ส่งออกไทย 2565 เดือนพฤศจิกายน (พ.ย.) กระทรวงพาณิชย์

ส่งออกไทย 2565 เดือน พ.ย. หดตัว 6% ติดลบต่อเนื่องเดือนที่ 2

อัปเดตล่าสุด 28 ธ.ค. 2565
  • Share :
  • 1,940 Reads   

สถานการณ์ส่งออกในเดือนพฤศจิกายน 2565 ไทยทำตัวเลขส่งออกอยู่ที่ระดับ 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 6.0% เมี่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว-ปัญหาเงินเฟ้อสูง-กำลังซื้อของผู้บริโภคลด รวมถึง การใช้มาตรการ Zero-Covid ในจีน

วันที่ 27 ธันวาคม 2565 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย ตัวเลขการส่งออกเดือนพฤศจิกายน 2565 มีมูลค่า 22,308.0 ล้านเหรียญสหรัฐ (846,191 ล้านบาท) หดตัวร้อยละ 6.0 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย หดตัวร้อยละ 2.0 การส่งออกไทยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ภาวะชะลอตัว ผลของอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลก ส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค รวมทั้งการใช้มาตรการโควิดเป็นศูนย์ในตลาดจีน กระทบต่อภาคการผลิตโดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของโลก (PMI) ต่ำกว่าระดับ 50 ต่อเนื่อง 3 เดือน เช่นเดียวกับหลายประเทศในเอเชียที่อัตราการส่งออกชะลอลง

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยหนุนจากค่าระวางเรือที่ปรับลดลงต่อเนื่องในเส้นทางสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งช่วยลดต้นทุนของผู้ส่งออก รวมทั้งการออกมาตรการกระตุ้นการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ในช่วงโค้งสุดท้ายของปี ทั้งนี้ การส่งออกไทย 11 เดือนแรก ยังขยายตัวได้ที่ร้อยละ 7.6 และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 6.5

สรุปมูลค่าการค้ารวม

มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนพฤศจิกายน 2565 การส่งออก มีมูลค่า 22,308.0 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 6.0 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 23,650.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 5.6 ดุลการค้า ขาดดุล 1,342.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ภาพรวม 11 เดือนแรกของปี2565 (มกราคม - พฤศจิกายน) การส่งออก มีมูลค่า 265,349.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 7.6 การนำเข้า มีมูลค่า 280,438.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 16.3 ดุลการค้า ขาดดุล 15,088.9 ล้านเหรียญสหรัฐ

การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร

มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 2.0 (YoY) หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน แต่ยังมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัวดี ได้แก่ ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และไก่แปรรูป ขยายตัวร้อยละ 20.9 ขยายตัวต่อเนื่อง 7 เดือน (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร จีน เนเธอร์แลนด์ และมาเลเซีย) ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัวร้อยละ 7.5 กลับมาขยายตัวในรอบ 5 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้) ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ ขยายตัวร้อยละ 13.0 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน เมียนมา อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น) น้ำตาลทราย ขยายตัวร้อยละ 43.4 (ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย ลาว กัมพูชา จีน และฟิลิปปินส์) เครื่องดื่ม ขยายตัวร้อยละ 7.1 ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน (ขยายตัวในตลาดเวียดนาม เมียนมา สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์) ไอศกรีม ขยายตัวร้อยละ 7.4 ขยายตัวต่อเนื่อง 30 เดือน (ขยายตัวในตลาดกัมพูชา ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย อินเดีย และอินโดนีเซีย) 

สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ข้าว หดตัวร้อยละ 4.7 หดตัวในรอบ 10 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ แอฟริกาใต้ แองโกลา เยเมน และโมซัมบิก แต่ขยายตัวในตลาดจีน อิรัก ฮ่องกง ญี่ปุ่น และเซเนกัล) ยางพารา หดตัวร้อยละ 34.2 หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย สหรัฐฯ อินเดีย และบราซิล แต่ขยายตัวในตลาดเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น) อาหารสัตว์เลี้ยง หดตัวร้อยละ 5.8 หดตัวในรอบ 39 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น มาเลเซีย อินเดีย และอิตาลี แต่ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย เยอรมนี ไต้หวัน เวียดนาม และกัมพูชา) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป หดตัวร้อยละ 7.8 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น กัมพูชา แคนาดา และสิงคโปร์แต่ขยายตัวในตลาดจีน เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย รัสเซีย และมาเลเซีย) สิ่งปรุงรสอาหาร หดตัวร้อยละ 15.0 หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (หดตัวในตลาดฟิลิปปินส์ สหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และสหราชอาณาจักร แต่ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น ออสเตรเลีย กัมพูชา มาเลเซีย และสิงคโปร์ ทั้งนี้ 11 เดือนแรกของปี 2565 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 10.8 (YoY)

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม

มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 5.1 (YoY) หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน แต่ยังมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัวดี อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 5.5 ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (ขยายตัวในตลาดเวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และซาอุดีอาระเบีย) อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 8.0 ขยายตัวต่อเนื่อง 21 เดือน (ขยายตัวในตลาดฮ่องกง สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย อิตาลี และเบลเยียม) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 5.5 ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย อินเดีย เวียดนาม และไต้หวัน) เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 91.0 ขยายตัวต่อเนื่อง 13 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมียนมา และสาธารณรัฐเช็ก) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด ขยายตัวร้อยละ 73.1 ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เวียดนาม อินเดีย จีน และสิงคโปร์) รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 17.9 ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (ขยายตัวในตลาดเบลเยียม ญี่ปุ่น สหรัฐฯ บราซิล และออสเตรเลีย)

สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัวร้อยละ 27.5 หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (หดตัวในตลาดจีน เวียดนาม อินเดีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย แต่ขยายตัวในตลาดลาว เมียนมา เกาหลีใต้ เนเธอร์แลนด์ และอียิปต์) เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์หดตัวร้อยละ 20.9 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์แต่ขยายตัวในตลาดจีน เม็กซิโก ไอร์แลนด์ ไต้หวัน และอินเดีย) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ หดตัวร้อยละ 16.0 หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย เวียดนาม และเกาหลีใต้แต่ขยายตัวในตลาดอินเดีย มาเลเซีย จีน ลาว และสิงคโปร์) ทั้งนี้ 11 เดือนแรก ของปี 2565 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 6.5 (YoY)

ตลาดส่งออกสำคัญ

การส่งออกไปยังตลาดสำคัญส่วนใหญ่ยังคงหดตัว ตามอุปสงค์จากต่างประเทศที่ลดลงต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับการชะลอตัวของกิจกรรมทางการผลิตของประเทศคู่ค้าสำคัญที่อยู่ในทิศทางชะลอตัว

ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้ (1) ตลาดหลัก หดตัวร้อยละ 5.5 โดยหดตัวในตลาดจีนร้อยละ 9.9 ญี่ปุ่น ร้อยละ 4.6 อาเซียน (5) ร้อยละ 15.5 CLMVร้อยละ 0.3 ขณะที่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (27) ขยายตัวร้อยละ 1.2 และร้อยละ 0.4 ตามลำดับ (2) ตลาดรอง หดตัวร้อยละ 5.1 โดยหดตัวในตลาดเอเชียใต้ร้อยละ 16.0 ทวีปออสเตรเลีย ร้อยละ 3.4 ทวีปแอฟริกา ร้อยละ 20.5 รัสเซียและกลุ่ม CIS ร้อยละ 53.1 ขณะที่ตะวันออกกลาง และลาตินอเมริกา ขยายตัวร้อยละ 13.8 และร้อยละ 7.1 ตามลำดับ (3) ตลาดอื่น ๆ หดตัวร้อยละ 53.8 อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ หดตัวร้อยละ 52.3

 

แนวโน้มการส่งออกระยะถัดไป

สำหรับแนวโน้มการส่งออกระยะถัดไป กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่า ภาวะเศรษฐกิจโลก และการบริโภคที่ชะลอตัว จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกในช่วงโค้งสุดท้ายของปีประกอบกับภาวะความตึงเครียดของความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะมาตรการกีดกันจีนไม่ให้เข้าถึงเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง อาจส่งผลกระทบด้านอุปทานการผลิตสินค้าในบางอุตสาหกรรมที่ไทยต้องพึ่งพาจีน

อย่างไรก็ดี จากการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพของธนาคารกลางในหลายประเทศ ส่งผลให้ภาวะเงินเฟ้อและราคาสินค้าเริ่มชะลอตัวลง อาจเป็นปัจจัยหนุนที่ช่วยให้กำลังซื้อของประเทศคู่ค้าปรับตัวดีขึ้นในอนาคต ประกอบกับรัฐบาลได้ส่งเสริมให้มีการส่งออกผ่านช่องทางรถไฟจีน-ลาว มากขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันการค้าให้เติบโตไปพร้อมกับการเปิดประเทศของจีนตั้งแต่ช่วงต้นปี 2566 เป็นต้นไป

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH