่งออกในเดือนสิงหาคม 2566 ไทยทำตัวเลขส่งออกอยู่เหนือระดับ 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 2.6% เมี่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน กลับมาเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 11 เดือน

วันที่ 26 กันยายน 2566 นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยตัวเลขการส่งออกเดือนสิงหาคม 2566 มีมูลค่า 24,279.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (824,938 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 2.6 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 3.9 ได้รับแรงหนุนจากสัญญาณการฟื้นตัวของภาคการผลิตโลกที่ดีขึ้นกว่าเดือนก่อนหน้า แม้ว่าจะยังอยู่ระดับต่ำกว่าปกติ การใช้จ่ายของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นตามภาคบริการของประเทศคู่ค้าที่ขยายตัวส่งผลดีต่อสินค้าส่งออกที่เกี่ยวเนื่อง 

รวมทั้งการส่งเสริมนโยบายพลังงานสะอาดและความต้องการสินค้าเทคโนโลยีทำให้หมวดสินค้าอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวอีกครั้ง ประกอบกับการอ่อนค่าของเงินบาทในระดับที่เหมาะสมส่งผลดีต่อการส่งออก ตลาดคู่ค้าสำคัญฟื้นตัวได้ดี อาทิ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน ออสเตรเลียซาอุดีอาระเบีย และแอฟริกาใต้ โดยการส่งออกของไทยในเดือนนี้ยังทำได้ดีกว่าหลายประเทศในภูมิภาค และกลับมาเกินดุลการค้าอีกครั้ง ทั้งนี้ การส่งออกไทย 8 เดือนแรกของปี 2566 หดตัวร้อยละ 4.5 และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย หดตัวร้อยละ 1.5 

สรุปมูลค่าการค้ารวม

มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนสิงหาคม 2566 การส่งออก มีมูลค่า 24,279.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 2.6 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 23,919.7 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 12.8 ดุลการค้า เกินดุล 359.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาพรวม 8 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออก มีมูลค่า 187,593.1 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 4.5 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 195,518.6 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 5.7 ดุลการค้า 8 เดือนแรกของปี 2566 ขาดดุล 7,925.4 ล้านเหรียญสหรัฐ

การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร

มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 1.5 (YoY) หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน โดยสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 7.6 หดตัวต่อเนื่อง 5 เดือน แต่สินค้าเกษตรกลับมาขยายตัวในรอบ 4 เดือน ขยายตัวร้อยละ 4.2 ทั้งนี้ มีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัวร้อยละ 99.8 ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน มาเลเซีย สหรัฐฯ เวียดนาม และเกาหลีใต้) ข้าว ขยายตัวร้อยละ 10.8 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ อินโดนีเซีย มาเลเซีย โมซัมบิก และแองโกลา) สิ่งปรุงรสอาหาร ขยายตัวร้อยละ 28.6 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ เนเธอร์แลนด์ และมาเลเซีย) ผักกระป๋องและผักแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 26.5 ขยายตัวต่อเนื่อง 7 เดือน (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐฯ เกาหลีใต้ จีน และไต้หวัน) นมและผลิตภัณฑ์นม ขยายตัวร้อยละ 13.2 ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน (ขยายตัวในตลาดฟิลิปปินส์ กัมพูชา สิงคโปร์ เวียดนาม และลาว) ผักสด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัวร้อยละ 22.8 ขยายตัวในรอบ 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น ไต้หวัน สหรัฐฯ ออสเตรเลีย และกัมพูชา)

 

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ อาทิ ยางพารา หดตัวร้อยละ 32.9 หดตัวต่อเนื่อง 13 เดือน (หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย แต่ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ตุรกี เวียดนาม โรมาเนีย และไต้หวัน) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวร้อยละ 12.8 หดตัวต่อเนื่อง 5 เดือน (หดตัวในตลาดจีน ไต้หวัน มาเลเซีย สหรัฐฯ และฟิลิปปินส์ แต่ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย นิวซีแลนด์ และเวียดนาม) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป หดตัวร้อยละ 9.7 หดตัวต่อเนื่อง 8 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กัมพูชา และแอฟริกาใต้ แต่ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น แคนาดา ซาอุดีอาระเบีย ลิเบีย และชิลี) น้ำตาลทราย หดตัวร้อยละ 23.1 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดอินโดนีเซีย กัมพูชา มาเลเซีย ไต้หวัน และจีน แต่ขยายตัวในตลาดฟิลิปปินส์ ลาว เกาหลีใต้ เวียดนาม และสิงคโปร์) ไก่แปรรูป หดตัวร้อยละ 12.8 หดตัวต่อเนื่อง 9 เดือน (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ เกาหลีใต้ และเยอรมนี แต่ขยายตัวในตลาดสิงคโปร์ ไอร์แลนด์ แคนาดา ฮ่องกง และฝรั่งเศส) ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ หดตัวร้อยละ 57.4 หดตัวต่อเนื่อง 5 เดือน (หดตัวในตลาดเมียนมา มาเลเซีย กัมพูชา ญี่ปุ่น และฮ่องกง แต่ขยายตัวในตลาดเกาหลีใต้ เนเธอร์แลนด์ เวียดนาม จีน และนอร์เวย์) ทั้งนี้ 8 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 3.5

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม

มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 2.5 (YoY) กลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน ซึ่งมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 5.2 ขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือน (ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และแอฟริกาใต้) แผงวงจรไฟฟ้า ขยายตัวร้อยละ 39.8 ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน สหรัฐฯ และมาเลเซีย) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 6.4 ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน ออสเตรเลีย และเนเธอร์แลนด์) เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 36.9 ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง เม็กซิโก เนเธอร์แลนด์ และสิงคโปร์) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด ขยายตัวร้อยละ 74.5 ขยายตัวต่อเนื่อง 14 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน อินเดีย เกาหลีใต้ และกัมพูชา) หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 59.1 ขยายตัวต่อเนื่อง 22 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ เม็กซิโก ญี่ปุ่น และไต้หวัน)

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 26.9 หดตัวต่อเนื่อง 11 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ และมาเลเซีย แต่ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย อินเดีย ไต้หวัน เวียดนาม และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) ผลิตภัณฑ์ยาง หดตัวร้อยละ 4.7 หดตัวต่อเนื่อง 9 เดือน (หดตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย เวียดนาม และอินเดีย แต่ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และเนเธอร์แลนด์) อัญมณีและเครื่องประดับ(ไม่รวมทองคำ) หดตัวร้อยละ 10.4 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ อินเดีย เยอรมนี สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น แต่ขยายตัวในฮ่องกง เบลเยียม อิตาลี ออสเตรเลีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 23.4 หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (หดตัวในตลาดออสเตรเลีย สหรัฐฯ สิงคโปร์ เวียดนาม และอินเดีย แต่ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ตุรกี เกาหลีใต้ และสหราชอาณาจักร) ทั้งนี้ 8 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 4.1

ตลาดส่งออกสำคัญ

การส่งออกไปยังตลาดสำคัญส่วนใหญ่กลับมาขยายตัว สอดคล้องกับสัญญาณการปรับดีขึ้นของการผลิตภาคอุตสาหกรรมของโลก

ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้ (1) ตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 2.3 โดยขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ร้อยละ 21.7 จีน ร้อยละ 1.9 และญี่ปุ่น ร้อยละ 15.7 แต่ยังหดตัวต่อเนื่องในตลาดอาเซียน (5) CLMV และสหภาพยุโรป (27) ร้อยละ 1.5 ร้อยละ 21.3 และร้อยละ 11.6 (2) ตลาดรอง ขยายตัวร้อยละ 2.4 โดยขยายตัวในตลาดทวีปออสเตรเลีย ร้อยละ 22.4 แอฟริกา ร้อยละ 4.9 รัสเซียและกลุ่ม CIS ร้อยละ 30.4 และสหราชอาณาจักร ร้อยละ 10.7 ขณะที่ตลาดเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และลาตินอเมริกา หดตัวร้อยละ 0.9 ร้อยละ 12.6 และร้อยละ 11.7 (3) ตลาดอื่น ๆ ขยายตัวร้อยละ 62.8 อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ ขยายตัวร้อยละ 53.6

แนวโน้มการส่งออกระยะถัดไป

สำหรับแนวโน้มการส่งออกระยะถัดไป กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่า การส่งออกในช่วงที่เหลือของปี จะมีแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป สินค้าที่เกี่ยวข้องกับเมกะเทรนส์ด้านพลังงานสะอาด และเทคโนโลยีดิจิทัลมีทิศทางที่ขยายตัวได้ดี ส่วนความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารที่เป็นสินค้าศักยภาพของไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งในช่วงปลายปีมูลค่าการส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากคำสั่งซื้อสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับเทศกาลเฉลิมฉลองในประเทศคู่ค้า สำหรับภาพรวมตลาดส่งออกเริ่มเห็นการฟื้นตัวของตลาดหลัก อย่างสหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น กลับมาบวก ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี และตลาดส่งออกใหม่ ๆ ที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกจากการคงอัตราดอกเบี้ยระดับสูงยาวนานที่จะชะลอการผลิตและการบริโภคสินค้าโดยเฉพาะสินค้าที่ไม่จำเป็น ภาวะภัยแล้งที่อาจจะกระทบต่อผลผลิตเพื่อการส่งออก และปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติ ล้วนเป็นปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกแทบทั้งสิ้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH