ส่งออกไทย 2565 เดือนกันยายน (ก.ย.) กระทรวงพาณิชย์

ส่งออกไทย 2565 เดือน ก.ย. ขยายตัว 7.8% ทำสถิติ 2.4 หมื่นล้านเหรียญ โตต่อเนื่องเดือนที่ 19

อัปเดตล่าสุด 26 ต.ค. 2565
  • Share :
  • 3,088 Reads   

สถานการณ์ส่งออกในเดือนกันยายน 2565 ไทยทำตัวเลขส่งออกได้เหนือระดับ 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 7.8% เมี่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ขยายตัวต่อเนื่องเดือนที่ 19 จากสินค้าอุตสาหกรรมเป็นหลัก อาทิ รถยนต์ เครื่องคอมพิวเตอร์ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์

วันที่ 26 ตุลาคม 2565 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย ตัวเลขการส่งออกเดือนกันยายน 2565 มีมูลค่า 24,919.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (888,371 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 7.8 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 19 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 9.0 การส่งออกในเดือนกันยายนยังขยายตัวได้ดีจากสินค้าอุตสาหกรรมเป็นหลัก สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) ของไทย เดือนกันยายน อยู่ที่ระดับ 55.7 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ กิจกรรมการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและคำสั่งซื้อใหม่ของสินค้าส่งออกของไทยฟื้นตัวได้ดี โดยเฉพาะการส่งออกรถยนต์ เครื่องคอมพิวเตอร์ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวต่อเนี่อง จากอุปทานชิปประมวลผลกลับเข้าสู่ภูมิภาคทำให้มีการเร่งผลิตเพื่อชดเชยการขาดแคลนในช่วงที่ผ่านมา

นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักของโลก และดัชนีค่าระวางเรือระหว่างประเทศ (Shanghai Containerized Freight Index : SCFI) ในเส้นทางเอเชียที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การส่งออกของไทยมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น ทั้งนี้ การส่งออกไทย 9 เดือนแรก ขยายตัวที่ร้อยละ 10.6 และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 8.6

สรุปมูลค่าการค้ารวม

มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนกันยายน 2565 การส่งออก มีมูลค่า 24,919.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 7.8 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 25,772.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 15.6 ดุลการค้า ขาดดุล 853.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ภาพรวม 9 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม - กันยายน) การส่งออก มีมูลค่า 221,366.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 10.6 การนำเข้า มีมูลค่า 236,351.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 20.7 ดุลการค้า ขาดดุล 14,984.9 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร

มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 1.8 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 22 เดือน โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัวดี ได้แก่ ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และไก่แปรรูป ขยายตัวร้อยละ 82.9 ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร จีน เนเธอร์แลนด์ และเกาหลีใต้) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 19.8 ขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และแคนาดา) ข้าว ขยายตัวร้อยละ 2.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือน (ขยายตัวในตลาดอิรัก เบนิน แองโกลา แคเมอรูน และแคนาดา) อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวร้อยละ 13.4 ขยายตัวต่อเนื่อง 37 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย และเวียดนาม) น้ำตาลทราย ขยายตัวร้อยละ 16.3 ขยายตัวต่อเนื่อง 14 เดือน (ขยายตัวในตลาดลาว กัมพูชา สิงคโปร์ จีน และมาเลเซีย) ผลไม้แช่แข็งและผลไม้แห้ง ขยายตัวร้อยละ 31.5 (ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ แคนาดา และภูฏาน) ไอศกรีม ขยายตัวร้อยละ 43.2 ขยายตัวต่อเนื่อง 28 เดือน (ขยายตัวในตลาดมาเลเซีย เกาหลีใต้ เวียดนาม สหรัฐฯ และฟิลิปปินส์)

สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ยางพารา หดตัวร้อยละ 7.7 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย อินเดีย บราซิล และสเปน แต่ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ตุรกี และแคนาดา) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวร้อยละ 5.6 (หดตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย แต่ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย มาเลเซีย สหรัฐฯ ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์) ทั้งนี้ 9 เดือนแรกของปี 2565 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 13.7 (YoY)

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม

มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ9.4 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 19 เดือน โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัวดีอาทิเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ขยายตัวร้อยละ 18.3 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน เนเธอร์แลนด์ สิงคโปร์ และไอร์แลนด์) รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 8.4 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และมาเลเซีย) อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 89.6 ขยายตัวต่อเนื่อง 19 เดือน (ขยายตัวในตลาดสิงคโปร์ สหรัฐฯ ฮ่องกง อินเดีย และเยอรมนี) เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 115.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 11 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เนเธอร์แลนด์ เมียนมา และไอร์แลนด์) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 23.4 ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส อินเดีย และสิงคโปร์) รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 49.2 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และเบลเยียม) เครื่องใช้สำหรับเดินทาง ขยายตัวร้อยละ 77.2 ขยายตัวต่อเนื่อง 19 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ จีน ญี่ปุ่น และสิงคโปร์)

สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัวร้อยละ 10.4 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดจีน อินเดีย ญี่ปุ่น กัมพูชา และมาเลเซีย แต่ขยายตัวในตลาดเวียดนาม สิงคโปร์ เมียนมา ลาว และแอฟริกาใต้) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ หดตัวร้อยละ 14.0 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เวียดนาม จีน และเมียนมาแต่ขยายตัวในตลาดอินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ออสเตรเลีย และไต้หวัน) ทั้งนี้ 9 เดือนแรกของปี 2565 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 9.0 (YoY)

ตลาดส่งออกสำคัญ

การส่งออกยังขยายตัวต่อเนื่องในหลายตลาดสำคัญ แต่เริ่มมีสัญญาณชะลอตัวลง ท่ามกลางความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลก และความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยของประเทศคู่ค้าสำคัญ

ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้ (1) ตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 10.6 โดยขยายตัวต่อเนื่องในตลาดสหรัฐฯ ร้อยละ 26.2 อาเซียน (5) ร้อยละ 9.0 CLMV ร้อยละ 26.3 และสหภาพยุโรป (27) ร้อยละ 18.0 ขณะที่จีนและญี่ปุ่น หดตัวร้อยละ 13.2 และ ร้อยละ 1.7 ตามลำดับ (2) ตลาดรอง ขยายตัวร้อยละ 2.9 ขยายตัวในตลาดทวีปออสเตรเลีย ร้อยละ 15.5 ตะวันออกกลาง ร้อยละ 47.5 และลาตินอเมริกา ร้อยละ 6.3 ขณะที่เอเชียใต้ ทวีปแอฟริกาและรัสเซียและกลุ่ม CIS หดตัวร้อยละ 11.5 ร้อยละ 11.7 และ ร้อยละ 24.5 ตามลำดับ (3) ตลาดอื่น ๆ หดตัวร้อยละ 40.3 อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ หดตัวร้อยละ 4.5

 

แนวโน้มการส่งออกระยะถัดไป

สำหรับแนวโน้มการส่งออกระยะถัดไป กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่า ยังคงมีสัญญาณบวกที่ช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทยในปีนี้ให้สามารถบรรลุตามเป้าหมาย ทั้งปัญหาการขาดแคลนอุปทานที่เริ่มคลี่คลาย และปัจจัยสนับสนุนจากการอ่อนค่าของเงินบาท ทำให้การส่งออกไทยยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงของการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า อันเกิดจากสถานการณ์เงินเฟ้อ และการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH