ดัชนีความเชื่อมั่นอุตฯ มิ.ย. 66 ขยับขึ้นครั้งแรกรอบ 3 เดือน
ดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรม เดือนมิถุนายน 2566 อยู่ที่ 94.1 เพิ่มขึ้นจากระดับ 92.5 ในเดือนพฤษภาคม ท่องเที่ยวหนุน ค่าดัชนีฯ ขยับขึ้นรอบ 3 เดือน แนะเพิ่มเที่ยวบิน - เตรียมรับมือเอลนีโญ
วันที่ 24 กรกฎาคม 2566 นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมเปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2566 อยู่ที่ระดับ 94.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 92.5 ในเดือนพฤษภาคม ปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของค่าดัชนีฯ พบว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกองค์ประกอบ ทั้งดัชนีฯ คำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ ทั้งการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว
ขณะที่ภาคก่อสร้างขยายตัวโดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์และโครงการภาครัฐ นอกจากนี้การอ่อนค่าของเงินบาท และอัตราค่าระวางเรือที่ลดลงช่วยสนับสนุนภาคการส่งออก
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อปัญหาหนี้ครัวเรือนที่กดดันกำลังซื้อในประเทศ ขณะที่ภาคการส่งออกยังคงชะลอตัว เนื่องจากอุปสงค์ในตลาดโลกที่อ่อนแอลงโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อาเซียนและยุโรป ตลอดจนปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกโดยเฉพาะสงครามรัสเซีย – ยูเครน ยังกดดันราคาพลังงานโลกและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ นอกจากนี้ แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ยังเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจการเงินโลก
สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 102.1 ปรับตัวลดลง จาก 104.3 ในเดือนพฤษภาคม เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองและความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาล ตลอดจนการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกรวมถึงความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจจีนส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก รวมถึงวิกฤตภัยแล้งที่เกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลกระทบภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม
ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ
1. ขอให้ภาครัฐพิจารณาปรับลดค่าไฟฟ้างวด 3/2566 (เดือนกันยายน - ธันวาคม 2566) ลงมาอยู่ที่ 4.25 บาท/หน่วย เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับผู้ประกอบการและบรรเทาผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว
2. เสนอให้ภาครัฐปรับเพิ่มเที่ยวบินและการอำนวยความสะดวกในการเดินทางของนักท่องเที่ยว โดยให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัย ตลอดจนส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถโปรโมทสินค้าไทยไปยังกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อช่วยสนับสนุนสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
3. เสนอให้ภาครัฐเตรียมมาตรการรับมือสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์เอลนีโญรวมถึงมีแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเพียงพอต่อภาคเกษตรและอุตสาหกรรม
4. ขอให้ภาครัฐดูแลและบรรเทาผลกระทบจากราคาสินค้าและค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูง
ทั้งนี้ ส.อ.ท. ได้ทำการรวบรวมข้อมูลผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม และข้อมูลตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมจากหน่วยงานต่างๆ ย้อนหลัง 3 ปี จัดทำเป็น Dashboard เผยแพร่ในเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม Industry Data Space (iDS) ของ ส.อ.ท. เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไปให้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ โดยสามารถเข้าไปใช้บริการข้อมูลดังกล่าวได้ที่ www.fti.or.th/ids
อ่านต่อ:
#ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม #ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม #อุตสาหกรรมไทย #COVID19 #SME #สถานประกอบการ #สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- สรุปยอดขายรถยนต์ในไทย ปี 2565
- ครม. อนุมัติงบอุดหนุนรถ BEV 18,000 - 150,000 บาท/คัน
- ภาพรวมอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ของไทย
- 17 อุตสาหกรรมแนวโน้มเติบโตในปี 2566
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH