อัปเดตสถานการณ์และภาวะอุตสาหกรรมพลาสติกไทย เดือนสิงหาคม 2563
ศูนย์ข้อมูลและวิจัยอุตสาหกรรมพลาสติก สถาบันพลาสติก โดยนายศตพร สภานุชาต ผู้จัดการศูนย์ฯ ได้ออกบทวิเคราะห์และจัดทำรายงาน "ภาพรวมอุตสาหกรรมพลาสติกไทย ประจำเดือนสิงหาคม 2563 (Thailand Plastics Industry Snapshot for August 2020)" ดังนี้
ตามข้อมูลของเดือนกรกฎาคม 2020 (Data as of July 2020)
ภาพรวมเศรษฐกิจโลกพื้นตัวอย่างต่อเนื่อง จากดัชนี Global PMI ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเข้าสู่ระดับ 50.3 จุด โดยมีการขยายตัวทั้งผลผลิต คำสั่งซื้อสินค้าใหม่ การจ้างงาน และราคาวัตถุดิบกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นเป็นลำดับส่งผลให้ระดับความต้องการบริโภคน้ำมันดิบเพิ่มสูงขึ้น ผนวกกับทิศทางการควบคุมกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปคและประเทศพันธมิตร ยังคงเป็นไปตามข้อตกลง ส่งผลหนุนให้ระดับราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องสู่ระดับราคาเฉลี่ยที่ 41.9 USD/Barrel ในเดือนนี้ ทิศทางราคาเม็ดพลาสติกก็ได้รับแรงผลักดันในทิศทางเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบด้วยเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกจะเริ่มฟื้นตัว แต่ยังอยู่ในภาวะเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ระลอก 2 ซึ่งตัวเลขผู้ติดเชื่อยังคงเพิ่มขึ้นในประเทศสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ ดังนั้นราคาน้ำมันดิบและเม็ดพลาสติกยังคงมีโอกาสผันผวนจากปัจจัยดังกล่าวเช่นกัน
การผลิตเม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติกยังคงอยู่ในภาวะการประเมินปริมาณผลผลิตและระดับสินค้าคงคลังให้สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศไทยได้ด้วยวความสมดุล ดังนั้น ในช่วงเวลานี้ระดับการผลิตมีแนวโน้มเคลื่อนไหวอย่างไม่มีทิศทางที่ชัดเจน โดยในเดือนนี้ดัชนี MPI หมวดเม็ดพลาสติก (TSIC 2013) และ หมวดผลิตภัณฑ์พลาสติกและยาง (TSIC 22) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมา +1.9% MoM และ +8.3% MoM ตามลำดับ
ภาพรวมการส่งออกในเดือนนี้
-
เม็ดพลาสติกส่งออกหดตัว -5.4% MoM จากส่งออกที่ลดลงในตลาดเอเชียเป็นหลัก (-10.2% MoM)
-
ผลิตภัณฑ์พลาสติกภาพรวมส่งออกขยายตัวได้จากเดือนที่ผ่านมาในอัตรา +2.8% MoM ที่ถึงแม้ตลาดส่งออกสำคัญอย่างกลุ่มประเทศอาเซียนจะหดตัว -1.7% MoM แต่ตลาดส่งออกหลักในทวีปเอเชียและอเมริกาเหนือขยายตัว +5.6% MoM และ +5.2 MoM ยังคงมีน้ำหนักหนุนให้ภาพรวมการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกเป็นบวกในเดือนนี้
อุตสาหกรรมพลาสติกไทยในระยะสั้น ถึงแม้จะเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่องเข้าสู่เดือนที่ 3 หากแต่อัตราเร่งของการฟื้นตัวยังไม่รวดเร็วมากนักจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่มีโอกาสเข้ากดดันเศรษฐกิจดังที่กล่าวไปในข้างต้น ทำให้ทิศทางการค้าระหว่างประเทศมีโอกาสขยายตัวและหดตัวสลับกันไปในแต่ละเดือน ดังนั้น การประเมินและทบทวนแผน และการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ทางธุรกิจระยะสั้นอย่างสม่ำเสมอ ยังคงมีความจำเป็นในสภาวะเช่นนี้
อ่านบทความและข่าวสารเพิ่มเติม https://www.thaiplastics.org/