ส.อ.ท. เปิดผลสำรวจผู้บริหารต่อมาตรการป้องกันและเยียวยาจากโควิดระลอกใหม่

ส.อ.ท. เผย CEO Survey เชื่อมั่น "มาตรการป้องกันและเยียวยาจากโควิดระลอกใหม่"

อัปเดตล่าสุด 27 ม.ค. 2564
  • Share :
  • 372 Reads   

วันพุธที่ 27 มกราคม 2564 นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ "มุมมองของผู้บริหาร ส.อ.ท. ต่อมาตรการป้องกันโควิด-19 และการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกใหม่" พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. ยังคงมีความเชื่อมั่นต่อมาตรการควบคุมการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ และมองว่ารัฐบาลจะสามารถกำกับดูแลให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ภายใน 2 – 4 เดือน แต่อย่างไรก็ตามยังคงมีความกังวัลเกี่ยวกับการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการระบาดโควิด-19 ที่อาจส่งผลกระทบต่อการประกอบการ อาทิ การขนส่งสินค้าข้ามจังหวัด การเดินทางของพนักงาน/ลูกจ้าง การใช้แรงงานต่างด้าว เป็นต้น

 

จากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 160 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 74 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นต่อมาตรการควบคุมการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ของภาครัฐ อยู่ในระดับมาก ที่ร้อยละ 46.3 สำหรับมาตรการควบคุมการระบาดโควิด-19 ของภาครัฐ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการประกอบการนั้น 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 มาตรการที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าข้ามจังหวัด ร้อยละ 60.6 อันดับ 2 การเดินทางของพนักงาน/ลูกจ้าง ร้อยละ 59.4 อันดับ 3 การใช้แรงงานต่างด้าวในภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 58.8 และหากดูจากผลกระทบด้านต้นทุนในการประกอบการที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการระบาดโควิด-19 พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 33.1 มีต้นทุนเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 10 – 20 ของต้นทุนการประกอบการในช่วงปกติ นอกจากนี้ FTI Poll ยังได้เจาะลึกไปถึงเรื่องความพร้อมในการรับมือกรณีที่จะต้องปิดกิจการ 14 วัน รวมทั้ง การดูแลพนักงานที่ติดโควิด พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 45.6 ไม่สามารถปิดกิจการ 14 วัน และต้องให้ภาครัฐเข้ามาดูแลพนักงานที่ติดโควิด รองลงมา ร้อยละ 35 มีความพร้อมในการปิดกิจการ 14 วัน แต่ต้องให้ภาครัฐเข้ามาดูแลพนักงานที่ติดโควิด และมีเพียงร้อยละ 19.4 ที่มีความพร้อมในการปิดกิจการ 14 วัน และสามารถดูแลพนักงานที่ติดโควิดได้
 
ในส่วนของความพึงพอใจของผู้บริหาร ส.อ.ท. ต่อมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด ระลอกใหม่ ที่ภาครัฐได้ออกมาตรการเยียวยาในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นโครงการมาตรการเราชนะ การขยายสิทธิ์โครงการคนละครึ่ง การลดค่าไฟฟ้า/ค่าน้ำประปา การขยายเวลาลดหย่อนส่งเงินสมทบประกันสังคม เป็นต้น พบว่า ส่วนใหญ่ ผู้บริหาร ส.อ.ท. มีความพึงพอใจอยู่ในระดับปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 58.1 และมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการที่ผู้บริหาร ส.อ.ท. อยากให้ภาครัฐพิจารณาดำเนินการเพิ่มเติม พบว่า สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 การลดดอกเบี้ยเงินกู้และพักชำระหนี้ ร้อยละ 73.8 อันดับ 2 การลดหย่อนทางภาษี/เลื่อนการชำระภาษี ร้อยละ 70.6 อันดับ 3 จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการ ร้อยละ 65.6 อันดับ 4 การกระตุ้นการบริโภคในกลุ่มผู้ที่เสียภาษี เท่ากันที่ ร้อยละ 64.4 และอันดับ 5 การปรับหลักเกณฑ์ พ.ร.ก. เงินกู้ฯ ให้เพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน ร้อยละ 57.5

ทั้งนี้ ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่ ร้อยละ 39.4 มองว่า รัฐบาลจะสามารถกำกับดูแลและควบคุมให้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ กลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ ภายใน 2 – 4 เดือน โดยที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างเข้มงวดและจริงจัง รวมทั้ง ภาครัฐจะต้องเข้ามาดูแลในส่วนของผู้ประกอบการรายย่อย (SME) ให้สามารถประคับประคองธุรกิจให้ผ่านช่วงเวลานี้ไปให้ได้